posttoday

ประมงยันจระเข้ในทะเลบัวแดงมีคนนำมาปล่อย

28 สิงหาคม 2558

อุดรธานี-ประมงจังหวัดยืนยันจระเข้ที่จับได้ในทะเลบัวแดงมีคนนำมาปล่อยขู่ใครมีไว้ในครอบครองเจอโทษจำคุกและปรับ

อุดรธานี-ประมงจังหวัดยืนยันจระเข้ที่จับได้ในทะเลบัวแดงมีคนนำมาปล่อยขู่ใครมีไว้ในครอบครองเจอโทษจำคุกและปรับ

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นายวิยะ ด้วงแพง รักษาการประมง จ.อุดรธานี พร้อมด้วยนายพรหมเพชร ดวงมะลา รักษาการ หัวหน้าสำนักบริหารจัดการประมง เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และทีมล่าจระเข้ หรือ “ชุดไกรทอง” ไปตรวจสอบลูกเจระเข้ที่ชาวบ้านจับได้ขณะตกปลาในแหล่งน้ำบริเวณหนองหานกุมภวาปี หรือ ทะเลบัวแดง ซึ่งนำไปฝากไว้ในบ่อซีเมนต์เลี้ยงกบของนายปรีชา ชัยทักษิณ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) กุมภวาปี เลขที่ 172 หมู่ 5 ต.กุมภวาปี อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี

นายวิยะ กล่าวว่า จระเข้ที่ชาวบ้านจับได้ในทะเลบัวแดงเป็นจระเข้ที่เกิดและเลี้ยงในฟาร์มแน่นอน เป็นจระเข้พันธุ์ไทยที่นิยมเลี้ยง อายุประมาณ 2 ปี ราคาซื้อขายราวตัวละ 3-4 พันบาท ถูกคนนำมาปล่อยราว 1 สัปดาห์ โดยสภาพมีความอ้วนสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยการอาศัยอยู่ในธรรมชาติ ทั้งรอยขูดขีดตามร่างกาย และไม่มีตะไคร่น้ำตามตัว ตลอดจนมีสภาพเชื่องกับคน จับวางลงพื้นก็นอนนิ่งไม่ไปไหน

นายวิยะ กล่าวอีกว่า หากใครครอบครองจระเข้ต้องได้รับอนุญาต ถ้าไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท ในพื้นที่จ.อุดรธานีแจ้งเลี้ยง 7 ราย เป็นรายย่อย 5 ราย ที่ ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมือง 5 ตัว , ต.หมากแข้ง อ.เมือง 1 ตัว, ต.สามพร้าว อ.เมือง 2 ตัว ต.หนองนาคำ อ.เมือง 2 ตัว , ต.โนนสะอาด อ.โนนสะอาด 2 ตัว เป็นฟาร์มใหญ่ 2 แห่ง คือ ต.หนองเม็ก อ.หนองหาน เลี้ยงขุน 300 ตัว และ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม เลี้ยงพ่อแม่เพื่อเพาะพันธุ์ เป็นฟาร์มระบบปิดไม่หลุดออกมาแน่นอน

ด้านนายพรหมเพชร ดวงมะลา รักษาการ หัวหน้าสำนักบริหารจัดการประมง เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ทุกปีประมงจะสำรวจหนองหานกุมภวาปี และแหล่งน้ำใหญ่ ไม่เคยมีรายงานจระเข้ธรรมชาติ ขณะที่ผ่านมาได้รับแจ้งพบจระเข้ ก็จะเป็นจระเข้ที่หลุดจากฟาร์ม หรือสัตว์อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยธรรมชาติของจระเข้เลี้ยง จะไม่มีพฤติกรรมเป็นนักล่า แม้จะหลบไปหาที่ไกลๆคน แต่เมื่อมันหิวก็จะมาหาคน เพราะคนเคยให้อาหารมัน ก็เหมือนกับสัตว์เลี้ยงทั่วไป 

“ทีมสำรวจติดตามจระเข้ 1 ทีมมี 5 คน นำเรือเร็ว อุปกรณ์ไฟส่องสว่าง และเครื่องช็อตไฟฟ้า มาปฏิบัติการณ์ทั้งกลางวันกลางคืน โดยช่วงกลางวันจะออกสำรวจ แหล่งที่น่าจะเป็นที่อาศัย หรือหากิน จากร่องรอยที่ถูกทิ้งไว้ แล้วจะกลับมาตรวจอีกครั้งช่วงกลางคืน เมื่อเห็นจนมั่นใจว่าเป็นจระเข้ ก็จะเข้าปฏิบัติการณ์ช็อตไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้จระเข้สลบ ก็จะนำจระเข้ออกจากแหล่งน้ำได้ ขณะช่วงนี้ต้องขอให้ชาวบ้าน งดลงไปในหนองฯเพื่อให้สัตว์ออกมา ”  นายพรหมเพชร กล่าว