posttoday

"วิลาส"อัดโครงการสร้างรัฐสภาใหม่สุดเละ เผยมี10เรื่องมั่นใจส่อทุจริต

03 พฤษภาคม 2563

"วิลาส" ชี้ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ เละเทะ จนอยากขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งมหัศจรรย์โลก เผยสัญญาก่อสร้างถูกขยายมาแล้ว4ครั้งรวม 6,864 วัน เชื่อมีการขยายครั้งที่ 5 อีก

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 63 นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แถลงว่า จำเป็นต้องกล่าวหาสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา โดยเฉพาะเลขาธิการรัฐสภา และผู้เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีสิทธิ์กล่าวหาผู้รับจ้าง เพราะเป็นบริษัทเอกชน ซึ่งทำธุรกิจไม่ใช่องค์กรสาธารณะกุศล ทำให้ไปร้อง ปปช. หรือที่ไหนก็ไม่ได้

ดังนั้นทำให้คนที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือผู้เกี่ยวข้องกับสำนักเลขาธิการรัฐสภา ที่คุมการก่อสร้าง อนุมัติเรื่องต่างๆ หรือการไปอนุญาตขยายสัญญา

“โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภานี้เป็นการก่อสร้างที่เละเทะ เลวร้าย แล้วก็เลอะเทอะ ทุกอย่างที่จะเอามาพูดได้ หากมีการจดทะเบียนสิ่งมหัศจรรย์ ผมจะไปขึ้นทะเบียน เพราะสัญญาการก่อสร้างนี้จะไม่เคยพบเคยเห็น สัญญาการก่อสร้างหลักนี้ 900 วัน ตั้งแต่ปี 56 สิ้นสุดปลายปี 58 ขณะนี้ขยายสัญญามาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง 6,864 วัน มากกว่าสัญญาหลักเท่าตัว” นายวิลาศกล่าว

ในการแถลงข่าว นายวิลาศได้ลำดับระยะเวลาการขอขยายสัญญาก่อสร้างรัฐสภาไปแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง ประกอบด้วย

การขยายสัญญาครั้งที่ 1 จำนวน 387 วัน ทั้งๆ ที่คณะกรรมการสัญญาจ้างก่อนหน้านั้นอนุมัติให้ขยายสัญญา 287 วัน และบริษัทควบคุมก่อสร้างก็เสนอให้ขยายสัญญาเป็น 287 วัน แต่คณะกรรมการตรวจการจ้างชุดใหม่ ซึ่งมีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบันเป็นประธานตรวจการจ้าง ซึ่งได้มีการประชุมแล้ว 2 ครั้ง และมีการเปลี่ยนคณะกรรมการ และให้มีการขยายสัญญาเป็น 387 วัน โดยให้เหตุผลถึงอุปสรรคเรื่องสิ่งก่อสร้างและดิน เรื่องนี้ได้ร้อง ปปช. ไปแล้วเพื่อให้ตรวจสอบสำนักเลขาธิการฯ

การขยายสัญญาครั้งที่ 2 จำนวน 421 วัน เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 (16 ธ.ค. 2559 - 9 ก.พ. 2561) ก่อนที่จะขยายสัญญาครั้งนี้ได้มีการส่งมอบพื้นที่โดยรอบทั้งหมด ซึ่งการขยายสัญญาครั้งที่ 2 นี้ ก็ยังถือว่าพอรับได้ หากมีการขอขยายสัญญาอีกควรจะต้องเริ่มดำเนินเรียกค่าปรับเรื่องการก่อสร้างล่าช้าได้

แต่หลังจากนั้น สภากลับอนุญาตให้มีการขยายสัญญาครั้งที่ 3 จำนวน 674 วัน (10 ก.พ. 2561 - 15 ธ.ค. 2562) เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2561 ซึ่งให้เหตุผลถึงปัญหาการส่งมอบพื้นที่จาก รร.โยธินบูรณะ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 38 ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า และบ้านพักข้าราชการทหาร ทั้งๆ ที่ได้มีการส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2559 ก่อนที่จะมีการเซ็นอนุญาตขยายสัญญาครั้งที่ 2 อีกด้วย ดังนั้นเรื่องนี้ผู้เซ็นอนุมัติจึงจะต้องรับผิดในเรื่องนี้โดยไม่มีข้อกล่าวอ้างใดๆ

นอกจากนั้นยังมีการขยายสัญญาการก่อสร้างอีกเป็นครั้งที่ 4 จำนวน 382 วัน (16 ธ.ค. 2562 - 31 ธันวาคม 2563) ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาอีกด้วย ทำให้นายวิลาศ เกิดความไม่มั่นใจว่าการก่อสร้างรัฐสภาอาจจะต้องมีการต่อสัญญาต่อไปอีกเป็นครั้งที่ 5

“เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีวิศวกรอาวุโสซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ทำหนังสือถึงประธานชวน หลีกภัย บอกชัดเจนว่าที่ทำมา 4 เดือนนี้ วันนี้ช้าไปแล้ว 30 กว่าวัน ถ้ามาตรฐานแบบนี้พอถึงสิ้นสุดการขยายสัญญาครั้งที่ 4 วันที่ 31 ธ.ค. 63 ก็จะขยายไปอีกเกือบร้อยวัน ผมถึงพูดดักคอไว้หน่อยว่า มันอาจจะมีการขยายสัญญาครั้งที่ 5”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2563 บริษัทผู้รับจ้างได้ฟ้องสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรียกค่าเสียหายทั้งหมด 1,596 ล้านเศษ และสภาฯ ได้รับหมายเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2563 ในเรื่องนี้นายวิลาศกล่าวว่า ในเรื่องนี้ตนในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการ ปปช. ของสภาฯ ได้ไปศึกษาคำฟ้องดังกล่าว ก็ต้องบอกว่า สัญญาการก่อสร้างสภาตามปกติจะบอกว่า หากมีปัญหาส่งมอบพื้นที่ ก็มีสิทธิ์จะขยายสัญญา แต่ไม่เคยเห็นสัญญาที่ไปเขียนลงรายละเอียดว่า ผู้รับจ้างไม่อาจเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากผู้ว่าจ้าง และมีการเขียนลักษณะนี้ 2 แห่ง ในข้อตกลงว่าจ้าง ข้อ 1 วรรค 2 ในการดำเนินการตามสัญญานี้ ผู้ว่าจ้างจะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หรือตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง หรือตามความพร้อมของผู้ว่าจ้าง ดังระบุรายละเอียดในเอกสารแนบท้ายสัญญา ผนวก 13 และในกรณีที่มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ผู้ว่าจ้างไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากผู้ว่าจ้างได้

นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 24 การขยายเวลาปฏิบัติงานตามสัญญา ในวรรค 4 ระบุว่า ในระหว่างที่มีเหตุ หรือพฤติการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น (เรื่องส่งมอบพื้นที่) ผู้รับจ้างมีสิทธิ์ที่จะได้รับการขยายกำหนดระยะเวลาทำการออกไปเท่ากับระยะเวลาที่ต้องเสียไป อันเนื่องจากเหตุ หรือพฤติกรรมนั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ ผู้รับจ้างไม่มีสิทธิ์เรียกร้องค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ค่าทดแทน ค่าเสียหาย หรือเงินอื่นใดในทำนองเดียวกัน จากผู้ว่าจ้าง

“ทางผู้รับจ้าง ก็เคยมีหนังสือถึงสภา เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2559 บอกว่า เขาขอสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แล้วสภาก็ประชุมกันที่ฝ่ายกฎหมาย มีหนังสือลงวันที่ 27 ธ.ค. 2559 เพื่อส่งให้คณะกรรมการตรวจการจ้างแจ้งให้บริษัท โดยเลขาสภาฯ เซ็นรับทราบ บอกว่าบริษัทเรียกไม่ได้ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2560 บริษัทที่ปรึกษา ก็ยังมีหนังสือแจ้งไปที่บริษัทผู้รับจ้างว่า ไม่มีสิทธิ์เรียกค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเหมือนกัน”

ในเรื่องนี้นายวิลาศตั้งข้อสังเกตว่า ในการขยายสัญญาทุกครั้ง 4 ครั้ง ไม่เห็นบริษัทผู้รับจ้างเขียนตรงไหนว่าจะเรียกค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หรือไม่ยอมเซ็น แต่กลับเห็นเซ็นโดยไม่มีข้อทักท้วงแม้แต่ครั้งเดียว นอกจากนี้ยังเห็นว่ามีการเสนอเรื่องที่แปลก คือมีการขอเบิกค่าใช้จ่ายในการเร่งรัดการก่อสร้าง

“จำได้มั้ย ตอนที่สภาจะย้ายจากที่เดิมมาที่ใหม่ ทำให้ต้องมีการไปเช่าห้องประชุมทีโอที แล้วมีหนังสือเร่งให้รีบก่อสร้างห้องจันทรา ภายในวันที่ 31 ธ.ค. และห้องสุริยัน ให้เสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค. 62 ท้ายที่สุดแล้วห้องจันทรา แทนที่จะเสร็จ 31 ธ.ค. 61 ก็ไปเสร็จเอา 30 มิ.ย. 62 ก็ไปเช่าห้องทีโอที อยู่ดีๆ ปลายปีเดือน ธ.ค. บริษัทผู้รับจ้างทำหนังสือขอเบิกจ่ายค่าเร่งรัดการก่อสร้าง 73,544,818.34 บาท ผมก็ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียด ยังไม่ได้โต้แย้ง เพียงแต่ข้อมูลเบื้องต้น ผมสงสัยเพียงแต่ว่า ผมไปจ้างใครสร้างบ้านผมซักหลังนึง แล้วผมบอกผู้รับจ้างบอกว่า คุณช่วยไปทำห้องน้ำก่อน เพราะมีความจำเป็น ผู้รับจ้างไปสร้างห้องน้ำห้องส้วมก่อน ผมต้องจ่ายเงินเพิ่มมั้ยครับ แต่อย่างไรก็ต้องไปดูเหตุดูผลก่อน”

นายวิลาศกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องนี้แล้ว ยังพบว่าในช่วงที่ไวรัสโควิดเริ่มระบาด บริษัทผู้รับจ้างนี้ทำหนังสือถึงสภา ขอสงวนสิทธิ์ที่จะขยายเวลาการก่อสร้าง และขอคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกรณีโควิด แม้เรื่องนี้จะเป็นสิทธิ์ แต่ผู้อนุมัตินั้นจะต้องเป็นสภา ซึ่งหากสภาอนุมัติเรื่องนี้ สภาก็ต้องเป็นผู้ตอบคำถามให้ได้

ทั้งนี้ การที่บริษัทผู้รับจ้างฟ้องสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ศาลปกครองกลาง เพื่อให้ชำระหนี้จำนวน 1,596,592,305.46 บาท โดยกล่าวหาว่าสภาฯ ส่งมอบพื้นที่ในการก่อสร้างล่าช้า และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ออกมากล่าวสำทับอีกว่า บริษัทฟ้องร้องถูกต้องแล้วนั้น นายวิลาศกล่าวว่า เรื่องนี้ทำให้ตนรู้สึกไม่ไว้ใจเลขาธิการสภาคนนี้ เหตุใดจึงออกมาให้สัมภาษณ์ให้ท้ายบริษัทผู้รับจ้าง ถ้าตนมีอำนาจจะไล่ออกไปนานแล้ว ตั้งแต่กรณีมีคลิปฉาวแล้วซึ่งผ่านมาถึงตอนนี้ก็ 7 เดือนแล้ว

“ผมมีเรื่องที่จะเปิดเผยกรณีสภานี้ไม่น้อยกว่า 10 เรื่อง และมั่นใจว่าทุกเรื่องส่อว่าทุจริต 1. กรณีการประชุมคณะกรรมาธิการที่ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารรัฐสภา ที่ไม่ยอมให้เอกสารติดตามข้อเท็จจริง ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง 2. กรณีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาไม่ตรงตามแบบ เฉพาะเรื่องใหญ่ๆ 8 เรื่อง ผมมั่นใจครับ กรณีเรื่องนี้ในสภามีการเข้าคุก ฝากคนในสภาทั้งหมด ถ้าท่านเห็นความผิดปกติ ช่วยแจ้งมาหน่อย จะได้ผนึกกำลังกัน แล้วเลิกเสียทีผู้ใหญ่ในสภา เอะอะอะไรชอบไปขู่ข้าราชการในสภาว่าให้ระวังพวกส่งข้อมูลให้คนภายนอก แทนที่จะไปดูตัวเอง แต่กลับไปขู่ชาวบ้าน ผมรู้ว่าการก่อสร้างวันนี้มีหลายคนในสภามีผลประโยชน์ บางครั้งจะจ่ายเงินงวด จากผู้รับจ้างบางคนต้องจ่ายเปอร์เซ็นต์ ผมมีหลักฐานครับ เอาไว้ค่อยไล่เบี้ยกันทีหลัง” นายวิลาศกล่าว