posttoday

ยุคใหม่ไอทีสู่ "งานตร.เสมือนจริง" แก้ปัญหาร้องทุกข์ประชาชนค้าง

27 มกราคม 2562

กองบัญชาการตำรวจนครบาลผุด โครงการ "งานตำรวจเสมือนจริง" แก้ปัญหาเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนที่ค้างจำนวนมาก

กองบัญชาการตำรวจนครบาลผุด โครงการ "งานตำรวจเสมือนจริง" แก้ปัญหาเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนที่ค้างจำนวนมาก

************************

โดย....เอกชัย จั่นทอง

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์ เหมือนดังเช่นงานของตำรวจกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้เล็งเห็นช่องทางการอำนวยความสะดวกประชาชน ผ่านเทคโนโลยีทันสมัยผ่านการใช้งานจริง จนเกิดเป็นโครงการ “งานตำรวจเสมือนจริง (Virtual Police : VP) เพื่อแก้ไขปัญหางานจเรตำรวจ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และงานด้านอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันเหตุการณ์”

พล.ต.ต.ชัยพร พานิชอัตรา รองผู้บัญชาการตำรวจ นครบาล กล่าวถึงที่มาโครงการว่า เนื่องจากงานจเรตำรวจ ที่พบว่าข้อมูลร้องทุกข์ ร้องเรียน วินัย และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สะสมคั่งค้างมานาน ทำให้บางเรื่องไม่สามารถแก้ไขปัญหา หรือหาทางออกได้

ขณะเดียวกันบ่อยครั้งที่ผู้ร้องติดภารกิจเดินทางไปต่างจังหวัดไปต่างพื้นที่ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะติดต่อสื่อสาร รวมถึงการส่งหมายเรียก แต่ผู้ร้องไม่สะดวกมาพบตำรวจที่สถานี จึงทำให้ไม่สามารถสะสางการทำคดีให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาอันสั้นได้

“ในเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ต้องหาทางออกและตกผลึกสู่ทางออกที่ทำได้ บช.น.จึงทำโครงการดังกล่าวขึ้นมา การใช้ระบบ Virtual ภาพเสมือนที่เป็นจริงมาใช้ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับเรื่องการร้องทุกข์ ร้องเรียน และวินัย โดยผ่านการใช้เทคโนโลยีระบบออนไลน์ ติดต่อผ่านทางโทรศัพท์หรือสมาร์ทโฟน ทุกวันนี้ตำรวจและประชาชนทุกคนใช้กันอยู่แล้ว สามารถเห็นหน้าโต้ตอบกันได้จริง”

วิธีการทำจะดำเนินการผ่านโปรแกรมวิดีโอคอล ไลน์ สไกป์ วิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ฯลฯ จะช่วยร่นเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน อีกทั้งยังสามารถโต้ตอบกันได้ระหว่างตำรวจกับผู้ร้องอย่างชัดเจนผ่านระบบสื่อสาร มีการยืนยันตัวตนอย่างชัดเจน นั่นหมายความว่าอาจไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพัก เพียงแค่เรานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมความสะดวกรวดเร็วในการบริการประชาชน และการทำงานของตำรวจให้ทันสมัยตามความเปลี่ยนแปลง”รอง ผบช.น. กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีแบบฟอร์มสอบปากคำผู้ร้อง หรือบันทึกการให้ถ้อยคำของผู้ร้องทุกข์ กล่าวโทษ หรือพยาน จะมีการให้กรอกข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ เพื่อยืนยันเหตุผลขัดข้องที่ไม่สามารถเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีได้ จึงมีความประสงค์ขอให้ถ้อยคำผ่านระบบดังกล่าว โดยผ่านการแนะนำจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“ทั้งนี้ยังมีการให้พยาน ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ที่สามารถติดต่อได้ แบบฟอร์มนี้ถูกส่งให้กับผู้ร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ให้กรอกรายละเอียดก่อนส่งกลับมาที่ตำรวจผ่านทางไปรษณีย์ไทย ทั้งหมดจะช่วยให้ตำรวจได้ข้อมูลประกอบ และเป็นการบริการประชาชนอีกทางหนึ่ง” พล.ต.ต.ชัยพร ระบุ

พล.ต.ต.ชัยพร กล่าวว่า การนำระบบดังกล่าวมาใช้นี้ ถือเป็นการออกแบบอนาคตงานของตำรวจอีกรูปแบบหนึ่งว่าจะเดินไปในทิศทางใดที่สามารถเป็นไปได้ และสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน ที่รวดเร็ว ฉับไว และใส่ใจให้บริการต่อประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยเพราะการติดต่อทันทีหลังมีเรื่องและสนใจสอบถามอธิบายผลการดำเนินการให้ประชาชนได้รับทราบ ประชาชนย่อมเกิดความพึงพอใจในการติดตามงานของตำรวจที่ใส่ใจไถ่ถาม

สำหรับความหวังของโครงการนี้ ต้องการทำให้ผู้ร้องเรียนหรือประชาชน เกิดความพึงพอใจและคิดว่าการร้องทุกข์ร้องเรียนจะไม่ใช่เรื่องสูญเปล่าอีกต่อไป เช่นเดียวกันยังทำให้ประชาชนมีความศรัทธาตำรวจที่ใส่ใจบริการผ่านนวัตกรรมที่ทันสมัย ในรูปแบบ Police 4.0 นั่นเองจะทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นระหว่างประชาชนกับตำรวจ จากผลดำเนินการที่ค้างอยู่ให้เสร็จสิ้น

เช่นเดียวกันเทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้ หรือ Police 4.0 จะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน เมื่อประชาชนได้รับสิ่งนี้ภาพลักษณ์ระหว่างประชาชนกับตำรวจจะดีขึ้น การบริการที่ใส่ใจประชาชนสร้างความประทับใจพอใจ เพราะตำรวจรับฟังทุกปัญหา หน้าที่ตำรวจคือต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ

การดำเนินการนั้นจะนำเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียนที่ค้างอยู่ตั้งแต่ปี 2559-2562 รวมกว่า 8,480 เรื่อง ปัจจุบันคงค้างอยู่ 4,915 เรื่อง นำมาปัดฝุ่นดำเนินการให้เสร็จ โดยส่วนใหญ่เรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ จะเป็นเรื่องตำรวจให้บริการประชาชน แจ้งเบาะแสยาเสพติด การพนัน ปัญหาจราจร ผู้มีอิทธิพล ฯลฯ ซึ่งตำรวจจะเข้าไปแก้ไขปรับปรุงปัญหาเหล่านั้นในทันที

“ขอยืนยันว่าข้อมูลผู้ร้องทุกข์ ร้องเรียน จะถูกปกปิดเป็นความลับแน่นอน เพื่อให้ผู้ร้องเกิดความปลอดภัยและรู้สึกสบายใจว่าจะไม่เกิดเหตุร้ายเมื่อให้ข้อมูลกับตำรวจ หรือร้องเรียนเรื่องใดก็ตาม โครงการนี้คาดว่าจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ม.ค.นี้เป็นต้นไป ในสถานีตำรวจนครบาล 88 สถานี ทั่วกรุงเทพมหานคร และจะมีการประเมินผลงานทุกเดือนว่าเป็นอย่างไร” พล.ต.ต.ชัยพร ย้ำเรื่องข้อมูลผู้ร้องเป็นความลับ

รอง ผบช.น. กล่าวว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าวได้ตระเวนสร้างความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติโครงการดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกกองบังคับการตำรวจนครบาล (บก.) แล้ว ผ่านการประชุมพูดคุยกับทุกสายงานทั้งพนักงานสอบสวน จราจร ป้องกันปราบปราม และฝ่ายสืบสวนให้เข้าใจร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญและมีผลต่อวาระการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ หากไม่ปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย หรือมีเรื่องร้องเรียนตกค้างไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้น หรือดำเนินการไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้