posttoday

จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดสุวรรณาราม งามระดับโลก

26 พฤษภาคม 2556

วันที่ 16 พ.ค. 2556 เป็นวันที่วัดสุวรรณารามมีความคึกคัก มีชีวิตชีวาเป็นพิเศษ เมื่อมีการแห่เจ้าอาวาสรูปใหม่ พระราชปริยัติเวที (สุชาติ) มาครองวัดนี้ หลังจากว่างเจ้าอาวาสระยะหนึ่ง เพราะเจ้าอาวาสรูปก่อนมรณภาพ

โดย...สมาน สุดโต

วันที่ 16 พ.ค. 2556 เป็นวันที่วัดสุวรรณารามมีความคึกคัก มีชีวิตชีวาเป็นพิเศษ เมื่อมีการแห่เจ้าอาวาสรูปใหม่ พระราชปริยัติเวที (สุชาติ) มาครองวัดนี้ หลังจากว่างเจ้าอาวาสระยะหนึ่ง เพราะเจ้าอาวาสรูปก่อนมรณภาพ

การรับเจ้าอาวาสรูปใหม่ จัดทำเป็นพิเศษโดยการแห่ทางกระบวนเรือหลวง จัดถวายโดยกองทัพเรือ จากท่าน้ำวัดดาวดึงษ์ ที่พระราชปริยัติเวทีเคยครองมาก่อน มาตามลำน้ำเจ้าพระยาผ่านสะพานพระปิ่นเกล้า เลี้ยวขวาเข้าสู่คลองบางกอกน้อย แล้วขึ้นที่ท่าน้ำวัดสุวรรณาราม จากนั้นพระราชปริยัติเวทีนั่งเสลี่ยงแห่รอบพระอุโบสถ 3 รอบแล้วเข้าสู่พระอุโบสถเพื่อรับชัยมงคลคาถาจากพระเถระอันมีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะใหญ่หนกลางเป็นประธาน

วัดโบราณ

สยามอัศจรรย์จึงแนะนำให้รู้จักวัดนี้พอคร่าวๆ เพื่อเชื้อเชิญให้ท่านผู้สนใจเข้าไปเก็บเกี่ยวสุนทรียารมณ์ด้วยตนเอง เพราะเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ครูด้านศิลปะเขียนภาพประชันกัน จนกระทั่งมีนักศิลปะบางท่านพูดว่าเป็นภาพเขียนฝาผนังที่สวยสุดแห่งหนึ่งในโลก

“วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร” เดิมชื่อ “วัดทอง” เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่เลขที่ 33 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา เคยเป็นที่ประหารเชลยพม่า ในสมัยพระเจ้ากรุงธน เพราะไม่ยอมไปร่วมรบด้วย

ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วัดทองถึงยุคเปลี่ยน เพราะทรงบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ ทรงสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร กำแพงแก้ว มีเก๋งข้างหน้า 2 เก๋ง พร้อมทั้งเสนาสนะใหม่ และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสุวรรณาราม”

นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงพระราชศรัทธาสร้างเครื่องป่าช้าขึ้น คือ เมรุ สำสร้าง หอสวด หอทิ้งทาน โรงโขน โรงหุ่น ระทา และพลับพลา โรงครัว พร้อมทุกอย่างถวายเป็นสมบัติในพระบรมมหาราชวัง สำหรับเป็นที่พระราชทานเพลิงศพอีกส่วนหนึ่ง จึงเป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีปลงศพสำคัญทั้งพระศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ เพราะเมื่อมีการพระราชพิธีหรือต้องนำศพออกไปพระราชทานเพลิง ณ วัดนอกกำแพงพระนคร แล้ว ต้องคำนึงถึงวัดที่มีคมนาคมสะดวกด้วย วัดสุวรรณารามตั้งอยู่ริมคลองจึงอยู่ในเกณฑ์ที่มีความสะดวก

กวีเอกแห่งประเทศไทย ท่านสุนทรภู่ เขียนถึงวัดสุวรรณารามในนิราศพระประธม เมื่อปี พ.ศ. 2385 รำพันถึงบุคคลอันเป็นที่รักที่จากไป คือ ฉิมและนิ่ม น้องสาวต่างบิดา ซึ่งเป็นแม่นมของพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง ศพของแม่นมทั้งสองโปรดให้นำมาปลงที่วัดสุวรรณารามแห่งนี้

“ถึงวัดทองหมองเศร้าให้เหงาเงียบ

เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าป่าช้าผี

สงสารฉิมนิ่มน้องสองนารี

มาปลงที่เมรุทองทั้งสองคน”

จิตรกรรมฝาผนัง

ความสวยงามของวัดมีให้ชมตั้งแต่บริเวณสังฆาวาส ที่มีสิ่งปลูกสร้างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น กุฏิสงฆ์ ที่เป็นบ้านทรงไทยโบราณ หอระฆังสูงใหญ่ดังป้อมปราการ เมื่อเข้ามาในเขตพุทธาวาสจะพบพระอุโบสถหลังงามที่สร้างเป็นท้องสำเภา

ไฮไลต์ของพระอุโบสถนอกจากพระศาสดาที่เป็นพระประธานงามสง่า ก็ได้แก่ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ใครเห็นเป็นหลงใหล และชื่นชมว่างดงามเหลือหลาย ภาพเหล่านี้เขียนเต็มผนังพระอุโบสถทุกด้านไม่เว้นแม้แต่บานประตู ทั้งหมดเขียนในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงค้นประวัติมาเล่าว่า ผนังชั้นล่างระหว่างหน้าต่างซึ่งได้เขียนเป็นภาพทศชาติชาดกแต่ละช่อง ด้านทิศตะวันออกเขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ ส่วนด้านตะวันตกเขียนเรื่องพระเจ้า 10 ชาติ ต่างก็เขียนโดยจิตรกรเอกในสมัยนั้น ชุมนุมกันอย่างครบครันและเขียนประกวดประชันกันด้วย ที่แข่งขันกันออกหน้าออกตาก็มีอยู่ด้วยกัน 2 ท่าน คือ อาจารย์ทองอยู่ ซึ่งมีราชทินนามว่า หลวงวิจิตรเจษฎา ลูกศิษย์มักจะเรียกท่านว่า ครูทองอยู่

อีกท่านหนึ่งก็คือ อาจารย์คงแป๊ะ ซึ่งมีราชทินนามว่า หลวงเสนีบริรักษ์

จิตรกรทั้งสองท่านนี้ต่างก็มีฝีมือที่ทัดเทียมกัน มีลูกศิษย์เชียร์กันคนละมิใช่น้อย

ภาพที่จิตรกรทั้งสองท่านได้เขียนไว้ที่ฝาผนังพระอุโบสถวัดสุวรรณารามนี้ เขียนอยู่บนฝาผนังทิศตะวันตกและเขียนข้างเดียวกันด้วย โดยครูทองอยู่เขียนเรื่องเนมิราช ตอนพระเจ้าเนมิราชชมนรก

ส่วนอาจารย์คงแป๊ะเขียนเรื่องพระมโหสถ

เมื่อเทียบฝีมือระหว่างท่านทั้งสองแล้วก็จะเห็นข้อที่แตกต่างกันบ้าง คืออาจารย์ทองอยู่นั้นท่านจะเขียนแบบไทยแท้ การจัดวางภาพเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก ฝีมือนั้นยอดเยี่ยม เมื่อเห็นราชรถทรงของพระเจ้าเนมิราชแล้วก็ต้องนับว่าวิเศษมาก การจัดภาพได้พอดีไม่ขาดไม่เกิน

ผิดกับอาจารย์คงแป๊ะ เขียนเรื่องพระมโหสถ ซึ่งเขียนเป็นขบวนทัพเต็มไปด้วยผู้คนทั้งจีน จาม ไทย ฝรั่ง มากหน้าหลายภาษา

ถ้าจะว่ากันในด้านฝีมือแล้ว ท่านทั้งสองเขียนได้ละเอียดประณีตมาก สมกับเป็นครูช่างที่คนเขายกย่องนับถือ เมื่อได้เห็นฝีมือก็ไม่แปลกใจเลยที่ว่า เหตุใดพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานอภัยโทษให้ในขณะที่ลูกขุนพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตเพราะกระทำความผิดในการฆ่าคน ทรงตรัสว่า “ช่างฝีมือยอดเยี่ยมอย่างคงแป๊ะนี้หายาก กรณีที่กระทำความผิดคงจะไม่มีเจตนา คงจะลืมตัวไปชั่วขณะเสียมากกว่า”

นอกจากนี้ ภาพจิตรกรรมตอนอื่นๆ ก็งดงามทุกภาพ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่รู้จักชื่อเสียงของท่านผู้เขียนเหล่านั้น เช่น ภาพพระสุวรรณสาม เป็นต้น ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดสุวรรณารามนี้ เป็นที่ชุมนุมของบรรดาจิตรกรที่มีฝีมือชั้นยอดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 อย่างครบครันทีเดียว

ผู้ที่ไปชมงานเช่นเป็นศิลปิน ชมแล้วเขียนชมไว้มากท่านด้วย นอกจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แล้ว รุ่นหลัง 2500 ก็มี น. ณ ปากน้ำ เป็นต้น

เมื่อครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ได้ฝากงานฝีมือชั้นเทพไว้ให้ลูกหลานชื่นชม ดังที่มีผู้เขียนชมว่าอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ภาพเนมิราชชาดกของครูทองอยู่ “เหนือชั้น” กว่าจิตรกรรมไทยภาพอื่นๆ คือ ฝีมือการเขียนใบหน้าของตัวพระ ตัวนาง หรือเทวดา นางฟ้า ซึ่งว่ากันว่า หากไม่เก่งจริง เขียนออกมาแล้วจะดูแบน แข็งเหมือนสวมหน้ากาก แต่ภาพของครูทองอยู่นั้น เหล่าเทวดาและนางฟ้าเข้าขั้น “หล่อ” และ “สวย” มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะท่วงท่ามือไม้และนิ้วมือที่อ่อนช้อย หวาน สวยงามมาก

ภาพที่พระเนมิแสดงธรรม ค่อนข้างจะเคร่งขรึมสำรวม บรรยากาศจึงออกมาทางโอ่อ่า สง่างาม และสงบนิ่ง ตาครูทองอยู่ได้เพิ่มความมีชีวิตชีวา ไม่ให้ภาพแห้งแล้งขาดอารมณ์ ด้วยการวาดเทวดานางฟ้า 4 คู่ หยอกล้อโรแมนติกกันอยู่บริเวณต้นไม้นอกกำแพงแก้ว

สรุปว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถวัดสุวรรณาราม เป็นสิ่งอัศจรรย์ที่คนไทยต้องไปดูและช่วยกันหวงแหน เพราะเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับการยอมรับว่าสวยที่สุดในโลก