posttoday

สุญญากาศมหาดไทยนายใหญ่ยังคุมเบ็ดเสร็จ

03 ตุลาคม 2555

พลันที่ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

พลันที่ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ก็เกิดภาวะไร้การควบคุมขึ้นทันทีที่กระทรวงมหาดไทย เพราะผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) ที่กำลังจะถูกแต่งตั้งโยกย้ายใหม่ ไร้ทิศทาง และมองหาอนาคตตัวเองกันหมด ยังดีที่โผรายชื่อได้รับอนุมัติจากนายใหญ่อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไว้แล้ว ทำให้ผ่านเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเรียบร้อยโรงเรียนจีน ไม่พลิกโผอย่างที่ ผวจ.หลายคนกังวล

ย้อนหลังไปเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน การด่วนตัดสินใจลาออกของยงยุทธอย่างกะทันหันนั้น ไม่ได้สร้างความเศร้าโศกเสียใจต่อข้าราชการกระทรวงมหาดไทยมากมายนัก แม้ยงยุทธจะเคยเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยมาเมื่อ 10 ปีก่อน และเข้าใจวัฒนธรรมนายลูกน้อง รวมถึงระบบอุปถัมภ์ของกระทรวงคลองหลอดแห่งนี้เป็นอย่างดี แต่ในฐานะนักการเมือง รวมถึงในตำแหน่งรัฐมนตรี กลับไม่ได้โดดเด่นพอในการทำหน้าที่คิดนโยบาย เร่งปฏิบัติงาน หรือสั่งการกระชับฉับไว ข้าราชการในกระทรวงนี้ยังคงมองเขาเป็น “ปลัดยงยุทธ” สามัญธรรมดาคนหนึ่งไม่ต่างจากเมื่อปี 2545

ว่ากันว่า วันที่ยงยุทธตัดสินใจลาออกนั้น ข้าราชการน้อยใหญ่โล่งอกกันเป็นแถว บางคนเปรยขึ้นมาด้วยซ้ำว่า ให้ยงยุทธไปก็ดี เผื่อจะมีเวลาเดินตามยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมากขึ้น และไม่ต้องใช้เวลาที่ควรจะทำงานในกระทรวงมหาดไทย ไปเดินตามยิ่งลักษณ์อีกต่อไป

จะมีข้อดีอยู่อย่างเดียวก็คือยงยุทธนั้น สามารถเข้ามาจัดทัพหน้าข้าราชการใหม่ โดยนำเอาระบบอาวุโสกลับมาอีกครั้ง หลังจากถูกทำลายลงในรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่พรรคภูมิใจไทย แผ่ขยายอำนาจปกคลุมกระทรวงนี้ ทำให้ข้าราชการหลายคนได้ลืมตาอ้าปากอีกครั้ง ยกตัวอย่าง พระนาย สุวรรณรัฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้กลับมาเป็นเบอร์ 1 ก็ช่วงของยงยุทธ หรือพลพรรคสิงห์ดำ หรือศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นน้องของยงยุทธก็ได้ยกโขยงกลับมาครองตำแหน่งใหญ่ในยุคนี้อีกครั้ง หลังจากถูกกดอยู่ใต้สิงห์แดง หรือศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงก่อนหน้านี้

แต่ด้วยความเฉื่อยชาของเขานี่เอง ทำให้ฝ่ายการเมืองต้องตั้งคณะทำงานที่แข็งปึ้กให้กับยงยุทธ ด้วยการส่ง ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ มือขวานายใหญ่ เข้ามากำกับดูแลอย่างใกล้ชิดในตำแหน่งเลขานุการ รมว.มหาดไทย เพื่อทำหน้าที่สั่งการ รวมถึงกระตุ้นยงยุทธ อีกชั้นหนึ่ง และยังต้องการสลายความแข็งแกร่งของบรรดาพลพรรคแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อย่าง อารี ไกรนรา อดีตเลขานุการ รมว.มหาดไทย ที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาก่อนหน้านี้ เนื่องจากแกนนำ นปช.หลายคนต้องการเข้าไปล้วงลูกการแต่งตั้ง ผวจ.เกือบทุกจังหวัด

เมื่อมีทีมงานที่แข็งแกร่งแล้ว ยงยุทธใต้ปีกผดุงและนายใหญ่ จึงรับหน้าเสื่องานในกระทรวงมหาดไทย ทั้งการปราบปรามยาเสพติด การกระจายการจัดจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การจัดการสาธารณภัย และที่สำคัญที่สุดก็คือ การจัดงานประชาเสวนาเพื่อหาทางออกในการร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะจัดขึ้นในระดับตำบล ทุกตำบลทั่วประเทศ

สุญญากาศมหาดไทยนายใหญ่ยังคุมเบ็ดเสร็จ

 

ขณะเดียวกันงานในฐานะรองนายกรัฐมนตรีนั้น ยงยุทธเป็นรองนายกรัฐมนตรีอันดับที่ 1 หรือเป็นเบอร์ 2 รองจากยิ่งลักษณ์ ดูแลตั้งแต่ คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ซึ่งทำหน้าที่ติดตามงานของคณะกรรมการ คอป. ที่มี คณิต ณ นคร เป็นประธาน รวมถึงงานของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และงานของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และยังกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงคมนาคมอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังรับผิดชอบงานเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประธานคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติอีกด้วย

เหตุที่รับงานมากขนาดนี้ เพราะทักษิณและยิ่งลักษณ์เชื่อร่วมกันว่ายงยุทธคือรัฐมนตรีเพียงไม่กี่คนที่สามารถสั่งซ้ายหัน ขวาหันได้ ไม่แข็งข้อ รวมถึงไม่สร้างขุมกำลังขึ้นมาต่อต้านอำนาจของนายใหญ่ สังเกตได้จาก 3 ปีที่ผ่านมา ที่ยงยุทธยังยอมเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้ ไม่ว่าพรรคจะตกต่ำเพียงใด ทักษิณจึงกล้าที่จะเลือกข้าราชการอาวุโสคนนี้เพื่อให้ทำงานสำคัญ ที่เป็นหน้าตาของรัฐบาล

ยงยุทธเคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า เขามีที่ปรึกษาทางการเมืองอยู่ 2 คนได้แก่ทักษิณและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี น้องเขยทักษิณ ส่วนเจ้านายเขามีคนเดียวที่ต้องฟังก็คือยิ่งลักษณ์ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นว่าทั้งสามคนตัดสินใจให้ยงยุทธลาออกจากตำแหน่งเพื่อป้องกันรัฐบาลของนายใหญ่ให้อยู่รอดแทน

วันนี้ แม้ยงยุทธจะออกจากทั้งสองตำแหน่งไปแล้ว แต่ยิ่งลักษณ์ได้มอบหมายงานเดิมของยงยุทธให้รองนายกรัฐมนตรีอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กิตติรัตน์ ณ ระนอง และยุทธศักดิ์ ศศิประภา ดูแลแทน ส่วนผดุง มือขวาตัวจริงนายใหญ่ยังคงกุมอำนาจส่วนหนึ่ง ซึ่งเขายังคงเข้ามาทำงานที่กระทรวงคลองหลอดอย่างต่อเนื่อง แม้ในทางนิตินัยจะหลุดจากตำแหน่งเลขานุการ รมว.มหาดไทย ไปแล้ว และยิ่งลักษณ์ได้มอบหมายให้ ชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย รักษาการ รมว.มหาดไทย แทนก็ตาม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่ายิ่งลักษณ์หรือทักษิณ ก็ไม่ไว้ใจชูชาติให้คุม ผวจ.ทุกจังหวัดและกลไกอื่นๆ ของมหาดไทยได้ เพราะชูชาติเองก็ไม่ได้มีผลงานอะไรตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกับยงยุทธ และข่าวเกี่ยวกับชูชาติที่นำเสนอในหน้าหนังสือพิมพ์ ก็มักเป็นข่าวในด้านลบที่เกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์ของชูชาติมากกว่า

เพราะฉะนั้น นายใหญ่จึงไม่สามารถปล่อยให้เกิดภาวะสุญญากาศ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องส่ง “บิ๊กเหลิม” และผดุงมาเป็นตัวตายตัวแทนไว้คอยคุมบรรดาสิงห์น้อย สิงห์ใหญ่ที่กระทรวงนี้ มากกว่าที่จะปล่อยให้ วิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงป้ายแดง เพื่อนซี้ของ ภูมิธรรม เวชยชัย ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา จัดการแต่เพียงผู้เดียว

เนื่องจากช่วงเวลาสุญญากาศแบบนี้ เหมาะยิ่งนักที่นักการเมืองหลากขั้ว หลายสายจะมุ่งหน้ามาที่กระทรวงแห่งนี้เพื่อฝากข้าราชการในกำมือของตัวเอง ให้เข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญ ขณะเดียวกันก็อาจจะมีนักการเมืองหัวใสบางคน ตั้งตัวเองเป็นนายหน้า รับซื้อขายตำแหน่งในเวลาที่ไม่มีรัฐมนตรี

งานช้างต่อไปของทักษิณและยิ่งลักษณ์ก็คือ ทำอย่างไรจะหาคนที่ไว้ใจได้ สั่งซ้ายหันขวาหันได้ มาทำหน้าที่แทนยงยุทธ โดยไม่แข็งข้อ และไม่ไปบดบังรัศมีผู้นำของยิ่งลักษณ์ให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้สุญญากาศที่กระทรวงแห่งนี้นานเกินไป จนต้องเสียการควบคุมในที่สุด