posttoday

ถกยางล่ม!!แกนนำม็อบไม่รับข้อเสนอรัฐ

28 สิงหาคม 2556

ผลเจราจารัฐบาล-ตัวแทนสวนยาง4ภาคล่ม ยุคลยันไม่เข้าอุ้มราคาเกษตรไม่รับข้อเสนอเดินออกจากห้องประชุม ประกาศ3ก.ย.จัดม็อบใหญ่แน่นอน

ผลเจราจารัฐบาล-ตัวแทนสวนยาง4ภาคล่ม ยุคลยันไม่เข้าอุ้มราคาเกษตรไม่รับข้อเสนอเดินออกจากห้องประชุม ประกาศ3ก.ย.จัดม็อบใหญ่แน่นอน

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. การเจรจาแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ระหว่าง ตัวแทนชาวสวนยางพารา 4 ภาค กับตัวแทนรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยบรรยากาศในห้องประชุมเป็นไปอย่างเข้มข้น

ทั้งนี้ตัวแทนชาวสวนยางพารา 4 ภาค ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลแทรกแซงราคายางแผ่นดิบ ที่ราคากิโลกรัมละ 92 บาท น้ำยางสด 81 บาท และขี้ยาง 83 บาท ยางแผ่นลมควันชั้นสาม 101 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังยืนยันที่จะรับซื้อยางที่ราคา 80 บาท พร้อมยืนยันจะไม่เข้าไปแทรกแซงราคายางส่งผลให้ตัวแทนชาวสวนยางจากภาคใต้ นำโดยนายเฉลิม แซ่ตึ่ง และนายวีระศักดิ์ จันทิมา สินธุวงศ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรยางพารา 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้ลุกออกจากห้องประชุมทันทีด้วยความไม่พอใจ

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า วันที่ 3 ก.ย.นี้ จะมีการชุมนุมใหญ่ของเกษตรกรแน่นอน รวมถึงการปิดถนนทางภาคใต้ จะยังคงยืดเยื้อ เพราะรัฐบาลไม่สนใจข้อเดือดร้อนของเกษตรกร ไม่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจเรื่องสินค้าการเกษตร

ขณะที่นายเฉลิม กล่าวว่า การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นผู้เรียกแขกให้กับรัฐบาลเอง และไม่มีตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ที่เข้าใจเกษตรกรอย่างแท้จริง เข้ามาร่วมรับฟังปัญหาอีกด้วย

ด้านนายสมคิด ไชยคชเดช ชาวบ้าน ต.กะปาง อ.ทุ่งสง ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม กล่าวว่า ม็อบครั้งนี้ไม่มีแกนนำ และในฐานะตัวแทนผู้เข้าร่วมชุมนุมขอยืนยันว่า ถ้ารัฐบาลไม่ส่งตัวแทนมาเจรจาให้ราคายางพาราอยู่ที่ 107 บาท/กก. ก็จะยังคงชุมนุมปิดถนนต่อไป ทั้งนี้ จะต้องบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุด้วยว่า จะรับรองราคา 107 บาท/กก. เป็นระยะเวลากี่ปี ส่วนกรณีที่ กสย. ประชุมกันที่กรุงเทพฯ ว่า จะประกันราคายางพารา 93 บาท/กก. นั้น ชาวบ้านรับไม่ได้ เพราะเม็ดเงินที่ตกถึงมือชาวบ้านจริงๆ คือ 70 บาท/กก. ซึ่งไม่ต่างจากที่เป็นอยู่ ดังนั้น จึงขอยืนยันว่าต้องการราคา 107 บาท/กก. 

สำหรับกรณีที่บุคลากรด้านการแพทย์ โรงพยาบาลชะอวด เข้าหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่สามารถนำผู้ป่วยหนักส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ รวมทั้งรถส่งเวชภัณฑ์ และผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางมายังโรงพยาบาลชะอวดได้นั้น นายสมคิด ไชยคชเดช ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม กล่าวว่า ทางกลุ่มผู้ชุมนุมยังยืนยันที่จะไม่เปิดเส้นทาง เนื่องจากยังมีทางเลี่ยงอื่นๆ ที่ยังใช้เดินทางไปได้ และทุกจุดก็มีป้ายบอกทางชัดเจน

ด้าน นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กล่าวยืนยันว่า จะไม่มีการใช้กำลังหรือความรุนแรงสลายการชุมนุมอย่างแน่นอน พร้อมทั้งได้สั่งการให้ทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางพาราตั้งศูนย์ประสานงาน และเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ตำรวจ อัยการจังหวัด และเกษตรกรที่เดือดร้อน มาพูดคุยทำความเข้าใจและรวบรวมปัญหาความเดือดร้อนให้รายงานเข้ามาที่กระทรวงมหาดไทย โดยเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราสามารถแจ้งความเดือดร้อนผ่านศูนย์ดังกล่าวได้ ไม่ต้องเดินทางมาที่กรุงเทพมหานคร