posttoday

เปิดใจโฆษกรัฐสายบุ๋นกับภาระหนักอึ้งในสงครามข่าวกระหน่ำรัฐบาล

19 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...มงคล บางประภา

***********************

การจัดการข่าวสารต่างๆ ทั้งข่าวเชิงรุก ข่าวปลอมที่ประดังเข้ามา เป็นเรื่องสำคัญต่อทุกรัฐบาล ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผชิญกับข่าวสารจากโซเชียลมีเดียถล่มทุกทิศทาง บทบาทของโฆษกรัฐบาลจึงมีความสำคัญยิ่ง "นฤมล ภิญโญสินวัฒน์" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดใจการทำหน้าที่ในเก้าอี้ตัวนี้ ซึ่งเป็นการสะท้อนยุทธศาสตร์การสื่อสารประชาสัมพันธ์ของ องคาพยพทั้งรัฐบาลตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาจนถึงพรรคร่วมรัฐบาล

หากย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2560 ชื่อของ "นฤมล" ถูกเปิดตัวสู่เวทีการเมืองผ่านรายชื่อของผู้สมัคร ส.ส. กลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคพลังประชารัฐ ด้วยดีกรีดอกเตอร์เศรษฐศาสตร์ด้านบริหารความเสี่ยงทางการเงิน แต่ไม่มีประวัติส่วนตัวหรือครอบครัวที่มีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เลย

ดังนั้นเธอถูกคาดหมายว่าจะถูกวางตัวเป็นทีมเศรษฐกิจภายใต้เครือข่ายของพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่มีใครคาดคิดว่าสุดท้ายเธอต้องมาทำหน้าที่เป็นโฆษกของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นรัฐบาลที่ เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง และมีนักการเมืองเก๋าเกมม์ผีปากกล้าทั้งใหม่และเก่าอยู่เต็มสภา กระนั้น ตลอดเวลากว่า 6 เดือนในการทำหน้าที่ "นฤมล" ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำงานแต่เชิงรับ และขาดความมีประสบการณ์ทางการเมืองในเชิงการตอบโต้

แต่สิ่งที่เธอเปิดเผย คือ เป็นการยืนหยัดในแนวทางการทำหน้าที่ตามที่ได้วางยุทธศาสตร์มาแล้ว"ไม่เคยได้รับการแจ้งหรือทาบทามมาก่อน ก่อนที่เข้าพรรค ว่าให้มาทำหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งหลังเลือกตั้งแล้วก็ยังไม่มี ก็พยายามช่วยทุกๆ งานเท่าที่ทำได้ เพราะผู้ใหญ่ในพรรคหลายๆ ท่านให้ความเมตตา ทั้งอาจารย์สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี)ท่านประวิตร (วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี)และผู้ใหญ่อีกหลายท่าน ช่วงแรกๆ ก็ช่วยงานอาจารย์สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รองหัวหน้าพรรค ในเรื่องนโยบายในการหาเสียง การวิเคราะห์ข้อมูล มีส่วนช่วยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนโยบายบ้าง

"ด้วยความที่ไม่ได้มาจากครอบครัวทางการเมืองไม่เคยลงพื้นที่มีประสบการณ์ทางการเมืองก็เลยสนับสนุนพรรคที่เรียกว่าเป็นฝ่ายบุ๋นคือด้านวิเคราะห์ข้อมูลมากกว่า" ดร.นฤมล ระบุ

เมื่อถูกถามว่าถูกเปรียบเทียบกับโฆษกรัฐบาลในอดีตซึ่งต้องผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่เคยเป็น ส.ส. หรือ มีประวัติทำงานทางการเมืองมาก่อนนั้น "นฤมล"ชี้แจงว่า ท่านนายกฯน่าจะอยากทำการเมืองรูปแบบใหม่ อยากได้ภาพตัวแทนของรัฐบาลที่จะพูดให้ประชาชนได้รู้ว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรให้เขา อาจจะไม่ไปเน้นในจุดที่ว่าขัดแย้งกันอย่างไร โต้ตอบด้วยวาทะกรรมกันอย่างไร

เมื่อรัฐบาลที่แล้วซึ่งเป็นรัฐบาล คสช. ตอนนั้นไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มี ส.ส.จึงไม่มีความเห็นที่ขัดแย้งเข้ามา จากพรรคการเมือง แต่พอเป็นการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เราก็มีตั้งแต่ระดับพรรค ขึ้นมาถึงระดับ ครม.จนถึงท่านนายกฯ เขาก็ไม่อยากให้โฆษกไปตอบโต้ทุกเรื่อง

จริงๆ ของพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่สโลแกนตอนเลืองตั้ง คือก้าวข้ามความขัดแย้ง เราไม่อยากพาประเทศกลับไปในวังวนเหมือนเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นเรื่องการตอบโต้ถ้าเป็น ส.ส. พูดมาก็จะเป็นส.ส. ตอบ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าท่านนายกฯ ต้องไปตอบทุกจุด ซึ่งท่านควรจะไปโฟกัสในเรื่องของภารกิจสำคัญที่ทำให้กับประชาชน เพื่อสื่อสารกับประชาชนโดยตรง

ส่วนตัวไม่เคยทำงานกับท่านนายกฯ มาก่อน ก่อนที่จะเข้ามา ก็คาดการไปต่างๆ แต่พอทำงานร่วมกันแล้วถึงได้รู้ว่าท่านเป็นคนที่คิดละเอียด อ่านเยอะมากและฟังข้อมูลหลายด้าน ก่อนจะตัดสินอะไรออกมา

เมื่อถามว่า ตอนที่ได้รับการทาบทามได้ย้อนถามกลับไปไหมว่าตัดสินใจเลือกได้อย่างไรเมื่อตนเองไม่ได้มีประสบการณ์ความเก๋าเกมทางการเมืองเลย "นฤมล"กล่าวว่า ไม่ได้ถามเพราะเข้าใจว่าเขาคงได้กำหนดไว้แล้วว่าจะเป็นแบบไหน คงมีคำถามเพียงแค่ว่าท่านต้องการให้เราอยู่ในบทบาทไหน และพร้อมจะปรับเปลี่ยนบทบาทได้ตามสถานการณ์ขึ้นกับว่าท่านมอบนโยบายมา จะให้ตอบไม่ตอบจะให้ตอบแบบไหนยังไง

เมื่อถามว่ามีข้อสังเกตว่ามีจุดเปลี่ยน 6 เดือนที่ผ่านมาเช่นมีการตั้ง"สุภร อัตถาวงศ์" หรือแรมโบ้อีสานมาคอยตอบโต้ทางการเมือง และมีการเพิ่มรองโฆษกจากพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามา เพื่อเสริมเชิงรุกทางการเมืองหรือไม่นั้น โฆษกรัฐบาลบอกว่า เรื่องรองโฆษกนั้น ก็เป็นการท่านนายกฯให้เกียรติพรรคร่วมที่เสนอมา ซึ่งตอนแรกอาจจะมีข้อจำกัดสำหรับบางท่านและเราก็ได้แลกเปลี่ยนกันเพื่อทลายข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลในการนำเสนอข่าว เช่น ถ้าเป็นข่าวระดับกระทรวงที่รัฐมนตรีของแต่ละพรรครับผิดชอบอยู่ ก็มีการออกข่าวไปแล้วที่กระทรวง ขณะที่ท่านนายกฯ อยากให้เอาผลงานของกระทรวงมาออกเยอะๆ เราต้องมาดูเรื่องของการจัดรูปแบบการนำเสนอที่ย้ำแต่ไม่ให้ซ้ำกับที่ออกในกระทรวง

ตอนแรกที่มีข่าวออกไปว่ามีความไม่ลงรอยกันแต่จริงๆแล้วไม่ได้มีปัญหากันเลย มีการพูดคุยกันมาตลอด แต่ต้องเห็นว่าแต่ละคนอาจจะมีความคาดหวังว่าจะทำเหมือนที่เคยทำมาแต่ก่อน ที่มีการแบ่งฝ่ายในการแถลงข่าว ซึ่งมีข้อจำกัดว่าทางพรรคของรองโฆษกแต่ละคนก็ยังอยากให้พูดผลงานของพรรค ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันก่อนหน้าปี 2544 ที่รัฐบาลผสมมีพรรคร่วมหลายๆ พรรค ซึ่งเราก็ต้องให้เกียรติให้เขาได้พูดในสิ่งที่พรรคเขาคาดหวัง

แต่ช่วงหลังๆ ก็สามารถคุยกัน เช่นครั้งไหนที่ไม่มีเรื่องกระทรวงของพรรคเข้ามาก็สามารถแบ่งเรื่องไปแถลงตามความถนัด จึงสังเกตได้ว่าหลังๆ ก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเรื่องของพรรคตนเอง

ส่วนเสียงสะท้อนที่อยากให้ทีมงานโฆษกมีการทำงานเชิงรุกมากกว่านี้นั้น "นฤมล" ชี้แจงว่า ถ้าเป็นเรื่องที่มาตรงถึงท่านนายกฯ เราตอบโต้เสมอ เพียงแต่ไม่ใช่ลักษณะการด่ากลับด้วยคำรุนแรง หรือด้วยวาทกรรมที่เสียดแทงหัวใจ สะใจประชาชน แต่เราจะตอบในแง่ข้อเท็จจริงว่าท่านคิดอย่างนี้ ตั้งใจอย่างนี้ ตัวตนท่านเป็นอย่างไรมากกว่า

เมื่อถามถึงบทบาทของสำนักโฆษกกับการรับมือเรื่อง FakeNews นั้น โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า มันไม่ใช่ความรับผิดชอบของสำนักโฆษกฝ่ายเดียว เราต้องช่วย แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องคิดว่าโฆษกต้องรับผิดชอบการโต้ตอบ FakeNews ซึ่งเรื่องนี้จริงๆแล้วเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศและปัญหาระดับโลก ที่รัฐบาลประเทศอื่นก็เจอ อย่างช่วงการระบาดของไวรัสโคโรน่า สื่อมวลชนเองก็ประกาศว่าจะต้องช่วยกัน หาช่องทางตรวจเช็คข่าวก่อนจะเผยแพร่ รัฐบาลก็มีกระทรวงดีอี ศูนย์ต่อต้าน FakeNews ต้องร่วมมือกันหมดเพราะอำนาจรัฐอยู่ที่ ปอท. สำนักโฆษกเราเป็นยูนิตเล็กๆ เหมือนฝ่ายเลขาของท่านนายกฯ

เมื่อถามว่าเรื่องวิกฤติของประเทศ ทุกฝ่ายยอมช่วยกันแต่ถ้าเป็น FakeNews ระหว่างขั้วทางการเมืองซึ่งคนอื่นไม่ยุ่งนั้น "นฤมล"บอกว่า สำนักโฆษกเป็นยูนิตที่อยู่บนดินอยู่ในสปอร์ตไลท์ แม้กระทั่งงบประมาณที่เราได้ก็ต้องทำเรื่องที่เปิดเผยอยู่บนดิน และยุคก่อนๆ ไม่เคยมี Social Media ในการเมือง

ดังนั้นบทบาทของสำนักโฆษกจึงถูกตีกรอบไว้ด้วยงบประมาณที่มี เราจึงทำในเรื่องการสร้างการรับรู้ ในส่วนที่รัฐบาลทำคือเหมือนเป็นสายขาว ทำหน้าที่ใส่เรื่องบวกเข้าไป แต่ถ้าปีนี้มีเรื่องลบที่เป็นการโกหกเลยเราก็ตอบโต้ด้วยข้อมูลที่มี แต่ถ้าจะให้โฆษกไปไล่ตอบทุก Facebook ทุกเว็บที่มีเฟคนิวส์เราไม่มีทรัพยากรที่จะทำตรงนั้นได้ จึงต้องขอร้องทุกคนที่เห็นข่าวปลอมจะต้องช่วยกันโต้แย้งหรือแจ้งกระทรวงดีอี ต้องช่วยกัน ไม่ใช่มานั่งโทษกันว่าคนนั้นรับผิดชอบหรือคนที่รับผิดชอบ

เมื่อถามถึงงานที่ทำกับการจัดสรรเวลาให้กับชีวิตครอบครัวนั้น โฆษกหญิงกล่าวว่า สามีให้การสนับสนุนเขาก็ดูแลทางบ้านให้ เราก็ต้องมาใช้เวลากับตรงนี้เยอะมาก เพราะไม่เหมือนงานในอดีต งานนี้ไม่มีเวลาสิ้นสุดวันหยุดถ้าไม่ตามนายกฯ ก็ยังต้องคอยตามข่าว ตามเนื้อหาข้อมูลตลอดก็ไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวเท่าไหร่ แต่ก็ช่วยไม่ได้เพราะเราเลือกที่จะมารับหน้าที่นี้ ไม่มีคำบ่นหรือตอบว่าอะไรทั้งสิ้น

***************************