posttoday

โพลชี้วิสาขบูชาปีนี้ชาวพุทธตั้งใจตักบาตรอาหารสด

09 พฤษภาคม 2560

นิด้าโพล เผย วิสาขบูชาปีนี้ ประชาชนส่วนใหญ่จะตักบาตรอาหารสด กับลูกหลาน ขณะที่ ข่าวพระฉาว ไม่ทำให้ความเลื่อมใสศรัทธาเปลี่ยน

นิด้าโพล เผย วิสาขบูชาปีนี้ ประชาชนส่วนใหญ่จะตักบาตรอาหารสด กับลูกหลาน ขณะที่ ข่าวพระฉาว ไม่ทำให้ความเลื่อมใสศรัทธาเปลี่ยน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พุทธศาสนิกชนกับการทำบุญในวันวิสาขบูชาและความศรัทธาในพุทธศาสนา” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 – 5 พฤษภาคม 2560 กรณีศึกษาจากประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ  รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำบุญในวันวิสาขบูชาและความศรัทธาในพุทธศาสนา

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกิจกรรมที่ตั้งใจจะทำเนื่องในวันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.00 ระบุว่า จะตักบาตรอาหารสด รองลงมา ร้อยละ 44.64 ระบุว่า เวียนเทียน ร้อยละ 33.68 ระบุว่า ตักบาตรอาหารแห้ง ร้อยละ 32.40 ระบุว่า ไหว้พระ ร้อยละ 16.40 ระบุว่า ถวายสังฆทาน ร้อยละ 9.28 ระบุว่า ฟังเทศน์/ฟังธรรม ร้อยละ 7.20 ระบุว่า ถือศีล ร้อยละ 6.32 ระบุว่า ทำสมาธิ/เดินจงกรม ร้อยละ 3.84 ระบุว่า งดทานเนื้อสัตว์ ร้อยละ 0.56 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ทอดผ้าป่า แจกของบริจาคให้ผู้สูงอายุ ทำบุญให้กับโรงพยาบาล บำเพ็ญประโยชน์และช่วยเหลือสังคม และร้อยละ 1.84 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับบุคคลที่ประชาชนจะร่วมทำกิจกรรมด้วยในวันวิสาขบูชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.64 ระบุว่า จะไปกับบุตรหลาน รองลงมา ร้อยละ 37.44  ระบุว่า จะไปกับแฟน/คู่สมรส ร้อยละ 26.56 ระบุว่า จะไปกับพ่อ/แม่ ร้อยละ 15.52 ระบุว่า จะไปกับพี่/น้อง ร้อยละ 12.48 ระบุว่า จะไปคนเดียว ร้อยละ 11.92 ระบุว่า จะไปกับญาติ ร้อยละ 11.76 ระบุว่า จะไปกับเพื่อน ร้อยละ 4.00 ระบุว่า จะไปกับปู่/ย่า/ตา/ยาย ร้อยละ 0.96 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เพื่อนบ้าน คนในชุมชน และร้อยละ 1.92 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความเลื่อมใสและศรัทธาในหลักคำสอน/แก่นแท้ของพุทธศาสนาจากกรณีที่พระสงฆ์มีข่าวฉาว หรือข่าวในภาพลบ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.88 ระบุว่า ยังมีความเลื่อมใสและศรัทธาในหลักคำสอน/แก่นแท้ของพุทธศาสนาเหมือนเดิม/ไม่เปลี่ยนแปลง รองลงมา ร้อยละ 11.04 ระบุว่า มีความเลื่อมใสและศรัทธาในหลักคำสอน/แก่นแท้ของพุทธศาสนาลดลง ร้อยละ 2.96 ระบุว่า มีความเลื่อมใสและศรัทธาในหลักคำสอน/แก่นแท้ของพุทธศาสนามากขึ้น ร้อยละ 0.88 ระบุว่า อยู่ที่ตัวบุคคล ดูเป็นรายกรณีไป และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความเลื่อมใสและศรัทธาในตัวพระสงฆ์ จากกรณีที่พระสงฆ์มีข่าวฉาว หรือข่าวในภาพลบ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.68 ยังมีความเลื่อมใสและศรัทธาในตัวพระสงฆ์เหมือนเดิม/ไม่เปลี่ยนแปลง รองลงมา ร้อยละ 24.88 มีความเลื่อมใสและศรัทธาในตัวพระสงฆ์ลดลง ร้อยละ 15.12 อยู่ที่ตัวบุคคล ดูเป็นรายกรณีไป ร้อยละ 1.60 มีความเลื่อมใสและศรัทธา ในตัวพระสงฆ์มากขึ้น และร้อยละ 2.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญทางศาสนา ที่ต้องการให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาเถรสมาคม กระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาตรวจสอบแก้ไขอย่างเร่งด่วนมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 20.40 ระบุว่า เป็นพฤติกรรมของพระสงฆ์ที่เรี่ยไรเงินบริจาคทำบุญในที่สาธารณะ รองลงมา ร้อยละ 16.16 ระบุว่า เป็นพฤติกรรมของพระสงฆ์หรือประชาชนที่หลอกลวงให้บริจาคเงินทำบุญ ร้อยละ 14.56 ระบุว่า เป็นการปลอมตัวเป็นพระสงฆ์ ร้อยละ 13.60 ระบุว่า วัดที่เน้นการทำบุญแบบพุทธพาณิชย์มากจนเกินไป ร้อยละ 9.28 ระบุว่า เป็นพฤติกรรมการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมในการเข้าวัดทำบุญ ร้อยละ 3.44 ระบุว่า เป็นสังฆทานเวียน ร้อยละ 3.36 ระบุว่า เป็นการโยนเหรียญลงไปในบ่อที่มีสัตว์อาศัยอยู่ ร้อยละ 2.72 ระบุว่า เป็นการจับสัตว์มาเพื่อให้คนมาซื้อไปปล่อย ร้อยละ 1.60 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การเช่าบูชาวัตถุ เครื่องลาง ของขลังในวัด การบิณฑบาตรนอกเวลาของพระสงฆ์ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ทุกปัญหาที่กล่าวมา ร้อยละ 5.20 ระบุว่า ไม่มีปัญหาใด ๆ และร้อยละ 9.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ