posttoday

เปิดบันทึกปฏิบัติการลับ กับคำถามอมตะ "ทำไมต้องแย่งกันรักชาติ"

14 มกราคม 2563

พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. แนะนำหนังสือ “ปฏิบัติการลับ ในสมรภูมิรบ” พร้อมยกเนื้อหาในหนังสือที่ว่า "ความสามัคคีเป็นสิ่งประเสริฐสุด"

เฟซบุ๊คเพจ Wassana Nanuam ผู้สื่อข่าวของ Bangkok Post รายงานว่า พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. แนะนำ “ปฏิบัติการลับ ในสมรภูมิรบ” โดย ดร.ทิพภานิดา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา บุตรีของ พล.ต. จักรชัย ศุภางคเสน พร้อมยกเนื้อหาในหนังสือที่ว่า "ความสามัคคีเป็นสิ่งประเสริฐสุด ที่ทุกคนในชาติต้องกระทำ ถึงแม้ด้วยความจำใจ"

ยังมีอีกหลายแง่คติดที่ "บิ๊กแดง" ยกมาจากหนังสือเล่มนี้

ทำไม ผบ.ทบ. ถึงอ้างหนังสือที่หลายคนคงบไม่เคยรู้จักชื่อมาก่อน? เจตนาของบิ๊กแดงอยุ่ในเนื้อหาข่าวของวาสนา นาน่วมแล้ว นั่นคือข้อความที่ว่า "ปัจจุบันเรามีกลุ่มแสดงการรักชาติมากมาย หลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็แสดงออกให้เห็นว่าฉันรักชาติไทยมากกว่าแก หรือฉันรักชาติ และทำอย่างนี้ถูกต้องแล้ว. ทุกคนต้องทำตาม จนกระทั่งเกิดเป็นกลุ่มขวา ซ้าย ตลอดจนขวาของขวา และซ้ายของซ้าย หรือขวาของซ้าย และซ้ายของขวา จนยุ่งไปหมด"

เขากับข้อความจากหนังสือที่อดีตเสรีไทยตั้งคำถามเอาไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนว่า "ทำไมต้องแย่งกันรักชาติ?"

พล.ต. จักรชัย ศุภางคเสน เป็นนายทหารที่ไม่มีบทบาทการเมือง แต่มีบทบาทในการรบที่สำคัญของประเทศ เขาเป็นทหารอาชีพที่ทำงานปิดทองหลังพระ และเมื่อจะเล่านการเมืองเขาก็ไม่เล่นมันทั้งเครื่องแบบ แต่ถอดออกเสียก่อนเพื่อเล่นตามกติกา

หนังสือของพล.ต. จักรชัย ศุภางคเสนมีทั้งบันทึกประสบการณ์การรบและภาพถ่ายที่ล้ำค่ามากมาย เป็นภาพยุทโธปกรณ์และการรบจริงในช่วงที่ไทยกับฝรั่งเศสเผชิญหน้ากันในช่วงกรณีพิพาทอินโดจีนเมื่อปีพ.ศ. 2483 พล.ต. จักรชัยได้เป็นผู้บังคับหมวดกองรรบไปรบที่พระตะบอง

เปิดบันทึกปฏิบัติการลับ กับคำถามอมตะ "ทำไมต้องแย่งกันรักชาติ" พล.ต. จักรชัย ขณะอัญเชิญเครื่องยศจอมพลทหารบก จอมพลทหารเรือ ทูลเกล้าถวายในหลวงรัชกาลที่ 8

การรบครั้งนั้นมีรัฐบุรุษอีกหนึ่งท่านของไทยไปร่วมด้วย นั่นคือพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ไปรบที่ปอยเปต และพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เด็กถูกส่งไปแนวหน้ากัมพูชาที่สุรินทร์

ดังนั้นสมรภูมิของกรณีพิพาทอินโดจีนจึงสร้างนายกรัฐมนตรีไทยถึง 2 คน และยังเป็นชัยชนะของฝ่ายไทยที่ทำให้จอมพลป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้คะแนนไปมากโข

จอมพลป. พิบูลสงครามประโคมโฆษณาให้คนไทยสามัคคีกันเพื่อทวงคืนดินแดน "ของไทย" ที่สูญเสียไปให้กับฝรั่งเศสและกลายเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาในฐานะอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส

พล.ต จักรชัยเคยเขียนไว้ในภายหลังว่า "ความสามัคคีเป็นสิ่งประเสริฐสุด ที่ทุกคนในชาติต้องกระทำ ถึงแม้ด้วยความจำใจ" ความสามัคคีที่จอมพลป. พิบูลสงครามปลุกระดมในหมู่คนไทยในเวลานั้นก็เป็นความจำใจเช่นกัน

ในหนังสือที่เขียนโดยดร.ทิพภานิดา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา บุตรีของ พล.ต. จักรชัย ศุภางคเสน ชี้ให้เห็นว่า ไทยจำเป็นต้องทวงดิแดรนคืนมาเพื่อเป็นด่านหน้าป้องกันการรุกรานของญี่ปุ่น เพราะในเวลานั้นญี่ปุ่นได้ยกทัพเข้ามาในเวียดนามแล้ว และยึดครองกัมพูชาที่เหลือในเดือนถัดมาหลังจากทำตัวเป็นกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพารทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส มาถึงตอนนี้ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป้าหมายต่อไปของญี่ปุ่นจะต้องเป็นไทยอย่างแน่นอน

นี่กระมังคือความจำเป็นที่จอมพลป. จะต้องปลุกระดมให้คนไทยสามัคคีกัน

เปิดบันทึกปฏิบัติการลับ กับคำถามอมตะ "ทำไมต้องแย่งกันรักชาติ" หนังสือพิมพ์เก่าที่ปรากฎในหนังสือเล่มนี้ เกี่ยวกับกรณีพิพาทอินโดจีน

แต่ในที่สุดญี่ปุ่นก็รุกรานไทยจนได้ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 แม้จะมีการต่อต้านอย่างกล้าหาญของทหารและพลเรือนไทยในเมืองต่างๆ แต่สุดท้ายรัฐบาลจอมพลป. เลือกที่จะยอมให้ญี่ปุ่นผ่านทางไป ด้วยเหตุผลบางกระการ (ซึ่งสามารถอ่านได้ในหนังสือเล่มนี้) มิใช่แค่จอมพลป.นิยมญี่ปุ่นอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน "เท่านั้น"

การรุกรานของญี่ปุ่นคือจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการลับของพล.ต. จักรชัย ศุภางคเสน

ท่านบันทึกเอาไว้ว่า

"แล้ววันหนึ่งข้าพเจ้าก็ได้รับคำสั่งให้ไปพม่ากับทหารญี่ปุ่นโดยอ้างว่าให้ไปดูงานการรถไฟทหารของญี่ปุ่นที่ มะละแหม่ง คำสั่งพิเศษก็คือให้ไปดูว่าย่านรถไฟของกองทัพญี่ปุ่นที่มะละแหม่งอยู่ที่ไหนในลักษณะการอย่างไร เป็นคำสั่งเฉพาะตัวข้าพเจ้าที่ได้รับจาก พ.อ. สุรจิตร์ จารุเสนีย์ แต่ผู้เดียวเพราะในขณะนั้นข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมอยู่ในขบวนการเสรีไทยในสายของ พ.อ. สุรจิตร์ จารุเสนีย์"

ในเวลานั้นเมืองมะละแหม่งตกเป็นของญี่ปุ่นแล้ว และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการรุกและรับกองทัพอังกฤษ พล.ต. จักรชัยไม่ได้เดินทางไปในฐานะเสรีไทย แต่ไปในฐานะนายทหารของกองทัพไทยที่เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น

เปิดบันทึกปฏิบัติการลับ กับคำถามอมตะ "ทำไมต้องแย่งกันรักชาติ" หน่วยรบจักรยาน จากอัลบั้มภาพส่วนตัวของพล.ต.จักรชัย

การเดินทางไปมะละแหม่งของพล.ต. จักรชัย ศุภางคเสนเผชิญกับเรื่องน่าตื่นเต้นมากไมาสามารถเล่าตรงนี้ได้หมด แต่มีตอนหนึ่งท่านเล่าว่าจู่ๆ ทหารญี่ปุ่นก็พาท่านไปดูสถานที่ปิดลับทางยุทธศาสตร์ในพม่าเสียอย่างนั้น ทำให้ทหารญี่ปุ่นดังกล่าวถูกต่อว่าอย่างรุนแรงจากผู้บัญชาการ ขากลับมาเมืองไทยนั้นท่านเล่าว่า

"คณะเราแยกกันกลับ ที่สถานีหนองปลาดุกก่อน นากามูร่าได้มองหน้าข้าพเจ้าและกล่าวย้ำชัดอีกครั้งเรื่องให้เก็บเป็นความลับที่สุดถึงสถานที่สร้างย่านรถไฟมะละแหม่งเราจากกันด้วยความคิดคนละทาง เรื่องของชาติใครใครก็รักความเป็นเพื่อนต้องแยกออก"

แต่น่าเสียดายที่เราไม่สามารถยกทั้งเรื่องมาให้อ่านตรงนี้ได้ รายละเอียดทุกอย่างอยู่ในหนังสือ “ปฏิบัติการลับ ในสมรภูมิรบ” แล้ว

เช่นเดียวกับปฏิบัติการของพล.ต. จักรชัยในการช่วยเหลือทหารชาวต่างชาติที่เข้ามาประสานงานกับเสรีไทย ซึ่งแค่เริ่มต้นก็สนุกแล้ว โดยท่านบันทึกไว้ว่า

"ขณะที่นั่งกันมาเราทุกคนก็หารือกันว่าการผ่านด่านทหารญี่ปุ่นที่ดอนเมืองจะทำอย่างไรยังไม่ปรากฏข้อมูลอีกที่คือปฏิบัติเหตุการณ์คืนนั้นเป็นคืนเดือนหงายพอควรขึ้น ๗ ค่ำพระจันทร์กำลังเริ่มตกแต่ยังมีประกายแสงสว่างอยู่พอสมควร รถวิ่งด้วยความเร็วไม่ช้าหรือเร็วนะทุกคนกระชับปืนกลมือแน่น ไม่ทราบว่าชะตากรรมข้างหน้าจะเป็นอย่างไร"

อ่านแล้วรู้สึกหวาดเสียวแทน กลัวว่าเสรีไทยและฝรั่งจะถูกญี่ปุ่นจับได้ เพราะหากไม่พ้นสายตาญี่ปุ่นเป็นอันได้ไปเฝ้ายมบาลแน่นอน

เปิดบันทึกปฏิบัติการลับ กับคำถามอมตะ "ทำไมต้องแย่งกันรักชาติ" ภาพรถถังในสมรภูมิกรณีพิพาทอินโดจีน จากอัลบั้มภาพส่วนตัวของพล.ต. จักรชัย

พล.ต. จักรชัยผ่านร้อนผ่านหนาวในงานด้านการทหารมามาก ท่านผ่านการรบทั้งในรูปแบบและนอกแบบ ผ่านการทำงานร่วมกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบางท่าน ได้รับรู้ความไม่จีรังของอำนาจ และเนื้อแท้ของการเมืองไทย

การเมืองไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นอย่างไร ในวันนี้ก็ไม่ต่างกันมากนัก พล.ต. จักรชัย ตกผลึกเรื่องนี้เอาไว้เป็นข้อเขียนหลายชิ้น เต็มไปด้วยแง่คิดที่แหลมคมไม่ว่าจะเป็นคำกล่าวที่ว่า "ชาติไม่ใช่ของเล่นที่ใครจะนำไปทดลองกัน" และ "อย่ามัวแย่งกันรักชาติ มาช่วยกันแย่งกันหาทางสร้างสันติสุขให้แก่มวลประชาชนคนไทยดีกว่า"

ท่านกล่าวว่า

"ปัจจุบันเรามีกลุ่มแสดงการรักชาติมากมายหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็แสดงออกให้เห็นว่า - ฉันรักชาติไทยมากกว่าแก หรือ - ฉันรักชาติและทำอย่างนี้ถูกต้องแล้ว ทุกคนต้องทำตาม- จนกระทั่งเกิดเป็นกลุ่มขวาและซ้าย ตลอดจนขวาของขวา และซ้ายของซ้าย หรือขวาของซ้ายและซ้ายของขวาจนยุ่งไปหมด ประชาชนผู้คอยตามก็ไม่รู้จะไปทางไหน ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ และคอยยกมือให้กับผู้ที่อยู่ใกล้ในลักษณะของการถูกบังคับมากกว่าที่จะเป็นไปตามความสมัครใจ"

ทุกวันนี้เรายังคงถกเถียงกันเรื่องรักชาติ-ชังชาติ ไม่ต่างจากวัจนที่ พล.ต. จักรชัยได้เขียนเรื่องนี้ไว้หลายสิบปีก่อนเลย