posttoday

สภาใกล้หมดวาระ'ชวน'กระตุกส.ส.มาทำหน้าที่ให้ครบองค์ประชุม

19 มกราคม 2566

ชวน หลีกภัย เผยสภาเหลือเวลา5สัปดาห์ ขอส.ส.ทุกคนมาทำหน้าที่ครบองค์ประชุม ชี้ยุบสภาไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาสภาล่ม แค่ตัดความรำคาญ สนง.เลขาสภาฯเปิดรายชื่อส.ส.ไม่ร่วมประชุมถกร่างกม.กัญชา เพื่อไทย-พปชร.-ปชป.หายมากสุด

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวหลังการประชุมวิป2ฝ่ายและตัวแทนรัฐบาล ว่า สภาเหลือเวลาอีก5สัปดาห์จึงขอความร่วมมือส.ส.เรื่ององค์ประชุม แม้จะมีสมาชิกไม่เห็นด้วยกับร่างกม.โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชง
ก็สามารถแสดงออกความไม่เห็นด้วยโดยการลงมติไม่รับ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยโดยวิธีการทำให้องค์ประชุมไม่ครบเป็นการหนีปัญหา และเป็นการหนีตลอดไม่จบสิ้น กฎหมายก็ไม่ได้ผ่านการพิจารณาจึงขอความร่วมมือทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลว่าเป็นภาระหน้าที่แสดงความรับผิดชอบ 

ทั้งนี้ ได้ขอให้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลแจ้งต่อรัฐบาลในฐานะเสียงข้างมาก ช่วยบอกพรรคร่วมรัฐบาลรับผิดชอบเรื่องขององค์ประชุมให้มาก ส่วนฝ่ายค้านก็ขอความร่วมมือ แม้จะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายแต่อยากให้ใช้วิธีการไม่รับ มากกว่าการไม่กดบัตรแสดงตนทำให้ไม่ครบองค์ประชุม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็เหมือนหนีปัญหา 

ส่วนเรื่องการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา152 นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรไทยคนที่ 1 จะนัดประชุมหารือวันที่25 ม.ค.นี้ เพื่อกำหนดวันอภิปราย และขออย่าไปกังวลว่ารัฐบาลจะหนีไม่ให้อภิปรายด้วยการยุบสภา
เพราะถ้ารัฐบาลทำเช่นนั้นรัฐบาลก็พังและเสียหาย เท่ากับหนีการอภิปรายความเชื่อถือก็หมดข้อวิตกนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น

สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่24-25 ม.ค.66 วันแรกจะเป็นการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ส่วนอีกวัน จะประชุมพิเศษ โดยจะนำญัตติของรัฐบาลเรื่องพิธีศาลฯ มาพิจารณาก่อน แล้วต่อด้วยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา272 

ส่วนกรณีที่มีคนเสนอให้ ประธานสภาควรเสนอให้นายกรัฐมนตรียุบสภา เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สภาล่มบ่อยครั้ง นายชวน กล่าวว่า เวลา5สัปดาห์ที่เหลืออยู่มีค่าเพราะมีกฎหมายสำคัญที่ค้างอยู่ เวลาอาจจะดูสั้น แต่สามารถพิจารณาเรื่องต่างๆได้อีกมาก การเสนอยุบสภาไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่เป็นการตัดปัญหาที่เห็นองค์ประชุมไม่ครบแล้วรำคาญ จึงของร้องทุกคนอย่าใช้วิธีหนีปัญหาและสู้กับปัญหา เพราะเห็นร่วมกันในการเลื่อนกฎหมายเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณา ซึ่งเชื่อว่าสามารถทำได้ถ้าทุกคนร่วมมือกันอยู่ประชุมกันจนดึก แต่ถ้าองค์ประชุมไม่ครบแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะพิจารณากี่สัปดาห์ก็ยากที่จะให้ผ่าน หวังว่าคำขอร้องวันนี้จะทำให้องค์ประชุมดีขึ้น 

อย่างไรก็ตามกฎหมายหลายฉบับถ้าผ่านสภาไปแล้วอาจจะไม่ทันวุฒิสภา ช่วงปิดประชุมสามารถเปิดสมัยวิสามัญได้ เพื่อให้วุฒิสภาได้พิจารณากฎหมาย แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ถึงกรณีการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 18 มกราคม ล่ม หลังจากเปิดประชุมเพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ.... วาระสอง ไปเพียง 22 นาทีเท่านั้นและไม่สามารถผ่านการพิจารณามาตราใดๆได้ พบว่ามีส.ส.ร่วมลงมติไม่ครบองค์ประชุม คือ 203 คนเท่านั้น

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่ผลการลงมติ ในวาระดังกล่าวว่า มีส.ส.หายจากการร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก โดยแยกเป็นรายพรรคได้แก่ 

พรรคเพื่อไทย 121 คน  ไม่อยู่ร่วมโหวต 86 คน หรือคิดเป็น 71.07% ซึ่งจำนวนดังกล่าว พบว่า มีส.ส.ระดับแกนนำร่วมด้วย อาทิ  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย,นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรค, นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรค, นายสุทิน คลังแสง  ส.ส.มหาสารคาม และประธานวิปฝ่ายค้าน เป็นต้น

พรรคพลังประชารัฐ 79 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 35 คน คิดเป็น 44.3%  โดยพบว่า ส.ส.ระดับแกนนำที่ไม่ร่วมลงมติ อาทิ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ ฐานะประธานวิปรัฐบาล, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง, น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม

พรรคภูมิใจไทย 62 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 9 คน คิดเป็น 14.51% โดยพบว่ามีส.ส.ระดับแกนนำไม่อยู่รวม อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม,

พรรคประชาธิปัตย์ 50 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 32 คน คิดเป็น 64%  โดยพบว่าส.ส.ระดับแกนนำที่ไม่ร่วมลงมติ อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์, นายเดชอิศม์ ขาวทอง ,นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข,  นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี 

พรรคก้าวไกล 45 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 22 คน คิดเป็น 48.88 % โดยพบส.ส.ระดับแกนนำ ที่ไม่รวมลงมติ อาทิ  นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค, นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์, นางอมรัตน์ ไชคปมิตต์กุล

พรรคชาติไทยพัฒนา 12 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 6 คน คิดเป็น 50 % โดยส.ส.ที่ไม่ร่วมลงมติ ล้วนเป็นระดับแกนนำพรรค อาทิ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฐานะหัวหน้าพรรค, นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ ฐานะเลขาธิการพรรค, นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการพรรค

พรรคเศรษฐกิจไทย 11 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 7 คน คิดเป็น 63.63% พบว่าคนที่ขาด อาทิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรค, นายยุทธนา โพธสุธน, นายไผ่ ลิกค์ 

พรรคเสรีรวมไทย 10 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 5 คน คิดเป็น 50% อาทิ  พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค,  นพ.เรวัต วิศรุตเวช, น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา, พล.ต.ท.วิศณุ ม่วงแพรสี,
 
ขณะที่พรรคการเมืองขนาดเล็ก พบว่า ไม่เข้าร่วมประชุมและไม่ร่วมลงมติเป็นส่วนใหญ่เช่นกัน ขณะที่ พรรคชาติพัฒนากล้า ไม่ปรากฎส.ส.ร่วมลงมติแม้แต่คนเดียว.