posttoday

ม็อบรุนแรงติดกับดักรัฐ ศึกไล่ประยุทธ์...ไม่จบง่ายๆ

14 สิงหาคม 2564

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

**************

หากม็อบแนวร่วมกลุ่มราษฎรที่นัดชุมนุมต่อต้านรัฐบาลวันเว้นวันไม่ยึดหลักสันติวิธีอย่างเคร่งครัด แต่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ ย่อมสร้างผลเสียกับม็อบเอง และยิ่งเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลสร้างความชอบธรรมเพื่อใช้ความรุนแรงคุมม็อบ

การที่ม็อบใช้ความรุนแรงตอบโต้เจ้าหน้าที่เผารถ ป้อม ตำรวจ ทำลายสถานที่ราชการ ปาระเบิดเพลิง ประทัดยักษ์ กระทั่งยิงกระสุนจริงใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้ม็อบถดถอย อ่อนกำลัง ขาดแนวร่วมและเสี่ยงต่อการเปิดทางให้มือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์ ยกระดับให้เกิดความวุ่นวายเพื่อหวังผลเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แม้รัฐบาลถูกวิจารณ์หนักว่า ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ รัวกระสุนยาง แก๊สน้ำตาใส่ม็อบไม่ยั้ง โดนกระทั่งสื่อมวลชนที่รายงานข่าว แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่า เมื่ออีกฝ่ายใช้ความรุนแรง ก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าควบคุมสถานการณ์

หากม็อบสามนิ้วมุ่งมั่นเดินแนวทางนี้ไม่ปรับเปลี่ยนยุทธวิธี ไม่กลับมายืดแนวทางสันติวิธี สู้ระยะยาวเพื่อถอดรื้อระบอบประยุทธ์ ก็จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายลำบาก เหมือนที่ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ทวีตข้อความเมื่อวันที่ 10 ส.ค.

"วันนี้ไม่ใช่การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของเรา เรายังต้องการพลังจากพี่น้องมวลชนทุกคนในการต่อสู้ครั้งต่อไป วันนี้พวกเราบรรลุเป้าหมายเบื้องต้นแล้ว ขอให้มวลชน (ที่ดินแดงในช่วงเย็น) กลับบ้านโดยทันที เพื่อออกมาต่อสู้ร่วมกันในครั้งต่อไป"

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างม็อบกับเจ้าหน้าที่ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพราะไปช่วยกลบปัญหาการบริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลวในการแก้วิกฤตโควิด เล่นการเมือง ไม่จัดหาวัคซีนให้ทันจนประชาชนล้มตาย ยอดติดเชื้อพุ่งไม่หยุด การล็อคดาวน์ที่ไม่มีบทสรุป

ทั้งหลายทั้งปวง ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลประยุทธ์ ทำให้เกิดม็อบต่อต้านขึ้น เพราะผิดสัญญากับประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะการประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง สุดท้ายหลอกลวง เพียงเพราะต้องการรักษาความได้เปรียบจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ สว.250 คน โหวตเลือกนายกฯ ได้ เหล่านี้เป็นแรงกดทับ สะสม ความไม่พอใจให้กับประชาชน คนหนุ่มสาว ฝ่ายการเมือง กระทั่งภาคธุรกิจ ที่เห็นกติกาที่ไม่เป็นธรรมยังถูกใช้อยู่ต่อไป

ไม่เฉพาะม็อบสามนิ้วที่ออกมาขับไล่ ยังมีม็อบไทยไม่ทนกลุ่ม อดุลย์ เขียวบริบรูณ์ ที่มี จตุพร พรหมพันธุ์ ขับไล่ ที่ไม่พอใน พล.อ.ประยุทธ์ สัญญา จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมเหลืองแดงในอดีต แต่บริหารประเทศมา 7 ปี ก็ไม่ทำตามคำมั่น ส่วนคาร์ม็อบของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นม็อบที่ใกล้ชิดกับ ทักษิณ ชินวัตร มาตามมกระแสตีคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเพราะใกล้การเลือกตั้ง

แม่น้ำหลายสายของม็อบจึงเกิดขึ้น แม้ในสถานการณ์โควิด การติดเชื้อสูง แต่ก็ไม่เกรงกลัว ถ้าไม่ใช่สถานการณ์โควิด น่าสนใจว่า อาจมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมมากกว่านี้ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยทอดไมตรีจะรับฟังกลุ่มต่างๆ อยากให้รัฐสภาเป็นที่แก้ปัญหา แต่สถานการณ์การเผชิญหน้า การปะทะ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นวันเว้นวัน การจับกุมดำเนินคดีแกนนำ ทำให้การพูดคุยหาทางออกถูกปิดประตู ตรงกันข้ามสร้างปมร้าวลึกขึ้น

หากย้อนกลับไปดูยุทธวิธีของม็อบจากมวลชนนับหมื่นจนมาถึงวันนี้ที่พลังบนถนนลดลง ก็พบกับพัฒนาการที่เปลี่ยนไป...

ตลอดเดือนสิงหาคม แนวร่วมราษฎรนัดชุมนุมผ่านกลยุทธ์ คาร์ม็อบและเดินเท้ารวม 5 ครั้ง ส่วนใหญ่นัดหมายที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป้าหมายไปที่บ้านพักนายกฯ กรมทหารราบที่ 1 ถนนวิภาวดี-รังสิต แต่ทุกครั้งที่ประกาศยุติชุมนุมช่วงเย็นเหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ชุมนุมสายฮาร์ดคอร์เข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ ฝ่ายความมั่นคงมองว่า นี่เป็นแผนเพื่อไม่ต้องให้แกนนำแสดงความรับผิดชอบ หากเกิดความรุนแรง

สมรภูมิดินแดง และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จึงเป็นพื้นที่ทำสงครามของสองฝ่าย ที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ม็อบผ่านไปบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จึงเร่งตอบโต้ ใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา ตัดตอนไม่ให้ม็อบขยายตัว

การนัดชุมนุมผ่านทางโซเชียลใช้เมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นยุทธวิธีหลบเลี่ยงไม่ให้มีแกนนำถูกดำเนินคดี และสร้างพลังแกนนอน ในช่วงแรกอาจกดดันรัฐบาลได้ เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ช่วงหลังที่รัฐบาลล้มเหลวแก้โควิด แกนนำม็อบหวังเร่งเครื่อง ต้องการปิดเกมให้เร็ว แกนนำหลายคนเชื่อ รัฐบาลประยุทธ์ กำลังโคม่า ภาวะความเชื่อมั่นดำดิ่งต่ำสุดนับแต่เป็นรัฐบาลมา 2 ปี และยิ่งใกล้อภิปรายไม่ไว้วางใจในปลายเดือน ส.ค. ที่จะเป็นเวทีฝ่ายค้านน็อครัฐบาลในสภา จึงหวังว่า ต้องรีบใช้ช่วงนี้น็อครัฐบาลให้ได้ จัดชุมนุมรัวๆ เมื่อเลยเถิดไปถึงใช้อาวุธ ความรุนแรง สู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ความชอบธรรมจึงลดลง

ปัญหาของม็อบราษฎรที่ถือเป็นพลังคัดค้านความไม่เป็นธรรม ทว่าช่วงหลัง มีแนวร่วมหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว ฝ่ายบู๊ บุ๋น ฮาร์ดคอร์ มีนักวิชาการฝ่ายซ้ายเป็นที่ปรึกษา พรรคฝ่ายค้านก้าวไกล สนับสนุน ใช้ตำแหน่ง สส. ประกันตัวแกนนำที่ถูกจับกุม ม็อบราษฎรใช้ยุทธวิธีแยกกันเดิน รวมกันตี แต่เป้าหมายหลัก คือ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ยังไม่ลดละจนถึงวันนี้ เป็นอีกเหตุผลที่เป็นตัวสกัดม็อบในตัวเอง

การที่แกนนำมุ่งมั่น ผลักดัน ข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน กล่าวโจมตีบนเวทีชุมนุม รวมถึง นำภาพล้อเลียน รุนแรงปรากฎในที่ชุมนุมหลายครั้ง ทำให้ขาดแนวร่วม ประชาชนจำนวนมากไม่เอาด้วย รัฐบาลดำเนินคดีกับแกนนำด้วยข้อหารุนแรง คือ ผิดมาตรา 112 หมิ่นสถาบัน มาตรา 116 สร้างความปั่นป่วน แม้ต่อมาแกนนำส่วนใหญ่ ได้รับประกันตัวในชั้นศาล แต่ก็มีเงื่อนไขห้ามกระทำผิดซ้ำ ห้ามจัดชุมนุมอีก ทำให้ม็อบอ่อนพลังลง

ฝ่ายความมั่นคงเองเชื่อว่า ม็อบราษฎร มีแกนนำระดับบิ๊กอยู่เบื้องหลัง ทำงานเป็นระบบ ออกแบบการชุมนุมผ่านทางทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค สลับกันเล่น ให้พวกฮาร์ดคอร์ไปลุยเพื่อหวังจะมีเหยื่อจากเหตุการณ์ จะได้ยกระดับสถานการณ์ ขยายผล โจมตีรัฐว่า ทำร้ายประชาชนเสียชีวิต

จุดจบของสถานการณ์การต่อสู้จะเป็นอย่างไร ณ วันนี้ ประเมินได้เพียงว่า การชุมนุมมีแนวโน้มยืดเยื้อ แต่เชื่อว่า ม็อบจะปรับยุทธวิธี ความรุนแรงแบบสงครามกลางเมืองจะไม่น่าเกิดขึ้น เพราะใกล้เลือกตั้งในปีหน้า ที่ฝ่ายรัฐบาลคะแนนนิยมหดหาย และน่าเป็นโอกาสของฝ่ายค้านที่ชนะเลือกตั้งสร้างอำนาจต่อรอง ดังนั้น กลุ่มหนุนม็อบอาจปรับเปลี่ยนมาเดินในแนวสันติ เน้นรบยาว

ม็อบราษฎร จึงไม่ยุติง่ายๆ เพราะคนหนุ่มสาว นักเรียน นักศึกษาถูกปลุกให้เห็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม เป็นสงครามความคิดใหม่ของประเทศที่ไม่ใช่เรื่องระบอบทักษิณเหมือนเดิม แต่เป็นเรื่องปฏิรูปสถาบัน ที่ยังเป็นวาระการสู้รบต่อไปอีกหลายปีถึงการเลือกตั้งมีรัฐบาลหน้า กระทั่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่********************