posttoday

ด่านสกัดตั้งสสร.แผนสองส่งศาลรธน.ตีความ ระวังซ้ำเติมวิกฤต

26 กันยายน 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

********************

บรรยากาศทางการเมืองที่แบ่งขั้วแตกแยกอยู่แล้ว กำลังก่อตัวยกระดับเป็นวิกฤตลูกใหม่ เมื่อสส.พรรครัฐบาล และ ส.ว.จับมือกันยื้อการแก้ไขรธน.เพื่อตั้งสภาร่างรธน. สะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องการแก้ไขรธน. เพราะกลัวสูญเสียกลไกที่สร้างความได้เปรียบในการอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด และอาจประเมินว่า ม็อบนอกสภาที่ผ่านมา ไม่มีพลังกดดัน ขาดแนวร่วม เพราะไปขยายเพดานมุ่งอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์มากเกินไป

พรรคพลังประชารัฐและสส.พรรคร่วมรัฐบาล ร่วมด้วยเครือข่าย ส.ว. ใช้แทคติกข้อบังคับการประชุมดึงเกมการแก้ไขรธน.อีกยก โดยใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมรัฐสภา บีบให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาญัตติการแก้ไขรธน. 6 ญัตติเป็นเวลา 1 เดือน โดยที่ฝ่ายค้านและพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เอาด้วย

หลายคนผิดหวังเพราะคิดว่าหากรัฐบาลและส.ว. จะรับหลักการร่างแก้ไขรธน.เปิดประตูสู่การยกร่างรธน.ทั้งฉบับเพื่อคลี่คลายอุณหภูมิการเมือง ถอดสลักความขัดแย้ง แต่การหักดิบดึงเกมการแก้ไขรธน. เป็นการเติมเชื้อไฟการเมือง ปลุกม็อบนอกสภาใหเข้มข้นขึ้น

เป็นแผนแยบยลของรัฐบาลที่ตบตาว่า พร้อมสนับสนุนกับการแก้ไขรธน.ครั้งนี้ ขัดแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลแสดงให้เห็นพร้อมเดินหน้าสู่การตั้งสสร. ไม่ว่า 1.นโยบายของรัฐบาลสนับสนุนให้แก้ไขรธน.

2.รัฐบาลตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรธน. โดยให้พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ เป็นประธาน โดย กมธ.มีตัวแทนทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ใช้เวลามาถึง 8 เดือนก่อนสรุปรายงานส่งสภา กมธ.ชุดนี้เสนอให้แก้รธน.มาตรา 256 ให้มี สสร.

3.นายกฯประกาศชัดว่า ถ้ากมธ.เห็นอย่างไร รัฐบาลก็สนับสนุนตามนั้น

4.คำให้สัมภาษณ์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลเองได้เสนอร่างกฎหมายประชามติเพื่อรองรับการแก้ไขรธน.ทั้งฉบับแล้ว กฎหมายนี้จะเข้าสภาวาระแรกเดือนพ.ย.

5.พรรคพลังประชารัฐได้เสนอร่างแก้ไขรธน.ทั้งฉบับเข้าสู่การพิจารณาเช่นกัน และร่างนี้ก็กำหนดโครงสร้าง สสร. 200 คน จากที่มาหลากหลาย ตอกย้ำให้เห็นว่าพร้อมแก้ไขรธน.

6.ในการอภิปรายร่างแก้ไขรธน.ตลอด 2 วัน สส.พรรคพลังประชารัฐ และพรรครัฐบาล มีท่าทีชัดเจนที่จะสนับสนุนการแก้ไขรธน. ไม่มีทีท่าจะซื้อเวลา

เหตุผลเหล่านี้ทำให้สังคมตายใจเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยอมตามกระแสเรียกร้องเพื่อเดินหน้าแก้รธน. ปั่นความคาดหวังสังคม สุดท้ายเล่นบทสองหน้า หน้าหนึ่งเป็นพระเอกให้แก้ไขรธน. หน้าหนึ่ง ไม่แก้ ยังคงหวงแหนอำนาจไว้

แน่นอนแม้วันนี้ รัฐบาลอ้างได้ว่า ขั้นตอนการแก้ไขรธน.ยังไม่ถูกคว่ำเสียทีเดียว แค่เว้นวรรคไว้หนึ่งเดือนเพื่อกลับมาลงมติรับหลักการใหม่ แต่การที่ ผู้นำ-แกนนำรัฐบาล-ส.ว. พิสูจน์ให้เห็น ก็คือ ไม่มีความจริงใจ หวังเล่นเกมเพื่อประคองอำนาจให้อยู่นานที่สุด ทำให้ความคาดหวังที่จะเห็นรธน.2560 ถูกแก้เพื่อสร้างกติกาใหม่ที่ยอมรับจากประชาชนทุกกลุ่ม ประเทศมีทางออก ดูจะริบหรี่ลง

ไม่เท่านั้น การอภิปรายของ ส.ว.หลายคน ยังจับทางได้ว่า การแก้ไขรธน. ยังจะพบอุปสรรคต่อไปอีกหลายด่าน ด่านแรกผ่านไปแล้ว ยื้อ 1 เดือนตั้งกรรมาธิการศึกษา ด่านที่สอง มีการเสนอว่า ควรทำประชามติถามประชาชนทั้งประเทศก่อนจะมีการลงมติรับหลักการว่า ควรแก้ไขรธน.หรือไม่ ไม่ใช่ทำประชามติภายหลังรัฐสภาเห็นชอบวาระ 3

มีการอ้างว่า ถ้าไม่ทำประชามติก่อน อาจขัดแย้งกับคำวินิจฉัยศาลรธน.เดิมเมี่อปี 2555 ที่ครั้งนั้น สส.พรรคเพื่อไทยในรัฐบาลยิ่งลักษณ์เสนอให้แก้ไขรธน.2550 ทั้งฉบับด้วยการตั้งสสร.เหมือนเช่นครั้งนี้ แต่มีกลุ่มบุคคลยื่นศาลรธน.ให้วินิจฉัยว่า ทำไม่ได้ เป็นการล้มล้างการปกครอง ที่สุด ศาลรธน.มีคำวินิจฉัยว่า ไม่สามารถตั้งสสร.มาแก้ไขรธน.2550 ทั้งฉบับได้เพราะรธน.ฉบับ 2550 ผ่านการทำประชามติมา ถ้าจะแก้ไขก็ควรไปทำประชามติก่อนว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่

คำวินิจฉัยศาลรธน. ผูกพันธ์ทุกองค์กร ดังนั้น การจะยกเลิกรธน.เดิมเพื่อร่างรธน.ใหม่เหมือนครั้งนี้จำเป็นต้องถามความเห็นประชาชนก่อนเช่นกัน แผนนี้ ส.ว. อภิปรายด้วยว่า อาจมีคนไปยื่นเรื่องให้ศาลรธน.วินิจฉัยว่า กระบวนการแก้ไขรธน.มาตรา 256 นี้ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยเดิมหรือไม่

พล็อตเรื่องเพื่อวางแผน ซื้อเวลา สกัดการแก้ไขรธน. จึงพยายามผูกปมใหม่เพื่อเปิดทางให้ตีความทางกฎหมายไม่จบสิ้น และหาองค์กรอิสระมาเป็นแหล่งพักพิง

ถ้าเดินไปตามนี้จริง จะมีการงอกขั้นตอนการทำประชามติเพิ่มอีก 1 ครั้ง จากเดิมทั้งกระบวนการแก้ไขรธน.จนถึงการมี สสร. และยกร่างรธน.เสร็จ จะต้องมีการทำประชามติ 2 ครั้ง รวมแล้ว ก็เป็น 3 ครั้ง งบประมาณรวมที่ใช้ในการทำประชามติจะสูงถึง 15,000 ล้านบาท ซึ่งก็จะกินเวลานานขึ้น จากเดิมที่วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พูดเรื่องไทม์ไลน์การแก้ไขรธน.ทั้งหมดจนจบมีรธน.ใหม่ จะประมาณ 2 ปีเศษๆ เผลอๆ ถ้าทำประชามติ 3 ครั้ง การแก้ไขรธน.อาจใช้เวลาถึง 2 ปีครึ่ง เลยวาระสภา 4 ปี รัฐบาลนี้หมดอำนาจไปก่อนที่ สสร. จะแก้รธน.ทั้งฉบับเสร็จ เมื่อนั้นเราอาจได้รัฐบาลเครือข่ายคสช.ชุดใหม่ เพราะใช้กลไกเก่าที่ ส.ว.ยังมีอำนาจลงมติเลือกนายกฯได้อยู่

เกมปาหี่แก้รธน.นี้ แม้รัฐบาลมั่นใจว่า ม็อบปลดแอกไม่โตกว่านี้ กดดันรัฐบาลไม่ได้ แต่อีกด้านประเมินว่า ม็อบอาจขยายวง จากเดิมกลุ่มประชาชนปลดแอกร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงและคนที่ไม่เอารัฐบาล จากนี้ก็จะมีคนกลางๆ ที่รับไม่ได้กับความไม่จริงใจของรัฐบาลที่พากันมาลงท้องถนนมากขึ้นในลักษณะการชุมนุมใหญ่ต่อเนื่องในเดือนตุลาคม สร้างความชอบธรรมในการขับไล่รัฐบาล

การเมืองนอกสภาแรงขึ้น ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเองก็ขาดความเป็นเอกภาพ เกิดแรงกดดันจากประชาชนในการทวงถามจุดยืน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเล็กที่ประกาศสนับสนุนแก้รธน. และไม่ร่วมลงมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา แม้พรรคเหล่านี้ไม่มีทางถอนตัวจากรัฐบาล อยู่กันด้วยผลประโยชน์ เก้าอี้รัฐมนตรี แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังร่วมรัฐบาลที่ไม่จริงใจต่อการแก้ไขรธน. ก็จะลำบากในการหาเสียงเลือกตั้ง

1 เดือนจากนี้เชื่อว่าการแก้ไขรธน.จะยังอึมครึม ความตรึงเครียดจะหนักขึ้น ความวุ่นวายทั้งในและนอกสภา ถ้าที่สุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. ซึ่งเป็นตัวชี้ขาดร่างแก้ไขรธน.จะผ่านหรือไม่ เพราะต้องได้เสียงจาก ส.ว. 1 ใน 3 คือ 84 เสียง ยังไม่สนับสนุน หรือ เล่นเกมซื้อเวลา ยื้ออำนาจ อยู่ ก็จะอยู่ บริหารประเทศลำบาก ขาดการสนับสนุนจากสังคม แม้ว่ามีอำนาจ มีจำนวนเสียง แต่สัจจะวาจาที่มีต่อสังคม นโยบายรัฐบาลที่เขียนไว้ ถ้าบิดพริ้ว สับขาหลอกสังคมไปเรื่อยๆ ก็จะนำมาซึ่งความเสื่อมทรุดได้

******************************