posttoday

เคลียร์ชัด สิทธิบัตรทองผู้ป่วยมะเร็งเลือกโรงพยาบาลรักษาได้

19 มีนาคม 2566

สปสช. โต้โซเชียลเคลียร์ชัดผู้ป่วยมะเร็ง "สิทธิบัตรทอง" เลือกรักษาโรงพยาบาลไหนก็ได้ที่มีความพร้อม ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลรับส่งต่อเพียงอย่างเดียว

จากกรณีที่มีการแชร์ข้อความจากกลุ่มเฟสบุ๊คของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งโรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่งซึ่งสร้างความสับสนให้กับประชาชนโดยระบุว่า ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองและประกันสังคม ข้อไม่ดีคือ ไม่มีอิสรภาพในการเลือกว่าจะไปรักษาที่ไหนได้บ้าง ทุกอย่างจะถูกกำหนดโดยโรงพยาบาลต้นสังกัดตามระบบ รวมทั้งยังแนะนำให้ทำประกันสุขภาพตามวงเงินที่ตัวเองสะดวกจะจ่ายเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย ค่ายาบางอย่างที่เบิกไม่ได้นั้น

ล่าสุด ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบไม่พบว่า ข้อความดังกล่าวถูกโพสต์เมื่อใด เป็นไปได้ว่าอาจเป็นข้อความที่โพสต์ไว้นานแล้วซึ่งในอดีตมีการวางระบบไว้เช่นนั้นจริง แต่ตั้งแต่ ม.ค. 2564 หรือกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

ระบบบัตรทองได้มีการปรับรูปแบบการรักษาโรคมะเร็งใหม่ตามนโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม หรือ Cancer Anywhere ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเปิดให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้ารับบริการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งแห่งใดก็ได้ในระบบ สปสช. ที่มีความพร้อมในการให้บริการ 

ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง การรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีรักษา การรักษาด้วยภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคมะเร็งและจากการรักษา รวมถึงการตรวจติดตามผลการรักษา โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นทางที่ผู้ป่วยได้ลงทะเบียนไว้

ทั้งนี้ การปรับระบบดังกล่าว ก็เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วขึ้น รักษาใกล้บ้านหรือหน่วยบริการที่ผู้ป่วยสะดวก ไม่ต้องรอคิวรักษานานจนอาการลุกลามหนัก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไปตรวจที่โรงพยาบาล A พบว่าเป็นมะเร็งแต่โรงพยาบาลนั้นไม่มีอุปกรณ์จำเป็นบางอย่าง อาทิ เครื่องฉายรังสีรักษาซึ่งหากจะส่งต่อตามระบบจะต้องส่งไปฉายรังสีที่โรงพยาบาล B แต่เนื่องจากโรงพยาบาล B มีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนมาก หากไปรับบริการอาจต้องรอคิวนาน

แพทย์และผู้ป่วยสามารถตัดสินใจร่วมกันว่าจะเลือกรับบริการรักษาต่อที่ใด เช่น อาจไปรับบริการที่โรงพยาบาล C ซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลรับส่งต่อของผู้ป่วย แต่มีผู้ไปรับบริการน้อยกว่า ทำให้รอคิวสั้นกว่า เป็นต้น

เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย ที่โพสต์ดังกล่าวระบุว่า ค่ายาบางอย่างเบิกไม่ได้ ขอชี้แจงว่า สปสช. มีคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญที่คัดกรองว่าควรใช้ยาตัวไหนในการรักษาเพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับโรคมะเร็ง และมีการจัดทำโปรโตคอลการรักษาโรคมะเร็งซึ่งดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยาที่จำเป็นแต่มีราคาแพงอยู่ในโปรโตคอลการรักษาอยู่แล้ว เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม

กล่าวโดยสรุป คือ ระบบบัตรทองครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมดทั้งค่าตรวจวินิจฉัย ค่ารักษาและค่ายา อย่างไรก็ดี หากผู้ป่วยประสงค์ที่จะทำประกันสุขภาพเสริมด้วยก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้เช่นกัน

"ข้อความที่โพสต์ในกลุ่มเฟสบุ๊คนี้เป็นข้อมูลเก่ามากและไม่ตรงกับระบบบริการในปัจจุบันซึ่งผู้ป่วยบัตรทองสามารถเลือกโรงพยาบาลไปรักษาได้ และค่าใช้จ่ายก็ครอบคลุมทั้งหมดแต่เราพบว่ามีการแชร์ข้อความนี้ในโซเชียลมีเดีย ดังนั้น จึงอยากชี้แจงเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ ว่าผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองจะต้องไปรับการรักษาในโรงพยาบาลรับส่งต่อของตัวเองเพียงอย่างเดียว"  ทพ.อรรถพร กล่าวย้ำชัด