posttoday

เตือนสื่อฯลดเสนอดราม่า

24 กันยายน 2555

วงเสวนาสภาการนสพ.เตือนสื่อเน้นเสนอแต่เรื่องดราม่าทำผู้คนเสพติดความสะใจ คนถามเรื่องสื่อทัวร์ยุโรปกับขุนค้อนเหมาะหรือไม่

วงเสวนาสภาการนสพ.เตือนสื่อเน้นเสนอแต่เรื่องดราม่าทำผู้คนเสพติดความสะใจ คนถามเรื่องสื่อทัวร์ยุโรปกับขุนค้อนเหมาะหรือไม่

เตือนสื่อฯลดเสนอดราม่า

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้จัดงานเสวนา “จริยธรรมสิ่อยุคหลอมรวม” ในโอกาสครบรอบ 15 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยเมื่อเวลา 13.40 ได้มีการเสวนากลุ่มย่อย ในหัวข้อ “ครูอังคณาจัดระเบียบสื่อ” โดยที นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ นางอังคณา แสบงบาล ครูโรงเรียนกระทุ่มแบน วิเศษสมุท หรือครูอังคณา คุณนายวรัชญ์ ครุจิต ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศสาสตร์มหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีปทุม เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อในปัจจุบัน

นางอังคณา เปิดเผยว่า หลังจากมีกระแสในโลกออนไลน์ จากคลิป “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” ของด.ช.โต๊ด และด.ช.บอล เมื่อช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้โดนแอบอ้างในโลกออนไลน์ และโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค รวมถึงโลกภายนอกด้วย เช่น การสร้างแฟนเพจปลอม เพื่อโพสต์รูปตัดต่อ ใช้ถ้อยคำหยาบคาย หรือโพสต์รูปภาพลามก หรือแม้กระทั่งแอบอ้าง เพื่อเปิดร้านขายกล้วยทอด หรือทำน้ำจิ้ม ทำให้ในอ.กระทุ่มแบน มีแต่ชื่อครูอังคณาเต็มไปหมดรวมถึงการปล่อยข่าวว่าปัจจุบันครูอังคณารับงานอีเว้นท์ โดยเรียกค่าตัวในการออกงาน ทั้งที่หลังเกิดเหตุ ไม่ได้ทำอะไรเหล่านี้ทั้งสิ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบัน กระแสสามารถเผยแพร่ได้ง่ายมาก และใช้เวลารวดเร็ว ซึ่งหากไม่สร้างการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็กและเยาวชน ก็จะทำให้เด็กสามารถหลงเชื่อได้ง่าย

“ปัจจุบัน เด็กนิยมใช้สื่อออนไลน์จำนวนมาก ซึ่งอันตราย เนื่องจากมีทั้งเรื่องจริง และข้อคิดเห็นปนกันไปมา ทำให้การเลือกเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ แม้โดยส่วนตัวจะสอนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ แต่ก็จำเป็นต้องเผยแพร่เรื่องของการรับสื่อ และใช้สื่อของเด็กว่าควรต้องคิดให้มากๆ ก่อนโพสต์อะไรเข้าสู่โลกออนไลน์ รวมถึงต้องสอนในเรื่องการรู้เท่าทัน ว่าเลือกเชื่ออะไรได้บ้าง รวมถึงข้อดีหรือข้อเสียของแต่ละสื่อเป็นอย่างไร” นางอังคณากล่าว

ขณะที่นายวรัชญ์กล่าวว่า ในปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ  ทำให้ช่องว่างระหว่างผู้รับสาร และผู้ส่งสาร แคบลงทุกวัน ปัจจุบัน ใครก็สามารถเป็นผู้ส่งสารได้ทั้งหมด เมื่อผู้ส่งสารสามารถส่งสารได้โดยตรง การคัดกรองอีกขั้นตอนก็ขาดหายไป ขณะเดียวกันยุคหลอมรวมนั้น ข่าวหนึ่งข่าว ก็สามารถแตกประเด็นได้หลายส่วน หนังสือพิมพ์อาจจะนำเสนอรูปแบบหนึ่ง ข่าวทีวีก็อาจจะเสนออีกรูปแบบหนึ่ง

ขณะเดียวกันสื่อออนไลน์อาจจะทำภาพตัดต่อเพื่อล้อเลียนเหตุการณ์ขึ้นแทน ซึ่งจริยธรรมยุคหลอมรวมต้องช่วยกันบอกกับผู้รับสารว่าสิ่งที่ปรากฎในสื่อไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นเป็นอย่างเดียว แต่เกิดจากการประกอบสร้างจากใครก็ได้

นายวรัชญ์กล่าวอีกว่า การทำข่าวของสื่อมวลชนกลายเป็นเน้นเรื่องความดราม่า หรือความน่าเห็นใจ มากกว่าจะเสนอข่าวตามข้อเท็จจริงอย่างเดียว ทำให้ผู้รับสื่อหลายคนเสพติดความสะใจเพิ่มเติมจากเนื้อหาข่าวเข้าไปด้วย จนเกิดอารมณ์ร่วมกับข่าวตามมา จึงอยากฝากสื่อมวลชนว่าไม่ควรสร้างความตื่นระหนกมากเกินไป แต่ให้เน้นเรื่องของข้อเท็จจริง และการให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เป็นข่าวมากกว่าจะใช้กระบวนการเพื่อสร้างความเห็นใจเพียงอย่างเดียว

ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศสาสตร์มหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวอีกว่า สื่อมวลชนบางแห่ง เกิดขึ้นโดยมีวาระส่วนตัวโดยไม่ได้ต้องการให้ข้อมูลความรู้กับผู้ชมเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องการชี้นำให้ผู้ชมคล้อยตามในสิ่งที่นำเสนอเท่านั้น จึงอยากตั้งความหวังไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการตรวจสอบสื่อเหล่านี้มากขึ้น ทั้งนี้สื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตย ควรจะทำให้สังคมไม่เกิดความขัดแย้ง และเสนอทางออกให้กับปรากฎการณ์ต่างๆ ได้ด้วย

ขณะที่นายสัก กล่าวว่า สื่อมวลชนไม่ได้มีหน้าที่ให้ความเห็นลงไปปะปนกับเนื้อข่าว แต่ข่าวต้องนำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงเท่านั้น ซึ่งก่อนที่จะนำเสนอแต่ละข่าว ควรต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนว่า ข่าวดังกล่าวเสนอไปแล้วมีข้อดีและข้อเสียอะไร และให้ประโยชน์กับสังคม รวมถึงต้องไม่ใช้สิทธิเสรีภาพ ที่มีอยู่มากมาย ในการทำให้คนอื่นเดือดร้อน ด้วยการนำเสนอเพียงฝ่ายเดียว ไม่ให้อีกฝ่ายพิสูจน์ความจริง  รวมถึงต้องไม่สร้างความขัดแย้งและความเกลียดชังในสังคมให้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีก Ffpมองว่ากระบวนการตรวจสอบกันเองสามารถใช้ได้อยู่แล้ว แต่อยากให้เพิ่มกระบวนการรู้เท่าทันในเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังผู้ดำเนินรายการได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานซักถามผู้เข้าร่วมเสวนา โดยผู้ร่วมงานได้ซักถามอย่างมีอารมณ์ว่าการที่สื่อมวลชนซึ่งมีความใกล้ชิดกับคนเสื้อแดงได้เดินทางร่วมกับประธานรัฐสภา ไปทัวร์ยุโรปมีความเหมาะสมหรือไม่ และกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ชี้มูลความผิดนายสรยุทธ  สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการข่าวชื่อดังว่ามีการยักยอกเงินของอสมท.นั้นผู้เข้าร่วมเสวนามีความคิดเห็นอย่างไร และคิดว่าเป็นความตกต่ำของวงการสื่อมวลชนหรือไม่

ทั้งนี้ผู้ดำเนินรายการได้พยายามยุติการถาม  เนื่องจากมีการใช้เสียงดังและใส่อารมณ์ลงไป และนายสักในฐานะผู้ร่วมเสวนากล่าวว่า  ทั้ง 2 เรื่องมีขั้นตอนทางกฎหมายในการตรวจสอบอยู่แล้ว ผู้ถามจึงแสดงความไม่พอใจโดยระบายกับผู้คนที่นั่งอยู่รอบข้างว่า  สภาการหนังสือพิมพ์เป็นสื่อมวลชนหรือไม่ ทำไมไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนพูดบ้าง และทำไมจึงไม่ตอบคำถาม