posttoday

"วราวุธ" ขึ้นเวที UN สำนักงานใหญ่ แถลงนโยบาย เรื่อง วิกฤตประชากรและการพัฒนา

30 เมษายน 2567

"วราวุธ ศิลปอาชา" รมว.พม.ขึ้นเวที UN สำนักงานใหญ่ ในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 กล่าวถ้อยแถลงรายงานสมุดปกขาวจากการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ เรื่องข้อเสนอเชิงนโยบาย 'วิกฤตประชากรและการพัฒนา'

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 เวลา 20:30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)  พร้อมด้วย นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะผู้แทนไทยเดินทางถึงสํานักงานใหญ่ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2567 เพื่อกล่าวถ้อยแถลง Country Statement เรื่อง ประชากรและการพัฒนา ในนามประเทศไทย  

ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ทำเวิร์คช็อปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร" พร้อมจัดทำรายงานสมุดปกขาว ข้อเสนอเชิงนโนบาย วิกฤตประชากรและสังคมสูงวัย ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 และวันนี้ (29 เม.ย. 67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย และหัวหน้าคณะผู้แทนไทย จะได้นำเสนอในที่ประชุมสหประชาติว่าประเทศไทยมีแผนในการรับมือกับปัญหาประชากรอย่างไร

 

\"วราวุธ\"  ขึ้นเวที UN สำนักงานใหญ่ แถลงนโยบาย เรื่อง วิกฤตประชากรและการพัฒนา

 

นายวราวุธ กล่าวว่า การเดินทางมาประชุมครั้งนี้ นอกจากตนจะเป็นตัวแทนของประเทศไทยแล้ว ตนยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่า 70 ประเทศ รวมถึงประเทศนิวซีแลนด์ วานูอาตู หมู่เกาะโซโลมอน หรือแม้แต่รัสเซีย รวมทั้งเซนทรัลเอเชีย อย่างเช่น ทาจิกิสถาน คาซัคสถาน เป็นต้น นับว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เข้าร่วมการประชุมที่มีความสำคัญต่ออนาคตของโลก และที่สำคัญการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 57 และยังเป็นการเฉลิมฉลองการครบรอบ 30 ปี ของการจัดประชุมครั้งแรกที่ประเทศอียิปต์ ดังนั้น จะมีความสำคัญในส่วนของเนื้อหาและสารัตถะที่จะนำเสนอมากพอสมควร เพราะว่าเราจะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้เตรียมความพร้อม และมีแนวโน้มที่จะแก้ไขปัญหาประชากรอย่างไร นอกจากนี้ จะมีการเสวนาร่วมกับอีกหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในระดับรัฐมนตรี ซึ่งตนจะขึ้นร่วมเสวนาในนามของประเทศไทยด้วยเช่นกัน

 

\"วราวุธ\"  ขึ้นเวที UN สำนักงานใหญ่ แถลงนโยบาย เรื่อง วิกฤตประชากรและการพัฒนา

ต่อมาในวันนี้ ( 30 เมษายน) รมว.พม. ได้นำเสนอ ในที่ประชุมกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาหลายมิติไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสาธารณสุข การพัฒนาอัตราการเกิดและการเสียชีวิตที่ลดน้อยลงของเด็กแรกเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังพูดถึงแผนงานโดยนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ในการที่จะมาช่วยแก้ปัญหาประชากรเกิดใหม่น้อย ปัญหาสังคมสูงอายุ และจะทำอย่างไรให้ประชากรมีปริมาณเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งต้องเรียนว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหลายฝ่าย จากที่มีการนำเสนอในห้องประชุมใหญ่สหประชาชาติ 


นายวราวุธ กล่าวว่า หลังจากนั้นได้มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีด้านสังคมของประเทศอังกฤษ ตามด้วยการพบกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาประชากรโดยตรง ซึ่งทั้งสองท่านให้ความสนใจและยืนยันว่าทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยรัฐมนตรีของอังกฤษยังให้การเน้นย้ำในเรื่องสิทธิสตรีและเด็กในมิติต่างๆ ซึ่งทางกระทรวง พม. จะบริหารงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับรัฐบาลในระดับนานาชาติต่อไป 

 

\"วราวุธ\"  ขึ้นเวที UN สำนักงานใหญ่ แถลงนโยบาย เรื่อง วิกฤตประชากรและการพัฒนา


นายวราวุธ กล่าวว่า ส่วนในช่วงบ่าย จะได้พบกับผู้นำระดับสูงของ UNDP -โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) เป็นหน่วยงานสำคัญในการประสานงานความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ ซึ่งให้ความสำคัญกับประเทศไทยอย่างยิ่งในหลายมิติ และความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กับการพัฒนาโครงสร้างประชากร โดยทั้งสองปัญหาดังกล่าวสามารถที่จะมีความเชื่อมโยงกันและมีผลกระทบอย่างยิ่งกับมนุษย์ ซึ่ง UNDP ให้ความสนใจ ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องข้อเสนอเชิงนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร และจากนี้ไปทางประเทศไทยโดยกระทรวง พม. จะทำงานร่วมกับ UNDP อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อจะแก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากรควบคู่กันไปกับการปรับตัวของประชากรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพแวดล้อมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย 


นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในวันพรุ่งนี้ ตนจะขึ้นเวทีเสวนาระดับสูงในช่วงเช้า ร่วมกับรัฐมนตรีประเทศต่างๆ และเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนาน (Side event)ในช่วงบ่าย ซึ่งจะได้นำเสนอเพิ่มขึ้น ว่าเราจะมีแนวทางอย่างไรและทำอะไรไปแล้วบ้างต่อที่ประชุมในเวทีการอภิปรายแบบคณะ