posttoday

"มองไทยหลังเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมือง" ปาฐกถา "ธีรยุทธ บุญมี"

10 ธันวาคม 2561

"ธีรยุทธ บุญมี" เปิดเวทีวิเคราะห์ปัญหา "สังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง-การศึกษา" ชี้ทุจริตรูปแบบใหม่ "คอร์รัปชั่นคอนเนกชั่น" มอง10กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดอำนาจครอบงำเศรษฐกิจ

"ธีรยุทธ บุญมี" เปิดเวทีวิเคราะห์ปัญหา "สังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง-การศึกษา" ชี้ทุจริตรูปแบบใหม่ "คอร์รัปชั่นคอนเนกชั่น" มอง10กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดอำนาจครอบงำเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2561 ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระ กล่าวปาฐกถา 45 ปี 14 ตุลา หัวข้อ "มองประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมือง" ว่า คนไทยหมกมุ่นกับปัญหาการเมืองมาตลอด 20 ปี จนมองข้ามปัญหาที่เป็นพื้นฐานกว่า เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ที่มีความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างขึ้นในทุกๆ ด้าน การศึกษาในทุกระดับมีคุณภาพลดลงอย่างน่าใจหาย การทุจริตคอร์รัปชั่นลามลงสู่รากหญ้า

กลุ่มทุนขนาดใหญ่ก่อตัวและขยายตัวมีอำนาจผูกขาดในทางเศรษฐกิจได้เกือบเด็ดขาด ที่สำคัญ คือสามารถสะกดเสียงไม่ให้ผู้ต่อต้านคัดค้าน หากกลุ่มทุนใหญ่ต้องการขยายกิจการที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วไป และสามารถควบคุมทุกมิติของเศรษฐกิจและทุกจังหวะชีวิตของคนไทย จนมีพฤติกรรมคล้ายๆกับที่ชาวบ้านเรียกว่า "ไก่ซีพี" เนื่องจากถูกป้อนอาหารตามชนิดและขนาดเป็นเวลาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถูกเชือด ขอตั้งชื่อคนไทยในอนาคตว่า "คนไทยซีพี" ซึ่งน่าจะให้ภาพใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมืองชัดเจน

ความรู้ 4.0 ยังไม่เพียงพอ

นายธีรยุทธ กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจ 4.0 ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีข้อดีในส่วนของการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจและภาคสังคม ตื่นตัวและปรับตัวต่อผลกระทบของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มีการพัฒนาระบบ E-Government แต่ก็มีข้อวิจารณ์หลายส่วน เช่น ไม่มีการปรับกระบวนทัศน์ให้สังคมไทยเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นพื้นฐานให้เกิดเศรษฐกิจความรู้ ประเทศที่เป็นแถวหน้าทางเศรษฐกิจ เช่น เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น

ทั้งนี้ยอมรับว่า ความรู้ด้าน 4.0 ยังไม่เพียงพอ ประเทศไทยยังขาดหลายส่วน เช่น ทรัพยากรบุคคล นวัตกรรม การค้นคว้าวิจัย เป็นต้น ล้วนอยู่ในขั้นต่ำทั้งสิ้น คำขวัญที่รัฐบาลพยายามจะบอกว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว นั้น ที่จริงแล้วเป็นการก้าวเดินไปเฉพาะอภิสิทธิ์ชนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

เปิดทุจริตรูปแบบใหม่ "คอร์รัปชั่นคอนเนกชั่น"

ส่วนปัญหาด้านสังคม ขณะนี้คนไทยกำลังจะแบ่งออกเป็น 2 ชนชั้นครึ่ง เนื่องจากประเทศไทยมีความแตกต่างทางรายได้สูงเป็นลำดับนำของโลก ทำให้คนรวยรวยล้นพ้น ชนชั้นกลางบางส่วนยุบตัวลงไปเป็นชนชั้นล่าง ทับซ้อนกับชนชั้นล่างที่พยายามขยายตัวไปขึ้นชั้นบน ซึ่งต้องเปลี่ยนคำขวัญว่า "รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน" คือ ชนชั้นกลางยังมีความแคระแกร็น

ต่อมา คอร์รัปชั่นขยายตัวไปทุกระดับชั้น ขยายวงกว้างไปในทุกวงการ ซึ่งเกิดจากโรคระบาดทางคุณธรรม คือ คนรวยโกงได้ คนชั้นกลาง คนชั้นล่างก็โกงได้ และแรงบีบคั้นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ดังนั้นชนชั้นล่างพยายามกดดันให้ภาครัฐมีนโยบาย "ประชานิยม" ลดแลกแจกแถม ชนชั้นกลาง ต้องการรักษาสถานภาพชีวิตแบบเดิม เกิดความนิยมสร้างเครือข่ายในแนวราบ เช่น กลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกัน กลุ่มเพื่อนในหลักสูตรต่างๆ จนสามารถสร้างอำนาจต่อรองกับชนชั้นสูงได้ จนนำไปสู่การคอร์รัปชันแบบใหม่ คือ คอร์รัปชันคอนเนกชั่นในที่สุด

ทุนใหญ่ 10 กลุ่ม ผูกขาดอำนาจ ครอบงำเศรษฐกิจ

วิกฤตการเมืองเกิดความพยายามของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่จะสถาปนาอำนาจของตัวเอง ก่อนเกิดวิกฤตการเมืองไทยมีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นใน 2 อย่าง คือ ในทางการเมืองเกิดกระแสการเรียกร้องปฏิรูปการเมืองปี 2540 อีกมิติเกิดขึ้นพร้อมกันคือวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเกิดจากกระแสเสรีนิยมใหม่ในโลกที่บังคับให้ไทยเปิดเสรีทางการเงิน

สองเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา เช่น เกิดฉันทามติว่าปัญหาใหญ่การเมืองไทยคือการแตกแยกเป็นกลุ่มก๊วน ทางแก้คือการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้นเป็นศูนย์กลางที่จะรวมกลุ่มก๊วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้ได้ พลังที่จะมีศักยภาพดังกล่าวในประเทศมีเพียงบุคคลที่มีบารมี กองทัพ และกลุ่มทุนใหญ่

ความคิดนี้ทดลองใช้ครั้งแรกผ่านกลุ่มทุนของทักษิณ อาศัยพลังเงินทุนรวบรวม ส.ส. มาเข้าพรรค และเพิ่มประชานิยม ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวบ้านสูงมาก แต่พรรคของทักษิณ รวมศูนย์อำนาจและคอร์รัปชั่นแบบสุดขั้ว คุกคามอำนาจทหาร ฝ่ายอนุรักษ์ และกลุ่มทุนใหญ่อื่น ๆ จนเกิดการต่อต้านรุนแรง เกิดรัฐประหารขึ้น 2 หน

ซึ่งช่วง 10 กว่าปีที่บ้านเมืองวุ่นวายมีการก่อตัวของกลุ่มทุนใหญ่ขึ้นประมาณเกือบ 10 กลุ่ม มีอิทธิพลครอบงำภาคเศรษฐกิจสำคัญๆ ไว้ได้เกือบทั้งหมดและมักเข้าไปมีอิทธิพลครอบงำการเมืองจนเกิดศัพท์เฉพาะเรียกการปกครองใต้อำนาจโดยตรงหรืออ้อมของคนกลุ่มน้อย คือทุนอิทธิพล

"มองไทยหลังเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมือง" ปาฐกถา "ธีรยุทธ บุญมี"

คสช.วางแผนตั้งใจสืบทอดอำนาจมานาน ทำการเมืองอ่อนแอ เมินกระจายอำนาจ

นอกจากนี้คสช.ตั้งใจสืบทอดอำนาจมานานแล้ว ตั้งแต่ล้มรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์มาเป็นร่างฉบับมีชัย ให้พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอชื่อคนนอกที่ไม่ใช่ ส.ส. หรือปาร์ตี้ลิสต์ เพิ่มทั้งจำนวนและอำนาจ ส.ว. ตั้งโดยทหาร 250 คน มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี การดึงกลุ่มการเมือง "ยี้" "มาร" มารวมเป็นพรรคพลังประชารัฐโดยไม่กังวลเสียงวิจารณ์ เป็นการการันตีเกือบ 100% ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ถ้าจะหาคำอธิบายซึ่งไม่ใช่ว่าเพราะทหารอยากอยู่ในอำนาจ อยากมีผลประโยชน์แล้ว ก็ต้องมองเชิงอุดมการณ์ของชนชั้นนำไทย ซึ่งปัจจุบันคืออุดมการณ์เสรีนิยมทางเศรษฐกิจกับอนุรักษ์ทางการเมืองสุดขั้ว ในทางนโยบายก็คือ รัฐเข้มแข็ง ตลาดเติบโต ซึ่งก็คือทำให้การเมืองอ่อนแอ สังคม ชุมชนอ่อนแอ ไม่ออกมาคัดค้านเสรีภาพของกลุ่มธุรกิจ เพราะความเชื่อว่าถ้าทหารกำกับการเมืองให้มั่นคง ไม่สนใจการกระจายอำนาจ เน้นความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของรัฐ แล้วปล่อยให้กลุ่มธุรกิจอิทธิพลใหญ่มีเสรีภาพในการขยายธุรกิจเต็มที่ไม่ต้องไปสกัดกั้น ก็พอเพียงที่ทำให้ประเทศมั่นคง เศรษฐกิจก้าวหน้าไปได้

การเมืองหลังเลือกตั้งประสานประโยชน์ ไม่ต่างจากระบอบทักษิณ

การเมืองไทยอนาคตจึงจะเป็นประชาธิปไตยอิทธิพล ของทหาร ข้าราชการ ชนชั้นนำทางความคิด และกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งมีโอกาสพัฒนาเป็นการเมืองใต้เงื้อมมือทุนอิทธิพล ได้ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์คงจัดตั้งรัฐบาลหน้าขึ้นได้ แต่ความชอบธรรมจะต่ำ เพราะรูปแบบการประสานประโยชน์ระหว่างพลังทหาร ข้าราชการ กลุ่มอนุรักษ์ และกลุ่มทุนใหญ่ ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

คสช. ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ เช่น ปปช. กกต. ปิดกั้นการตรวจสอบ พฤติกรรมเลือกตั้งก็ไม่ต่างไปจากระบอบทักษิณในอดีต คือมีการเอารัดเอาเปรียบก่อนเลือกตั้ง เช่น การดิสเครดิตนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยอำนาจรัฐประหารที่ตนมี จับกุม ดำเนินคดี หรือเรียกมาอบรม ไปจนถึงการแจกเงินคนจน คนแก่ ข้าราชการ ชาวไร่ ชาวสวน บัตรเครดิตคนจน แจกซิมฟรี อินเทอร์เน็ตฟรี ลดภาษี ช็อปช่วยชาติ ขึ้นรถไฟฟ้าฟรีฯ

รูปแบบโดยรวมการเลือกตั้งปี 2562 ก็คือการประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล คล้ายการเลือกตั้งปี 2542 ซึ่งพรรคทักษิณได้พัฒนาจากการซื้อเสียงธรรมดามาเป็นการประมูลสัมปทานเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยใช้ ประชานิยม ประมูลเสียงจากชาวบ้านอย่างได้ผล ได้รับการต่ออายุสัมปทานซ้ำหลายรอบ การเลือกตั้งครั้งนี้ดูจากพฤติกรรมของพรรคพลังประชารัฐบ่งว่าจะซ้ำรอยการประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเช่นกัน

วอน "ประยุทธ์" ระงับการใช้อภินิหารกฎหมาย

ต้องขอวิงวอนพล.อ.ประยุทธ์ กองทัพ และนายทหารที่มีวิจารณญาณ ช่วยระงับไม่ให้ฝ่ายต่างๆ ใช้อภินิหารกฎหมายหรืออำนาจอื่นๆ จนถึงขั้นมีเสียงกล่าวหาว่าเป็น การเลือกตั้งสกปรก หรือโกงการเลือกตั้งแบบเดียวกับสมัยเผด็จการทหารปี 2500 ความชอบธรรมต่ำจะทำให้รัฐบาลประยุทธ์ถ้าชนะการเลือกตั้งจะเจอปัญหารุมเร้าตั้งแต่เริ่มต้น

นอกจากนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนระบบคิดแบบทหาร หรือยังหลงคิดว่าตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีสิทธิชอบธรรมทุกประการ ให้มาเป็นการยอมรับความจริงของโลกยุคปัจจุบันที่มีพลังมีความคิดที่หลากหลาย ต้องมีการปรึกษาหารือ ปรองดอง และแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จึงจะมีโอกาสเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับบทบาทการบริหารประเทศไปได้

เตือนใช้วาทกรรม "ปรองดอง" เพื่ออยู่ในอำนาจต่อ

อย่างไรก็ดี การเมืองไทยมีโอกาสดีขึ้น เพราะมีแนวโน้มว่าจะมีหลายฝ่ายทั้งเอกชน ธุรกิจ บุคคล กลุ่ม พรรค สถาบันต่าง ๆ ได้ก้าวออกมารับผิดชอบบ้านเมืองด้วยตัวเอง โดยไม่หวังรอตัวบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป แต่เมื่อยิ่งพูดเรื่องปรองดอง ยิ่งห่างความปรองดอง การเมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะปกติ

วาทกรรมการสามัคคีปรองดองมักใช้ในยามที่บ้านเมืองเกิดปัญหา แต่ถ้าใช้มากเกินไปโดยไม่ได้เสนอให้ชัดเจนว่าประชาชนควรร่วมแก้ปัญหาแท้จริงของประเทศได้อย่างไร ก็อาจเป็นเครื่องมือของฝ่ายกุมอำนาจที่อยากอยู่ในอำนาจต่อ

ทั้งนี้ความขัดแย้งเหลือง-แดง กปปส. ในปัจจุบันถือเป็นภาวะปกติแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายเปลี่ยนจุดยืน อุดมการณ์ เพราะเวลาและสถานการณ์จะช่วยให้มีการปรับตัวให้ระบอบการเมืองดำเนินไปได้ตามสภาพเหมือนเดิมได้

กระบวนการเลือกตั้งที่กำลังดำเนินอยู่จะช่วยสร้างภาวะความแตกต่างอย่างปกติ ปกติเรามักคุ้นคำว่า แตกต่างแต่ไม่แตกแยก แต่ขอเพิ่มใหม่เป็น แตกต่างแต่แค่ถกเถียง ถกเถียงแต่ไม่ทะเลาะ ทะเลาะแต่ไม่ต่อสู้ ต่อสู้แต่ไม่แตกหัก ซึ่งทั้งพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยจะไม่มีใครใช้วาทกรรมหรือนโยบายสุดขั้วมาหาเสียง ต้องหาแง่มุมในการวิจารณ์ผลงานของพล.อ.ประยุทธ์หรือคสช. และสิ่งใหม่ที่จะให้กับสังคมและประชาชน และหวังว่า พรรคเพื่อไทย คงไม่ใช้แนวทางในนโยบายอย่างสุดโต่งในการหาเสียง เพราะหากใช้ พรรคที่จะโกยคะแนนเสียงคือ พรรคพลังประชารัฐ แต่พรรคเพื่อไทยต้องหาแง่มุมอื่นมาวิพาษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์

"มองไทยหลังเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมือง" ปาฐกถา "ธีรยุทธ บุญมี"

4 มิติใหม่การเมืองเป็นความหวังปฏิรูปบางด้านและต่อต้านคอร์รัปชั่น

มีมิติการเมืองใหม่อยู่ 4 อย่าง คือ โซเชียลมีเดีย ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ การขยายตัวพลังบวกของจิตอาสา และการแตกตัวของเพื่อไทย การเกิดโซเชียลมีเดียและเครือข่ายสังคมออนไลน์มีพลังทำให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น ตำรวจ ราชการ และรัฐบาล สนองตอบในหลากหลายประเด็น จึงเป็นความหวังในการปฏิรูปบางด้านและการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้

ส่วนปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ก็ต่อรองให้เกิดอัตลักษณ์และพื้นที่ของตัวเองในพรรคใหญ่ จนถึงขั้นตั้งพรรคของตนเองได้ เช่น พรรคอนาคตใหม่ นี้สอดคล้องความต้องการของสังคม ซึ่งต้องการสิ่งใหม่หรือปฏิเสธวัฒนธรรมอำนาจการเมืองแนวตั้งแบบบนสู่ล่างของพรรครุ่นเก่า ให้เป็นความสัมพันธ์แนวราบซึ่งเท่าเทียมกันมากกว่า

นอกจากนี้บางพรรคการเมืองก็เพิ่มบทบาทสมาชิกพรรคมากขึ้น เป็นมิติใหม่ที่เกิดขึ้น ส่วนพลังบวกของจิตอาสาเป็นพลังของคนไทยที่ยุคสมัยนี้มีความเป็นปัจเจกชน ต้องการทำดีตามที่ตัวเองชอบ ตัวเองสะดวก สะท้อนเป็นพลังมหาศาลของสังคมไทยในช่วงงานพระบรมศพรัชกาลที่ 9 และสืบเนื่องมาเรื่อย ๆ รัชกาลปัจจุบันก็ทรงให้ความสำคัญส่งเสริมจิตอาสา อย่างมาก ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันพลังนี้ก็อาจกลายเป็นพลังสำคัญหนึ่งของสังคมไทยที่จะปฏิรูปตนเองได้

พรรคเพื่อไทยก็เป็นปรากฏการณ์ที่ควรศึกษา เพราะมีฐานเสียงที่หนักแน่นกว้างขวางกว่าพรรคอื่นมาได้เกือบ 2 ทศวรรษ แต่ขณะนี้เพื่อไทยแตกออกเป็นหลายพรรคย่อยซึ่งควรส่งผลทางโครงสร้างการเมืองดีขึ้น คือมีกลุ่มการเมืองที่การตัดสินใจเป็นอิสระมากขึ้น การขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและบางครอบครัวลดลง ถ้าพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และทุกพรรค พัฒนานโยบายให้สร้างสรรค์ที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องด้วย เว้นวาทกรรมแบบเกลียดชังสุดขั้ว ก็จะทำให้การเลือกตั้งคราวหน้าเดินไปด้วยดี มีโอกาสร่วมมือกันแก้รัฐธรรมนูญแก้กฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งถ้าทำโดยร่วมกันแสดงเหตุผลที่เหนือกว่าก็อาจจะทำได้สำเร็จโดยไม่ต้องเผชิญหน้าแบบปะทะรุนแรงกับฝ่ายทหารอีก

"มองไทยหลังเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมือง" ปาฐกถา "ธีรยุทธ บุญมี"