posttoday

กองทัพเลือกข้าง เกมบีบ สส.ย้ายค่าย

02 พฤษภาคม 2561

เดือน พ.ค.เป็นอีกเดือนที่การเมืองน่าจะมีความเข้มข้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ครบรอบ 4 ปี ของการรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เดือน พ.ค.เป็นอีกเดือนที่การเมืองน่าจะมีความเข้มข้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ครบรอบ 4 ปี ของการรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อต่อต้านและกดดันให้ คสช.เร่งจัดการเลือกตั้งและคืนอำนาจให้กับประชาชน

แต่ท่ามกลางกระแสต่อต้าน คสช.ปรากฏว่า คสช.เองก็เดินเกมการเมืองอย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการพยายามทาบทามให้อดีต สส.มาอยู่กับ คสช.หรือไม่ก็ให้ออกจากพรรคที่ตนเองสังกัด ไม่ว่าจะเป็นกรณีของพรรคพลังชลและกลุ่มสะสมทรัพย์ในพรรคเพื่อไทย หรือจะเป็นกรณีของอดีต สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เริ่มตีตัวออกห่าง

การขยับตัวของ คสช.ในเรื่องนี้ สร้างความปวดหัวให้กับพรรคการเมืองพอสมควร ถึงขั้นต้องออกมารบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผ่านสื่อมวลชนไม่เว้นแต่ละวัน เนื่องจากภาวะสมองไหลที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองนั้นจะมีผลต่อการเลือกตั้งในระยะยาว โดยต้องไม่ลืมว่าระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้พรรคการเมืองจำเป็นต้องรั้งอดีต สส.น้ำดีของพรรคเอาไว้ให้มากที่สุด

ทั้งนี้ หากจะหาเหตุผลที่ทำให้นักเลือกตั้งปันใจจากพรรคการเมืองมาร่วมมือกับทหารคงหนีไม่พ้นการแสวงหาความมั่นคงในทางการเมือง เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้ ฝ่ายการเมืองมีส่วนสำคัญอันเป็นเงื่อนไขของการสร้างความขัดแย้งทางการเมือง จึงเป็นโอกาสที่ดีที่บรรดานักเลือกตั้งจะได้ออกมาชุบตัว เพื่อกลับสู่สนามการเมืองอีกครั้ง

ประกอบกับเวลานี้ทหารกำลังมีอิทธิพลและทรงอำนาจทางการเมือง เนื่องจากทหารกำลังมีความเป็นปึกแผ่นและปราศจากการแทรกแซงของนักการเมืองมาเป็นเวลานาน ยิ่งทำให้ทหารมีสถานะเป็นเอกเทศมากขึ้น จึงไม่แปลกที่ทหารจะเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญของการเมือง ด้วยสภาพความเข้มแข็งของทหารที่เกิดขึ้น นักการเมืองเลยเลือกที่จะผูกมิตรกับทหารเป็นการชั่วคราว

การมีอิทธิพลในทางการเมืองของกองทัพนั้นไม่ได้เพียงแต่แสดงออกผ่านสาธารณะเท่านั้น แต่ยังแสดงออกผ่านตัวบทกฎหมายด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เปิดโอกาสให้ คสช.เข้ามาทำหน้าที่เลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่เป็น สว. จำนวน 250 คน ในช่วง 5 ปีแรก ขณะเดียวกันวุฒิสภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะเข้ามาเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย

 โดย สว.ทั้ง 250 คน จะมีส่วนในการร่วมลงมติเลือกว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ เรียกได้ว่า สว. จำนวน 250 คน ไม่ต่างอะไรกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่พรรคการเมืองหนึ่ง ถ้าเทเสียงไปให้ข้างไหนข้างนั้นจะขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศทันที

ไม่เพียงเท่านี้ วุฒิสภาที่มาจากการเลือกของ คสช.จะเข้ามามีบทบาทตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเข้มข้นด้วยไม่ว่าจะเป็นการติดตามการปฏิรูปประเทศหรือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งถ้ารัฐบาลไหนไม่เดินตามแผนนี้จะถูกตรวจสอบในข้อหาการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้

ขณะเดียวกัน ล่าสุดกองทัพได้ประกาศเลือกข้างชัดเจนแล้วว่าจะอยู่เคียงข้างกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่าทีดังกล่าวแสดงออกโดย พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ภายหลังผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงบทบาทของกองทัพต่อกรณีที่นายกฯ มีท่าทีจะเล่นการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ

“แน่นอนทางกองทัพก็ยังเป็นเครื่องมือของรัฐบาลอยู่แล้ว การสนับสนุนรัฐบาลเป็นหน้าที่หลักของกองทัพ ส่วนที่ฝ่ายการเมืองมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการหาเสียงนั้น คิดว่าแล้วแต่คนมอง ซึ่งปกติตั้งแต่ดำเนินการมาก็ทำอย่างนี้มาโดยตลอด ส่วนใครจะคิดอย่างไร เป็นเรื่องมุมมองของแต่ละคน”

ท่าทีของผู้บัญชาการกองทัพไทย แม้จะไม่ได้บอกว่าเป็นการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง แต่การส่งสัญญาณลักษณะนี้ ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของนักเลือกตั้งไม่มากก็น้อย

ธรรมชาติของนักการเมืองต้องการอยู่ในตำแหน่งให้ครบตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อสร้างฐานเสียงและอิทธิพลทางการเมือง แต่กระนั้นจะไม่มีทางไปถึงจุดหมายได้เลย หากยังอยู่ฝั่งตรงข้ามกับกองทัพ

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเลือกอยู่ข้างเดียวกับกองทัพจึงเป็นโซนปลอดภัยของนักการเมืองในเวลานี้ การดันทุรังรบกับทหารต่อไป เพราะ ณ วินาทีนี้เป็นเรื่องยากที่นักการเมืองจะรบชนะกองทัพ

เมื่อทั้งกติกาและท่าทีของกองทัพต่างเป็นใจให้กับ คสช.ในการกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ทีนี้ก็เหลือเพียงแต่ คสช.เองจะสร้างคะแนนนิยมเพื่อมัดใจประชาชนได้อย่างไรเท่านั้น