posttoday

ไล่เบี้ย "ยิ่งลักษณ์" ปิดฉากรีเทิร์นการเมือง

24 ตุลาคม 2559

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีแต่จะทำให้อนาคตทางการเมืองของยิ่งลักษณ์มืดมน ยากจะหวนคืนสนามเลือกตั้งได้อีก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กระบวนการติดตามทวงค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในส่วนของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อ วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในนาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งทางปกครองเกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว 35,717,273,028 บาท

ทั้งนี้ เป็นไปตามขั้นตอนหลังจากคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางละเมิดมีมติให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่กระทรวงการคลังเป็นเงินประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนี้ หากเกินกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว กระทรวงการคลังจะดำเนินมาตรการทางปกครองตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครอง พ.ศ. 2539 ต่อไป

ส่วนในกรณีที่อดีตนายกฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็จะมีคำสั่งเตือนอีกภายใน 15 วัน ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งต้องไปฟ้องศาลปกครอง และในกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว สามารถร้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายใน 90 วันนับแต่วันรับคำสั่งดังกล่าว

โดยตามขั้นตอน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า ระหว่างนี้จะไม่มีการยึดและอายัดทรัพย์อะไรทั้งสิ้น

กระบวนการนับจากนี้ ยิ่งลักษณ์ยังจะต้องต่อสู้ตามช่องทางที่่เปิดไว้ ตามที่ระบุว่า “ดิฉันขอยืนยันจะใช้สิทธิทุกช่องทาง ทางกฎหมายที่มีในการต่อสู้ครั้งนี้ และขอปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ รวมถึงการใช้คำสั่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม และจะเปิดแถลงการณ์ในเวลาอันควร เพราะเป็นช่วงที่คนไทยทั้งประเทศโศกเศร้า เราคิดว่าเราคงจะไม่พูดอะไรมากในตอนนี้”

เมื่อพิจารณาประเด็นของทางทีมทนายความ ยิ่งลักษณ์ที่เตรียมยื่นขออุทธรณ์คำสั่ง มีเนื้อหาประมาณ 10 ประเด็น หนึ่งในนั้นคือประเด็นความไม่ชัดเจนเรื่องตัวเลข 3.5 หมื่นล้านบาท ว่ามาจากไหนเพราะไม่ตรงกับที่ จิรชัย มูลทองโร่ย ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว เคยระบุเอาไว้ตั้งแต่จำนวน 5 แสนล้านบาท จากนั้นระบุเป็น 2.8 แสนล้านบาท รวมทั้งประเด็นเรียกเก็บ 20% จากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ส่วนอีก 80% ยังไม่ระบุว่าจะเก็บจากใคร

การไล่เบี้ยติดตามทวงเงินมาชดใช้ความเสียหายที่กำลังเดินไปนี้ อีกด้านหนึ่งย่อมทำให้เส้นทางการเมืองของ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยิ่งตีบตันจนยากจะหวนคืนกลับมาเป็นนักการเมืองได้อีก

หากจำได้ “ดาบแรก” กับมติ 190 ต่อ 18 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ลงมติถอดถอนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้ต้องถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปีมาแล้วรอบหนึ่ง

ด้วยกรอบเวลาที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งรอบหน้าในปลายปี 2560 นั้น ทำให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถลงสนามเลือกตั้งรอบนี้ได้ทันอยู่แล้ว หากจะกลับมาอีกครั้งคงต้องรอพ้นโทษแบน 5 ปี แต่ทว่าด้วยกระบวนการไล่เช็กบิลทางแพ่งรอบใหม่นี้อาจเป็นตัวแปรทำให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จำเป็นต้องยุติบทบาททางการเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ประการแรกด้วยมูลค่าความเสียหายที่ต้องชดใช้ถึง 3.5 หมื่นล้านบาทนั้น คงยากที่จะชดใช้ได้หมด หากจะไล่ยึดจากทรัพย์สินส่วนตัวก็คงทำให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ขึ้นชื่อว่าอยู่ในตระกูลร่ำรวยติดอันดับต้นๆ ของมหาเศรษฐีเมืองไทย มีอันต้องหมดตัวในชั่วพริบตา ยังไม่รวมกับกรณีที่อาจถูกฟ้องร้องให้ตกเป็นบุคคลล้มละลายต่อไป 

ด้วย “สถานภาพ” และ “ภาพลักษณ์” ของยิ่งลักษณ์ คงกลายเป็นเป้าให้ถูกโจมตีทางการเมืองในอนาคต และไม่เป็นผลดีกับพรรคเพื่อไทยที่ต้องพลอยเสียหายตามไปด้วย

ยังไม่รวมกับ “บาดแผล” ที่เกิดขึ้นย่อมทำให้ ยิ่งลักษณ์ เข็ดขยาดกับการเมืองจนไม่อยากเอาอนาคตของตัวเองเข้ามาเสี่ยงอีกรอบ ไม่ว่าจะในฐานะเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง ยิ่งหากย้อนไปดูสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ จะเห็นว่าต้องถูกแรงเสียดทานอย่างหนักหน่วงจากรอบด้านจนสะบักสะบอมจนถึงวันพ้นจากตำแหน่ง

ประการสำคัญยังอยู่ที่โครงการรับจำนำข้าวที่จะกลายเป็นบาดแผลสำคัญให้ฝ่ายตรงข้ามหยิบยกไปโจมตีตั้งแต่การหาเสียงทางการเมืองว่าครั้งหนึ่งเคยทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งการค้า การเกษตร และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา ที่ประเมินแล้วเสียหายรุนแรงหลายแสนล้านบาท 

ดังนั้น ในฐานะคนควบคุมทิศทางตลอดจนรับผิดชอบการดำเนินการคงหนีไม่พ้นที่จะต้องถูกโจมตีต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต ซึ่งมีแต่จะฉุดความเชื่อมั่น แถมยากที่จะได้รับความไว้วางใจหรือคะแนนสนับสนุนจากชาวนาอย่างล้นหลามเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีแต่จะทำให้อนาคตทางการเมืองของยิ่งลักษณ์มืดมน ยากจะหวนคืนสนามเลือกตั้งได้อีก