posttoday

พฤษภาคม “วันแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ”

17 พฤษภาคม 2564

โดย ดร.พัทธ์ธีรา  นาคอุไรรัตน์

*****************************

วันที่ 16 พฤษภาคมของทุกปี สหประชาชาติประกาศให้เป็น “วันแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” (International Day of Living Together in Peace) ตามมติที่ 72/130 ลงวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2017  

ด้วยมตินี้ สหประชาชาติเชิญชวนนานาชาติระดมความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศอย่างสม่ำเสมอเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมสันติภาพให้แพร่หลาย อันได้แก่ การรับฟังกันด้วยหัวใจที่เปี่ยมความเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูลใส่ใจซึ่งกันและกัน  มีความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง มีความมุ่งมาดปรารถนาดีต่อกัน และมีความพร้อมที่จะอยู่ร่วมและปฏิบัติต่อกันอย่างเคารพและให้เกียรติในความเป็นมนุษย์เสมอกัน และที่สำคัญคือ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายใต้ความหลากหลายเพื่อให้โลกมีสันติภาพที่ยั่งยืน

ตลอดปี 2020 มาจนถึงปี 2021 การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของผู้คนทั่วทุกมุมโลกถูกสั่นคลอนด้วยภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่เพียงแต่จะนำความทุกข์ใจ ทุกข์กายต่อผู้คนในโลกใบนี้เท่านั้น ยังได้นำความพลัดพรากจากกันชั่วนิรันดร์มาสู่หลายครอบครัวอย่างไม่ทันได้เอ่ยคำลาและไม่มีโอกาสได้ไปส่งกันจนถึงหลุมฝังศพ ทั้งยังทิ้งความหวาดระแวงต่อกันว่าจะเป็นผู้นำเชื้อโรคร้ายมาเผยแพร่อีกด้วย นอกจากนี้ ยังก่อปัญหาความอดอยากยากจน อาชญากรรม และการช่วงชิงเอารัดเอาเปรียบมากมายเพื่อดิ้นรนให้ได้เข้าถึงยาและการรักษาโรคอุบัติใหม่ สภาวะเช่นนั้นผลักให้โลกทั้งใบตกอยู่ในบรรยากาศที่ไม่มีสันติภาพและความมั่นคงในการดำรงอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์เท่าที่ควร

ต้นปี 2021 สถานการณ์ทางการเมือง “เมียนมาร์” ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ผู้คนจำนวนมากแทบทุกชาติพันธุ์ออกจากบ้านประท้วงบนท้องถนนอย่างสันติไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านรัฐประหาร ด้วยพวกเขาตระหนักว่ากว่า 40 – 50 ปีภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหารนั้นไม่ได้เอื้อให้พวกเขามีโอกาสที่เป็นธรรมเพียงพอที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีเสมอกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายแม้อยู่ในประเทศเดียวกัน ชาวโรฮิงญาถูกกระทำความรุนแรงอย่างโหดร้าย ชาติพันธุ์อื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบจากระบอบเผด็จการในรูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนั้น พวกเขาจึงพร้อมใจกันลุกขึ้นออกจากบ้านเพื่อต่อต้านระบบที่จะกดทับพวกเขาอีก ทว่าก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงไร้มนุษยธรรม ลูกเล็กเด็กแดงต้องประสบกับสภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่และครอบครัว ต้องหนีตายไปตามชายแดน บางส่วนพยายามที่จะขอเข้ามาพักพิงในประเทศไทย ทว่าก็ถูกผลักไสอย่างไร้มนุษยธรรมเช่นกัน

ไกลออกไปยังดินแดนอิสราเอล – ปาเลสไตน์ การโจมตีครั้งใหม่เริ่มต้นอย่างรุนแรงอีกครั้งเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า ส่งผลให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย สั่นสะเทือนสันติภาพและการอยู่ร่วมกันในสังคมโลกและเป็นคำถามท้าทายต่อเราทุกคนในฐานะเป็นพลเมืองของโลกใบเดียวกันว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างไร หากเรายังไม่ใส่ใจในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และร่วมมือผสานกำลังอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการยับยั้งความรุนแรง การเอารัดเอาเปรียบ เพิ่มความเมตตากรุณาเกื้อกูลเห็นใจกันและกันให้มากพอ