posttoday

จุดพลุแก้รัฐธรรมนูญสว.ต้องหาญกล้าปลดล็อควิกฤตความขัดแย้ง

06 สิงหาคม 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

**********************

ถือเป็นท่าทีที่ชัดเจนเป็นครั้งแรก ของนายกฯที่ประกาศพร้อมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจะหารือกับพรรคฝ่ายรัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามพรรครัฐบาล ประกบกับร่างของฝ่ายค้านที่จะชิงยื่นสู่สภาได้ในสมัยประชุมสภาหน้า ทำให้เห็นภาพการเมืองไทยในปีนี้จนถึงปีหน้า ยังเข้มข้นทั้งในและนอกสภา

เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะก่อนหน้าก็ยืนยันว่า เป็นเรื่องของสภา รัฐบาลจะไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจากสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้แล้ว และหลายคนก็เชื่อว่า พรรคพลังประชารัฐเองจะไม่ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญง่ายๆ เพราะจะสูญเสียอำนาจ

แต่แรงกดดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมีขึ้นหนักหน่วงและต่อเนื่องโดยเฉพาะกระแสเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาที่ระบุเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ การชุมนุมแม้จะเป็นแฟลซม็อบแต่ก็ขยายวงในทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีแนวโน้มลากยาวไม่จบ “บิ๊กตู่” ต้องการลดกระแสม็อบนักศึกษา เสียงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญที่บีบมาเรื่อยๆ จำเป็นต้องปลดชนวนเพื่อรักษารัฐบาล

เป้าหมายที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือ ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเฉพาะคณะกรรมการศึกษาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดที่มี พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และกมธ. ประกอบด้วย สส.จากทุกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล จะสรุปรายงานในวันที่ 8 ก.ย. จะเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเริ่มในมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ได้รับการยอมรับทุกฝ่าย

กระนั้น การที่นายกฯระบุว่า จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในสมัยประชุมสภาหน้า ความจริงถือว่าช้า และจะถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลา เพราะกว่าจะเปิดสภาสมัยหน้า ก็อีกประมาณ 4-5 เดือน หากนายกฯยืนยันว่า ต้องการแก้ปัญหาไม่ให้บานปลาย ก็ควรรีบเสนออย่างน้อยเร็วที่สุดก็ภายหลังที่ คณะกรรมการศึกษาประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ สรุปผลเสนอสภาฯ ในต้นเดือนก.ย. คือ ในระหว่างสมัยประชุมสภานี้ มิจำเป็นต้องทอดเวลารออีก 5 เดือน

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความซับซ้อนมาก เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดกติกายากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เสมือนจับรัฐธรรมนูญใส่ลิ้นชักแล้ว ล่ามด้วยโซ่และล็อคด้วยกุญแจอีกหลายดอก

โดยเฉพาะต้องอาศัยเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ซึ่งปกติจะมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ ส.ส.+ส.ว. ต้องได้เสียงรวมกันไม่น้อยกว่า 375 จาก 750 เสียง แต่ครั้งนี้กำหนดว่า ในจำนวนเสียง 375 เสียงนี้ ต้องมีจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนส.ว. หรือ ต้องมี ส.ว. 84 คนในการแก้ไขทั้งวาระรับหลักการและวาระเห็นชอบขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก

ปัจจุบัน ส.ว. มีจำนวน 250 คน ตั้งมาจากคสช. หัวหน้าคสช. คือ พล.อ.ประยุทธ์ ภารกิจสำคัญของ ส.ว.คือ สามารถลงมติเลือกผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในช่วง 5 ปีแรกนับแต่ที่มีรัฐสภา ที่ผ่านมา ส.ว.ชุดนี้ก็ลงมติเลือก บิ๊กตู่ เป็นนายกฯหลังการเลือกตั้งไปแล้ว ดังนั้น การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้พรรคพลังประชารัฐ หรือ พรรครัฐบาลสนับสนุน แต่ถ้า ส.ว.ไม่เอาด้วยก็ไม่มีทางสำเร็จ

ที่ผ่านมา ส.ว.หลายคน รวมถึง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นอดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติสมัยที่แล้ว หรือ 1 ในแม่น้ำ 5 สายของคสช. ก็สะท้อนมุมมองว่า ไม่เห็นด้วยกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเสียเวลา ยุ่งยาก ไม่จำเป็นรื้อใหม่ทั้งฉบับ หากจะแก้ก็ควรแก้ไขรายมาตรา

เมื่อ “บิ๊กตู่” ประกาศเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เอาใจเสียงเรียกร้อง ทางที่ดี เพื่อให้เกิดความจริงใจ ก็ควรส่งสัญญาณให้ ส.ว.รับลูกพร้อมแก้ไขตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างฉันทานุมัติในสังคมที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ต้นตอมาจากตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งบทบัญญัติหลายเรื่องผูกโยงกันหลายมาตรา หลายหมวด สร้างความไม่เป็นธรรมในกติกาประชาธิปไตย เพราะการจะแก้เพียงรายมาตรานั้นไม่ตรงจุด เป็นการเล่นลิเก ป่าหี่ สิ่งสำคัญ “บิ๊กตู่” ไม่ควรแสร้งว่า ไม่สามารถบังคับ ส.ว.ได้เพราะ ส.ว.เป็นอิสระ ทั้งที่คสช.เป็นผู้คัดเลือก ส.ว.และตั้งเองมากับมือ

สถานการณ์ที่ประเทศเกิดความขัดแย้ง และมีแนวโน้มจะเกิดวิกฤตการเมืองอีก ส.ว. จึงควรเป็นอิสระทางการเมืองจริงๆ มีความหาญกล้า ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของผู้แต่งตั้งจากพล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุรรณ อดีตรองหัวหน้า คสช. ที่เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในปัจจุบัน ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดคำปฏิญาณในรัฐธรรมนูญมาตรา 114-115 ที่ว่า “จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน” และยึดกรอบตามบทบัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือ ความครอบงำใดๆ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

ความพยายามเพื่อปลดล็อค ถอดชนวนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเกมยาว ยังต้องจับตาว่า ที่สุดแล้วจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร ตรงเนื้อหาที่เรียกร้องให้สร้างกติกาทางการเมืองที่เป็นธรรมหรือไม่ หรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ประการสำคัญ สส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. ซึ่งเป็นเครือข่ายของ คสช. ผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะจริงใจแก้แค่ไหน หรือ ต้องการกระโดดมาเล่นในเกมเพียงเพื่อซื้อเวลาต่ออายุความอยู่รอดรัฐบาล

นี่คือ สิ่งที่ผู้นำประเทศต้องพิสูจน์ให้เห็น.....

*************************