posttoday

'ชลน่าน' ผู้นำฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายรัฐบาล แบบไม่ลงมติ (ฉบับเต็ม) 

28 ธันวาคม 2565

'นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว' พร้อมหัวหน้าและแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านขอยื่นยื่นญัตติอภิปรายรัฐบาล เพื่อเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี แบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 เวลา 12.30 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยบรรดาหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ มีเนื้อหาดังนี้ 

โดยที่การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตลอดระยะเวลากว่าสามปีที่ผ่านมา มิได้ปฏิบัติหรือดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน ๑๒ ประการ ที่รัฐบาลประกาศว่าจะเร่งดำเนินการก็มิได้มีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

ดังเช่น การแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน พบว่าประชาชนระดับฐานรากยังมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในสังคมสูงมากขึ้น เกิดภาวะรวยกระจุกจนกระจาย คนไร้ที่อยู่อาศัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ปัญหาประมงพื้นบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่ประมงระดับชาติได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการตราพระราชกำหนดของรัฐบาล กลุ่มมารดาตั้งครรภ์เด็กแรกเกิดยังไม่ได้รับสวัสดิการ การยกระดับราคาสินค้าเกษตรก็ไม่บรรลุผล ราคาสินค้าเกษตรก็ยังตกต่ำมากขึ้นตลอดมา

ปัญหาการทุจริตและยาเสพติด  ก็เพิ่มมากขึ้น การดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ไม่มีการปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ โดยขาดความจริงใจ ปล่อยให้พรรคการเมืองดำเนินการกันไปและแก้ปัญหาอุปสรรคกันเอาเอง เป็นต้น 

การบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรีมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกโดยรวมของประชาชนเป็นที่ตั้ง มีการใช้จ่ายงบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล ส่งผลให้หนี้สินต่อครัวเรือนและต่อหัวประชากรสูงขึ้นเป็นลำดับ แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้

ทำให้การบริหารงานด้านเศรษฐกิจล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ขณะเดียวกันก็มุ่งใช้เงินเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง ทั้งเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้กับรัฐบาล และเพื่อความมั่นคงและความอยู่รอดของตนเองทำให้การปฏิรูปการเมืองล้มเหลวจนทำให้ระบบการเมืองกลายเป็นธนกิจการเมือง (Money Politics) ที่มีการใช้เงินเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งอำนาจทางการเมือง

โดยมิได้คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม และภาระด้านงบประมาณของประเทศการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางทั้งจากโครงการขนาดใหญ่จนถึงระดับท้องถิ่นจนดัชนีชี้วัดด้านทุจริตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและพวกพ้องตนเองให้เกิดการผูกขาดและการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการของรัฐและทรัพยากรธรรมชาติทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยต้องปิดตัวเองลงจำนวนมาก ขณะที่การแก้ปัญหาที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลับไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม

ปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อความมั่นคงและสุขภาพอนามัยรวมถึงชีวิตความปลอดภัยของประชาชนก็ไม่ได้รับการแก้ไข กลับปล่อยให้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด อย่างแพร่หลายกระจายไปตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งพักยาเสพติดของผู้ค้าก่อนส่งไปยังต่างประเทศ

ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องบ่อนการพนันก็เกิดขึ้นทั่วไปภายใต้การรู้เห็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่มีการป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจัง ปล่อยปละละเลยให้องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งหากินและบ่มเพาะอาชญากรรมต่อเนื่องและฟอกเงินจนกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ล้มเหลวในการป้องกันและแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจนสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ขณะที่การแก้ปัญหาความมั่นคงโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก แต่กลับไม่สามารถทำให้ปัญหาเบาบางลงได้

ปัญหาสำคัญที่กระทบต่อพี่น้องเกษตรกรโดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรก็มีราคาตกต่ำและปล่อยให้กลุ่มทุนต่างชาติเอารัดเอาเปรียบและสร้างอำนาจต่อรองเหนือเกษตรกร ขณะที่ค่าครองชีพและราคาสินค้าก็สูงขึ้นจนยากที่จะควบคุม สร้างความทุกข์ยากให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เป็นอย่างยิ่งปัญหา ด้านสังคมและอาชญากรรมมีแนวโน้มที่รุนแรง และมีสถิติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังเช่นการเกิดเหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู ทั้งที่ ก่อนหน้าก็เกิดเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมาแล้ว รัฐบาลกลับมิได้ดำเนินมาตรการใดๆ เพื่อป้องกันเหตุในลักษณะดังกล่าว

การป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยก็เป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ ปล่อยให้เกิดน้ำท่วมขังในปริมาณสูงในหลายพื้นที่ ทั้งที่รัฐมีเครื่องมือที่สามารถคำนวณปริมาณน้ำฝนได้ล่วงหน้าจนกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนอย่างมาก นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังไม่ส่งเสริมให้มีการปฏิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเลย
        
ปัญหาต่างๆ ดังที่ได้กราบเรียนข้างต้น ทำให้เห็นได้ว่าระยะเวลาสามปีกว่าของการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีเป็นเวลาที่ทำให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสในการที่จะได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าและแทนที่ประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

แต่กลับทำให้ประเทศมีการพัฒนาที่ถดถอยและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนลำบากยากแค้นยิ่งขึ้น ปัญหาของประเทศด้านต่างๆ ก็มีความทับถมและซับซ้อนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจากการขาดยุทธศาสตร์และแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดินที่ถูกต้องของคณะรัฐมนตรี ขาดความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่                       

เมื่อคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการ ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา ๑๖๔ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยจะได้ร่วมกันซักถามข้อเท็จจริงและปัญหาต่างๆ เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้ระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินที่เหลืออยู่เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนต่อไป
        
ข้าพเจ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีรายชื่อท้ายญัตตินี้ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๕๒ จึงขอได้โปรดบรรจุญัตตินี้เพื่อดำเนินการโดยเร่งด่วนต่อไป

คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม