posttoday

หวั่นพรบ.คอมพ์ฉบับแก้ไข คุกคามเสรีภาพบนโลกออนไลน์

28 มิถุนายน 2559

กฎหมายฉบับนี้มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้พอสมควร เพราะบางส่วนคิดว่าตัวกฎหมายละเมิดสิทธิประชาชนมาก โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

บนเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “เสรีภาพออนไลน์ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” จัดขึ้นที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการหยิบยกประเด็นผลกระทบด้านสิทธิเสรีภาพประชาชนบนโลกออนไลน์จากการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวขึ้นมาแสดงความเป็นห่วง เพราะเกรงว่ารัฐจะใช้อำนาจคุกคามสื่อและประชาชนผ่านกฎหมายฉบับนี้

โดยเฉพาะมาตรา 14 ของหมวดความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่เขียนค่อนข้างคลุมเครือ จากที่ระบุว่า หากมีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ผู้ใดกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสมาชิก สนช. อธิบายว่า กฎหมายฉบับนี้มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้พอสมควร เพราะบางส่วนคิดว่าตัวกฎหมายละเมิดสิทธิประชาชนมาก โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท เพราะอาจถูกตีความ ขยายผล เนื่องจากแต่ละมาตรามีขอบเขตของกฎหมายที่ไม่ชัดเจน

ขณะเดียวกัน เรื่องคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ซึ่ง รมว.ไอซีที เป็นคนตั้งไปเปรียบเทียบปรับความผิดเกี่ยวกับการแฮ็กระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งประเด็นนี้ดูเหมือนหลายคนไม่สบายใจเพราะให้อำนาจรัฐมากเกินไป แต่อีกฝั่งก็คิดว่าดีเหมือนกัน เพราะหากดูในเจตนารมณ์ คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบปรับจะใช้ได้ผลดี และลดภาระงานของตำรวจ แต่หลายคนเห็นว่าเรื่องนี้จะมีความเป็นอาญาในตัวทันที เพราะผู้มีอำนาจมีสิทธิในการปรับได้ ซึ่งอาจจะพูดคุยกันในชั้นต่อไป

สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงเสรีภาพบนฐานของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่า ต้องเข้าใจกันก่อนว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ถือเป็นอีกอำนาจหนึ่งของรัฐบาลที่นำมาใช้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นเว็บไซต์ ซึ่งฝ่ายรัฐเป็นผู้ร้องขอ ทั้งนี้หากวิเคราะห์ในรายมาตรา เช่น มาตรา 14 (1) ก็เขียนเอาไว้เป็นลักษณะของการให้สิทธิการฟ้องร้องที่ผู้ฟ้องมุ่งประสงค์ให้ปิดปาก ทั้งปิดปากสื่อมวลชน หรือกลุ่มคนที่จะสืบสวนหาความจริงในเรื่องสาธารณะ ไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใดๆ เช่นที่เกิดขึ้นกับการตรวจสอบกองทัพเรือของสำนักข่าวภูเก็ตหวานที่ผ่านมา

สาวตรี กล่าวว่า ปัญหาที่เห็นคือ มาตรา 14 (1) อยู่ในหมวดการเผยแพร่เนื้อหา ไม่ใช่การฉ้อโกงหลอกลวง ซึ่งเป็นนิยามที่แท้จริงของกฎหมาย ที่ต้องการอุดช่องว่างการปลอมแปลงเอกสารหรือข้อมูลในยุคออนไลน์ ไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการเอาผิดเรื่องหมิ่นประมาท แต่เมื่อมารวมกันเอาไว้ในเรื่องหมิ่นประมาท ทำให้ดุลนิพิจการตีความของเจ้าหน้าที่อาจจะมีปัญหาได้ ดังนั้นตรงนี้ควรแยกออกมา

ขณะเดียวกัน ตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ แม้แต่การถือครองข้อมูลที่รัฐไม่ต้องการก็เป็นความผิดด้วย เรียกง่ายๆ ว่าข้อมูลอยู่ในคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ได้มีการเผยแพร่ ก็มีความผิดเช่นกัน ผิดทั้งจำและปรับ ไม่ว่าจะเป็นภาพตัดต่อล้อเลียน หรือข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น ถ้าคุณครอบครองภาพลามกอนาจารในเด็กก็มีความผิดด้วย

จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน จากคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า เสรีภาพการแสดงความเห็นนั้น หากไปก่ออันตรายต่อคนอื่น ก็ต้องจำกัดมันเอาไว้ เพราะมันไปก่อความเสียหายกับบุคคลอื่นๆ และต่อสาธารณะ

“บางอย่างให้เสรีภาพเกินไปอาจสร้างปัญหาใหญ่หลวงตามมา แต่บางอย่างก็ไม่ควรปิดกั้นความเห็นของประชาชนเช่นกัน” จอมพล กล่าว 

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากไทยเน็ต ที่ร่วมเวทีเสวนาด้วย เสริมว่าความคืบหน้าของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ล่าสุดคณะกรรมาธิการวิสามัญ สนช. พิจารณาถึงมาตรา 17 จากทั้งหมด 19 มาตรา

อย่างไรก็ตาม ที่เห็นปัญหาคือ มาตรา 14 (2) คณะกรรมาธิการกฤษฎีกาที่เขียนกฎหมาย มีความตั้งใจไม่ให้การนำเข้าข้อมูลเท็จหรือไม่ดีเข้าสู่ระบบ และผลทำให้ระบบสาธารณูปโภคของประเทศเสียหายจะต้องเป็นความผิดร้ายแรง แต่เมื่อมาดูในตัวบทกฎหมายแล้วมันไม่ชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับดุลพินิจอีก หากจะให้เป็นเรื่องกระทบโครงสร้างพื้นฐานจริงๆ อาจจะใช้ตัวแบบกฎหมายของต่างประเทศที่พูดถึงเรื่องนี้มาประยุกต์ใช้ก็น่าจะเป็นไปได้ และสร้างความชัดเจนไปว่าสิ่งใดผิด เพราะอะไร

ขณะที่มาตรา 15 และมาตรา 20 ที่คนสนใจอย่างมาก คือ ให้อำนาจรัฐมนตรีออกประกาศเพิ่มเติมได้ในการระงับข้อมูล ลบข้อมูล จะมีข้อน่ากังวลอยู่ เพราะใครคือคณะกรรมการ ใครคือเจ้าหน้าที่ ตรงนี้ไม่มีความชัดเจน อีกทั้งยังมีโอกาสเหมือนกันในการออกประกาศเพิ่มเติม และจะทำให้อำนาจของกฎหมายขยายออกไปมากขึ้นอีกจากกฎหมายหลักที่ให้อำนาจเอาไว้

อีกมุมจากผู้บังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  พ.ต.อ.นิติพัฒน์ วุฒิบุณยสิทธิ์ ผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญกรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมาของการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก่อนที่จะมีการแก้ไขในปัจจุบัน มีการพิจารณาคดีโดยการรับเรื่องราวร้องทุกข์มากมหาศาล ขณะเดียวกันด้วยบุคลากร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญมีอยู่เพียงแค่ 200 คน หากนับแค่พนักงานสอบสวนของ บก.ปอท.ก็มีเพียงแค่ 30 คน ซึ่งจำนวนนี้ก็ย้ายเข้าย้ายออกตามวาระ อีกทั้งหลายครั้งการบังคับใช้กฎหมายสำหรับตำรวจเป็นไปได้ยากพอสมควร เพราะต้องใช้ดุลพินิจส่วนตัวในการพิจารณาคดี ต้องยอมรับกันจริงๆ ว่าเราไม่มีความรู้ ไม่มีแนวทางให้ศึกษาตามฎีกา หรือมีผู้ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์อยู่ในองค์กร

“ถึงวันนี้ต้องยอมรับและพูดความจริง ปอท.ต้องการคนที่มีความรู้เฉพาะทาง หรือคนที่มาบรรจุใหม่กำลังจะเรียนรู้ก็ให้เรียนรู้และปฏิบัติหน้าที่ให้ได้นาน ไม่ใช่ว่าถูกย้ายออกนอกหน่วยอีก” 

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของผู้เสียหายทุกวันนี้มีไม่น้อยกว่า 15 ล้านราย แต่การดำเนินคดีตามกฎหมายต้องใช้คนมีความรู้เฉพาะทาง คนที่ทุกข์ก็มาหาหมด ขณะเดียวกันเรามีพนักงานสอบสวนแค่ 30 คน จึงทำงานไม่ทัน และรองรับไม่ได้ทั้งหมด