posttoday

“สุรชาติ” มองการเมืองหลังเลือกตั้ง เดินหน้า 1 ก้าว แต่ถอยหลัง 3 ก้าว

07 พฤศจิกายน 2562

ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

****************************

แม้จะผ่านการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ชุดแรกหลังการรัฐประหาร 5 ปี  แต่สถานการณ์การเมืองไทยยังติดหล่มกับความขัดแย้ง หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า ความตรึงเครียดทางการเมืองที่ยังคุกกรุ่น จะขยายวง แบ่งขั้วหนักขึ้น บวกกับช่องว่างความขัดแย้งใหม่ระหว่างคนรุ่นหนุ่มสาว กับคนสูงวัยจะก่อให้เกิดวิกฤตอีกระลอก

 

2 ขั้ว“อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม” ขับเคี่ยว

ระบอบกึ่ง คสช. เติมเชื้อขัดแย้ง

ศ.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์พิเศษ โพสต์ทูเดย์ว่า  หากมองในปัจจุบันและระยะยาว การเมืองไทยแทบไม่เปลี่ยนจากเดิม คือ เป็นการต่อสู้ระหว่างปีกเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม เพียงแต่ในแต่ละช่วงเวลา แต่ละปีกอาจมีองค์ประกอบแตกต่างออกไป ครั้งนี้สิ่งที่แตกต่างจากอดีต คือ มีมือใหม่ๆ เช่น โซเชียลเข้ามามีบทบาท ขณะเดียวกัน ก็มีบริบทของสถานการณ์ใหม่ๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบ  และยิ่งเห็นการออกแบบโครงสร้างทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 2562 ยิ่งตอกย้ำชัดว่า การเมืองไทยถอยหลังมากกว่าที่คิด

 “ระบอบที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งมีนาคม 2562 ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบเหมือนยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปี 2521-2522 อย่างที่พูดกัน แต่มันเป็นเผด็จการครึ่งใบ เพราะคงโครงสร้างของอำนาจและคณะรัฐประหารไว้ ทำให้ขบวนของฝ่ายค้านทั้งหมดแทบจะไม่สามารถมีอิทธิพลหรือบทบาททางการเมืองได้”

ในมุมอาจารย์สุรชาติ การเมืองไทยในอนาคต จึงยังมีความน่ากังวล ทั้งจากตัวกลไกในรัฐธรรมนูญ เงื่อนไขต่างๆ เช่น สว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้  การมียุทธศาสตร์ชาติ กลไกกอ.รมน. และ บทบาททหารหลังการเลือกตั้ง ดังนั้น โอกาสที่การเมืองไทยจะพัฒนาค่อนไปทางเสรีนิยมจึงยากมาก ไม่ต้องไปคิดเรื่องการจะสร้างประชาธิปไตย  โจทย์เฉพาะหน้าตอนนี้ คือ จะทำอย่างไรให้ความเข้มข้นของระบอบอำนาจนิยมที่มาจากรัฐประหารแล้วแฝงมากับการเลือกตั้งลดทอนลงได้ ซึ่งปัจจุบันเรามาถึงขนาดนี้แล้ว

สำหรับฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ แม้ดูมีพลัง เพราะมีเสียงในสภาใกล้รัฐบาล แต่นักวิชาการท่านนี้ มองว่า การที่ฝ่ายค้านอยู่ภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญ ให้ สว.เลือกนายกฯ หรือ ยุทธศาสตร์ชาติที่ร่างจากรัฐบาลคสช.  ฝ่ายค้านก็ไม่สามารถผลักดันนโยบายได้

“ผมคิดว่า ระบอบปัจจุบัน คือ ระบอบ กึ่งคสช. ซึ่งมีเพียงอำนาจจากมาตรา 44 เท่านั้นที่หายอย่างอื่นไม่ได้หายด้วย เมื่อไม่หาย การเมืองไทยในช่วงข้างหน้า มันจะเป็นการต่อสู้ในสภาที่เข้มข้น  ถ้าถามผม มันเป็นข้อดี เพราะไม่ทำให้การเมืองไหลลงท้องถนน การแก้ด้วยระบบรัฐสภานั่นแหละเป็นความหวัง ขณะเดียวกัน ถ้ากลไกที่ถูกออกแบบโดยคสช. ยังเป็นอย่างนี้  ความขัดแย้งก็จะรุนแรงเหมือนกันเพราะฝ่ายค้านจะรู้สึกทันทีว่า ไม่สามารถฝ่าเงื่อนไขทางกฎหมายได้ เช่น ถ้าฝ่ายค้านชนะ ก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ภายใต้สว.250 ที่มาจากรัฐบาลคสช. จึงเป็นจุดกังวลว่า การเมืองนอกสภามันยังถูกขับเคลื่อนอยู่” 

 

มรสุม อนค. เชื่อไม่รุนแรง

เชื่อได้กระแสสงสาร เพราะโดนกลั่นแกล้ง

พรรคอนาคตใหม่ที่มาแรงช่วงเลือกตั้ง มีคนรุ่นใหม่เป็นฐานสนับสนุน จะไปได้ไกลแค่ไหน ศ.สุรชาติ ซึ่งให้สัมภาษณ์เราก่อนวันเลือกตั้งซ่อม สส.นครปฐม บอกว่า ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ชนะในจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัย และเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ แต่โจทย์ใหญ่ต้องดูว่า พรรคนี้จะสามารถอยู่รอดกับกระแสนี้ได้นานแค่ไหน ตรงนี้ยังไม่กล้าตอบ

แล้วกระแสของอนาคตใหม่ต้องขึ้นอยู่กับอะไร?  “ถ้าตอบโจทก์แบบฝ่ายค้าน คือ ความเพลี่ยงพล้ำของรัฐบาล คือ คะแนนของฝ่ายค้าน ส่วนปัญหาของพรรค ทุกพรรคก็ล้วนมีปัญหาหมด ผมไม่เชื่อว่าปัญหาภายในอนาคตใหม่จะเป็นปัจจัยชี้ขาดเท่ากับ โอกาสที่ไม่สำเร็จของการรัฐบาลในการดำเนินนโยบาย” 

มรสุมที่พรรคอนาคตใหม่เผชิญอยู่ทั้งคดีถือหุ้นสื่อนำมาสู่การพิจารณาคุณสมบัติ สส. ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในศาลรัฐธรรมนูญ  หรือคดียุบพรรคอนาคตใหม่ จะเกิดผลลบต่อพรรคสีส้มแค่ไหน ศ.สุรชาติ ฟันธงว่า คงไม่ถึงขั้นรุนแรง เพราะถ้ายุบพรรค ส.ส.ก็ยังย้ายพรรคได้  ในมุมกลับคนอาจรู้สึกสงสาร การเมืองไทยปัจจัยเรื่องการสงสารเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน ฉะนั้นปีกอนุรักษ์นิยมก็ต้องคิดด้วยว่า เล่นอย่างนี้อาจไม่คุ้มค่าเหมือนกัน เพราะถ้ากระแสสงสารเกิดในการเลือกตั้งครั้งหน้า อนาคตใหม่ก็อาจโตอีกแบบ

 

บิ๊กตู่อยู่ได้ด้วย snake farm

แต่จะลำบาก... ถ้าแก้ศก.เหลว

รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจะมีอายุยาวนานแค่ไหน  นักวิชาการรัฐศาสตร์ท่านนี้ ให้มุมคิดว่า รัฐบาลนี้ไม่จำเป็นต้องเข้มแข็ง อยู่ที่ความสามารถในการดึงพรรคเล็กเข้าร่วมมากกว่า  คล้ายกับรัฐบาลจอมพลถนอม ในปี 2512 ที่รัฐบาลไปดึงพรรคเล็กพรรคน้อยเอาไว้ใต้ปีก

“การอยู่รอดของรัฐบาลคือ การบริหารพรรคเล็ก บทเรียนจากจอมพลถนอมชี้ชัด คือ เมื่อถึงจุดหนึ่งพรรคเล็กของบพัฒนาจังหวัดมากขึ้นเรื่อยๆ  สุดท้ายรัฐบาลให้ไม่ได้  จอมพลถนอมก็ยึดอำนาจในปี 2514    ขณะที่ประวัติศาสตร์รัฐบาลผสมเอง ก็ไม่เคยถูกโค่นจากพรรคฝ่ายค้าน แต่ล้มจากเงื่อนไขภายในตัวเอง ดังนั้น คิดว่า รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ อาจจะอยู่ได้ คือ ด้วยการซื้องูเห่าจากฝ่ายค้าน หรือ snake farm  และต้องบริหารพรรคเล็กให้ได้ด้วย

อีกปัจจัยชี้ขาดรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าไม่สามารถตอบสนองต่อชนชั้นกลางได้ ซึ่งผู้สนับสนุนหลักของ คสช. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ล้วนเป็น urban middle class ที่เป็นอนุรักษ์นิยม

เขายกบทเรียน เหตุการณ์อาหรับสปริง สาเหตุหนึ่งที่คนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลคือ คนชั้นล่าง คนชั้นกลางเดือดร้อนจากการขึ้นราคาอาหาร บวกกับเงื่อนไขคนตกงานที่คนชั้นกลาง ได้รับผลกระทบหนักหน่วง แต่ของไทย จะออกเป็นอาหรับสปริงส์จนมาชุมนุมที่ท้องถนน หรือไม่ ตอบไม่ได้ เพราะในไทยยังมีตัวแปรอื่นอีก ดังนั้น โจทย์ที่ว่ารัฐบาลจะไปหรือไม่ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่เป็นปัญหาเศรษฐกิจด้วย

คนรุ่นใหม่จะมีพลังถึงขั้นเปลี่ยนแปลงการเมืองหรือไม่ ศ.สุรชาติ บอกว่า ประเด็นนี้ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศก็มีคำถามเช่นกันว่า ถ้าคนรุ่นใหม่ของไทยไม่รับกับระบอบอำนาจนิยมนี้ ทำไมเราไม่เห็นภาพเหมือนฮ่องกงในกรุงเทพ อันนี้เป็นโจทย์ที่น่าสนใจในทางรัฐศาสตร์ ดังนั้น ต้องดูต่อไปว่า  บริบทอย่างนี้ของไทย สุดท้ายอาจเป็นแค่ การเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แต่ไม่ถึงขั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ใช่หรือไม่

“เวลาคนเสพโซเชียลมากๆ อาจตีความได้สองแบบ คนเสพโซเชียลในไคโรแบบอาหรับสปริง กับ ในฮ่องกง เสพแล้วลงถนน แต่ของไทยไม่ลงถนน แต่ไม่ได้บอกว่า ในอนาคตเขาจะไม่ลงถนนนะ แต่ระยะเวลาอาจจะทอดนานขึ้น”

 

ชี้ “บิ๊กแดง” ส่งเสียงถึงชนชั้นกลาง

พร้อมเป็นตัวแทน “ประยุทธ์”

บทบาทของ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่ปรากฏเป็นตัวละครสำคัญที่ออกมาปลุกกระแสมีคอมมิวนิสต์ นักวิชาการและฝ่ายค้าน จ้องโค่นล้มสถาบันกำลังถูกจับตาว่า เป็นตัวตายตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ สำหรับ ศ.สุรชาติก็คิดเช่นกัน เขาบอกว่า การเปิดตัวของผบ.ทบ. คือ การขายภาพลักษณ์หรือ ทำไดเร็คเซลกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม เป็นการส่งสัญญาณว่า ถ้าถึงจุดหนึ่งผู้นำสายอนุรักษ์นิยมไม่สามารถเดินต่อได้ ปีกนี้ก็จะมีตัวเลือกใหม่ คือ ผบ.ทบ. ที่กำลังเปิดขายโปรดักท์ตัวเองอยู่ว่า จะเป็นผู้นำคนใหม่ในอนาคต  ส่วนจะมาด้วยวิธีไหน การเมืองไทยมันฟันธงทุกอย่างไม่ได้

ทั้งหมด ศ.สุรชาติ สรุปว่า ระบอบการเมืองกึ่ง คสช. อย่างนี้  ไม่ตอบสนองต่อโจทย์เศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญอยู่  เช่น ใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่กระทบทั่วโลกรวมถึงไทย รวมถึง เราควรวางบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจย่างไรที่จะสร้างความเชื่อมั่นเพราะวันนี้เวียดนามดูน่าสนใจกว่าไทย ขณะที่โอกาสของไทยไม่มีเลยทั้งความน่าลงทุน  ดังนั้น การเมืองต้องเปลี่ยน ใน 2 ประเด็น  คือ การสร้างความเชื่อมั่นและความชอบธรรม

“การเมืองไทยวันนี้เหมือนเดินหน้า 1 จังหวะ แต่ถอยหลังที 3-4 ก้าว มันทำให้โอกาสที่จะสร้างเสถียรภาพการเมืองในประเทศลำบาก กระทบต่อปัญหาการลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตก็ลำบากตาม  คำถามที่ผมขอฝากทิ้งท้ายคือ บทบาททหารในการเมืองไทย มันควรมีข้อยุติได้แล้วหรือยัง หรือ ต้องให้เขามาจัดการกับเราทุกอย่าง หรือ เราควรเอาการเมืองไปไว้ในสภา ยอมอดทนที่จะพัฒนามัน ไม่ควรเรียกร้องว่า ต้องจบเร็ว”  ศ.สุรชาติ กล่าวทิ้งท้าย

 

******************************