posttoday

ยกเครื่องบัตรทอง30บาทเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษา

28 กันยายน 2561

นายกฯดูแลสุขภาพประชาชน ตามกรอบไทยนิยมยั่งยืน สั่งยกเครื่องบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษา

นายกฯดูแลสุขภาพประชาชน ตามกรอบไทยนิยมยั่งยืน สั่งยกเครื่องบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษา

เมื่อที่ 28 ก.ย.61 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลนี้มีนโยบายสาธารณะและมาตรการต่างๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทุกมิติ และทุกช่วงวัยมาอย่างต่อเนื่อง ดูแลสุขภาพประชาชน ตามกรอบไทยนิยมยั่งยืนของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.โครงการ อสม.4.0 โดยการยกระดับศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ กว่า 1 ล้านคน ให้สามารถปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด 2.โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วัน คือ การส่งเสริมพัฒนาการเด็กผ่านเครือข่ายชุมชน ให้เติบโตสมวัย สมส่วน เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นพลเมืองดีของบ้านเมือง 3.โครงการสร้างอาชีพสำหรับผู้ลงทะเบียนรายได้น้อย เช่น การเพิ่มพูนทักษะนวดไทยเพื่อสุขภาพ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ สร้างรายได้ รวมทั้งการสร้างผู้ช่วยพยาบาล และ 4.โครงการติดตามผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ (พชอ.)ล่าสุดสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้จัดทำดัชนีประสิทธิภาพระบบสุขภาพ ปี 61 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก จาก 56 ประเทศ ดีขึ้นจากปีที่แล้วถึง 14 อันดับ นับว่าเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไทยอยู่ในอันดับที่ 9 องค์การอนามัยโลกชื่นชมประเทศไทยเป็นต้นแบบ และแหล่งเรียนรู้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเห็นว่าเป็นระบบที่ยั่งยืน

ขณะที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท รักษาทุกโรค ยังคงมีความไม่สมบูรณ์ในการขอรับบริการด้านสุขภาพหลายประการ ได้แก่ 1.รักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐ อาจจะสร้างความลำบากให้กับผู้ที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลรัฐมาก 2.ไม่คุ้มครองการรักษาที่เกินความจำเป็นพื้นฐาน เช่น การผสมเทียมเพื่อมีบุตร การรักษากรณีที่มีบุตรยาก การบริการทางการแพทย์เพื่อความสวยงาม การเปลี่ยนแปลงเพศ เป็นต้น 3.ไม่คุ้มครองการรักษาที่มีงบประมาณจัดสรรโดยเฉพาะ เช่น โรคจิต หรืออาการป่วยทางจิต ซึ่งทางการแพทย์จำเป็นต้องรับไว้เพื่อการรักษาและฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วย โดยให้เป็นผู้ป่วยในเกินกว่า 15 วัน การบำบัดผู้ติดยาเสพติด ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุทางรถ โดยมี พ.ร.บ.คุ้มครองอยู่ ซึ่งจะต้องใช้สิทธิ พ.ร.บ.ให้ครบก่อน และ 4.ไม่คุ้มครองกรณีโรคเรื้อรังและโรคที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในเกินกว่า 180 วัน ยกเว้นหากมีความจำเป็นจริงๆ เช่น เกิดภาวะแทรกซ้อน จึงต้องรักษายาวนานขึ้น เป็นต้น

ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลนี้ได้ยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้สิทธิและเพิ่มเติมในเรื่องยา วัคซีน อุปกรณ์การแพทย์และการให้บริการต่างๆ เพิ่มขึ้น อาทิ 1.การเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลา สำหรับโรงพยาบาลที่มีความพร้อมเพื่อรองรับกลุ่มคนที่ประสงค์มารับบริการในช่วงเย็น และสมัครใจจ่ายค่าบริการบางส่วนเอง 2.การเร่งรัดจัดทำชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนทุกคนในทุกสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐได้รับเหมือนกัน 3.รัฐบาลไทยสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 100 โดย "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ทั้งประชาชนทั่วไป ประชาชนในกลุ่มเปราะบาง กองทุนสุขภาพท้องถิ่น และการดูแลผู้สูงอายุ 4.การเข้าถึงสิทธิและบริการของกลุ่มเปราะบาง ตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ อาทิ ประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่ชายขอบ ผู้ต้องขัง พระสงฆ์ และผู้พิการ เป็นต้น 5.การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นและเร่งดำเนิน "กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น" ในการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค 6.การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งที่ดำเนินการผ่านกลไก "กองทุนระบบการดูแลระยะยาว" ด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภาวะเจ็บป่วยมาก และค่าใช้จ่ายสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น 7.สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ รักษาฟรีภายใน 72 ชั่วโมง หรือ UCEP สำหรับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งในอนาคตเราจะขยายไปยังกองทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดความครอบคลุม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ อันจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการอย่างปลอดภัย โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค หรือเป็นความเสี่ยงของการดูแลรักษา ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมง หรือพ้นภาวะวิกฤติ ทุกสิทธิ ทุกโรงพยาบาล เป็นต้น

"นี่ก็เป็นการพัฒนาในด้านการสาธารณสุขของประเทศไทย เราทำหลายอย่าง เรื่องของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องทำให้ดีกว่าเดิม เพราะในเมื่อเราตั้งขึ้นมาแล้วต้องทำให้ดีขึ้น แก้ปัญหาเก่าๆ ให้ดีขึ้นแล้วมองไปข้างหน้า เราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรในเรื่องเหล่านี้ เพราะมีการใช้จ่ายงบประมาณสูงขึ้นทุกๆ ปี" นายกรัฐมนตรี กล่าว