posttoday

'วัรชพล'แจงชี้มูลข้าวจีทูจีล็อต2-ไตรรงค์รอดมันสำปะหลังยึดตามหลักฐาน

23 ธันวาคม 2565

'วัรชพล'ให้รอฟังมติป.ป.ช.คดีจีทูจีล็อตสอง ยันกรรมการพิจารณาจากหลักฐาน ส่วน ไตรรงค์ รอดคดีมันสำปะหลัง เพราะเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯเป็นเรื่องที่สังคมตั้งข้อสงสัยได้แต่ป.ป.ช.ยึดหลักฐานและความเป็นธรรม

กรณีมีรายงานข่าวว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติตีตกข้อกล่าวหาบรรดานักการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจีล็อตสอง เช่น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายทักษิณ ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย โดยมีมติ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวก เช่น  กลุ่มเอกชนฐานสนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา86 

ขณะที่อดีตข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ นางปราณี ศิริพันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศถูกชี้มูลความผิดแค่ทางวินัยร้ายแรงแต่ไม่โดนคดีอาญา

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจีล็อตสอง กรรมการ ป.ป.ช.ใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัย จากพยานหลักฐาน การไต่สวน คงต้องรอการรับรองมติ คงต้องรอมติที่ประชุมอย่างเป็นทางการ และการแถลงข่าว เพราะตอนนี้ยังไม่เข้าสู่กระบวนการเปิดเผยอย่างสาธารณะ

***ยึดมั่นความเป็นธรรม***

ส่วนการชี้มูลคดีการระบายมันสำปะหลังซึ่งป.ป.ช.มีมติ 5:2 ไม่ชี้มูลความผิดนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี และนางพรทิวา นาคาศัย ที่ถูกกล่าวหาในสำนวนคดี พลตำรวจเอกวัชรพล ชี้แจงว่า ต้องรอการรับรองมติการชี้มูล ขณะเดียวกันในการวินิจฉัยกรรมการจะต้องพิจารณาช่างน้ำหนักจากพยานหลักฐาน ก่อนที่จะใช้ดุลพินิจในการชี้มูล 

ส่วนข้อสังเกตที่ว่านายไตรรงค์ รอดจากการถูกชี้มูลเป็นเพราะเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า อาจเป็นเรื่องที่สังคมตั้งข้อสงสัย แต่สิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยึดมั่น คือการให้ความเป็นธรรม ซึ่งในการพิจารณาจะต้องยึดพยานหลักฐาน ในการพิจารณาสำนวน มีกฎหมายกำหนดเรื่ององค์ประชุม ในคดีสำคัญในฐานะประธานพยายามที่จะให้มีองค์ประชุมครบ ในปัจจุบันนี้มีกรรมการเท่าที่มีอยู่ 7 คน และในการทำงานก็พร้อมที่จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ หรือหากเกิดข้อซักถามหรือประเด็นจากสังคมกรรมการ ป.ป.ช.ก็ต้องชี้แจง ในสิ่งที่ใช้ดุลพินิจไป

"การรวบรวมพยานหลักฐาน ระยะเวลาในการรวบรวม หรือการจะรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม ปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญ จริงๆเราอยากให้สมบูรณ์ครบถ้วนเพื่อวินิจฉัย แต่บางขณะด้วยข้อจำกัดของพยานหลักฐานที่มีอยู่ อาจทำให้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งกรรมการแต่ละคนจะใช้ดุลพินิจการช่างน้ำหนัก" พลตำรวจเอกวัชรพล กล่าว

***ข้อมูล การชี้มูลคดีหลุดไม่มีกฎหมายรับรอง***

นอกจากนี้ หลักปฏิบัติการทำสำนวนคดีของ ป.ป.ช แม้ว่ากรรมการจะมีมติชี้มูลไปแล้ว ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้เพราะตามขั้นตอนจะต้องมีการรับรองการประชุมที่มีมติก่อนไม่เข้าใจว่าข้อมูลการชี้มูลคดีหลุดออกไปได้อย่างไร เพราะว่ายังไม่มีการรับรองโดยกฎหมาย ซึ่งสิ่งที่ปรากฏตามข่าวอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงในภายหลัง ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องรอรับรองการประชุม  รับรองมติจากนั้น เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกจะแถลงชี้แจง

หลังจากที่ ป.ป.ช. ชี้มูลไปแล้วมีผู้ถูกกล่าวหาบางคนถูกชี้มูลในคดีอาญา จะต้องรวบรวมพยานเอกสารหลักฐานทั้งหมดในสำนวนเพื่อส่งให้อัยการสูงสุดตามกรอบระยะเวลาของกฎหมายพิจารณาส่งฟ้องต่อศาล ทั้งนี้ก่อนที่สำนวนจะส่งถึงศาลมีข้อกฎหมายกำหนดไว้เรื่องของการเปิดเผยข้อมูลในสำนวนเนื่องจากอาจจะกระทบต่อผู้กล่าวหา หรือกระทบกับพยานบุคคล ที่ป.ป.ช. จะต้องรักษาสิทธิ