posttoday

หมอเอ้ก "New Dem" ปชป. คิดนอกกรอบ ขอเปลี่ยนสังคม

18 พฤศจิกายน 2561

ความคิด-วิสัยทัศน์ "หมอเอ้ก-นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์" อีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่เปิดตัวในนามกลุ่ม “New Dem คนรุ่นใหม่คิดนอกกรอบ”

ความคิด-วิสัยทัศน์ "หมอเอ้ก-นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์" อีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่เปิดตัวในนามกลุ่ม “New Dem คนรุ่นใหม่คิดนอกกรอบ”

**********************************

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

อีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่เปิดตัวในนามกลุ่ม “New Dem คนรุ่นใหม่คิดนอกกรอบ” ที่มาพร้อมแนวคิดการผลักดันการค้ากัญชาให้ถูกกฎหมายด้วยมุมมองที่เห็นว่านี่จะเป็น “โอกาส” ของประเทศไทยที่จะก้าวไปสู่ผู้ผลิตพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ด้วยมูลค่าการตลาด 1.64 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 7 ปีข้างหน้า

หมอเอ้ก-นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงการแพทย์กว่า 6 ปี คู่ขนานไปกับการร่วมเปิดบริษัท Crowdfunding ระดมทุนเพื่องานด้านนวัตกรรมการแพทย์และงานวิจัย ก่อนผันตัวมาลงทุนในธุรกิจสุขภาพ ณ เวลานี้เขากำลังจะก้าวเข้าสู่ถนนการเมืองเต็มตัว

นพ.คณวัฒน์ ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ เริ่มตั้งแต่ประเด็นความสนใจงานการเมือง ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน ถึงขั้นที่ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเรียน “รัฐศาสตร์” หรือ “แพทย์” ​ซึ่งสุดท้ายก็ตัดสินใจเอนทรานซ์และเข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากนั้นต้องไปใช้ทุน​เป็น​แพทย์ประจำโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย​ จ.ชลบุรี ก่อนกลับมาศึกษาต่อด้านจักษุวิทยา ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ​

ทว่า ในขณะเดียวกันก็ยังสนใจติดตามงานด้านการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง จนช่วงที่ไปอยู่ต่างประเทศเริ่มเห็นว่าปรากฏการณ์การเมืองไทยที่มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องจนเริ่มคิดว่ามีอะไรผิดปกติในการเมืองไทย ขณะที่คนอื่นเริ่มเบื่อหน่าย แต่ตัวเขากลับสนใจอยากจะเข้ามาทำงานด้านการเมือง

“เพราะผมเป็นแบบนั้น ต้องการเห็นคนรุ่นใหม่ๆ ​อยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้น ในระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องปกติมากที่คนจะมาถกเถียงกัน แต่ต้องไม่ใช่บนถนน หรือใช้ความรุนแรง เราต้องออกมาจากจุดนั้นไม่เช่นนั้นประเทศจะวนอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผมก็คิดแบบง่ายๆ คิดแบบเด็กๆ”

หมอเอ้ก อธิบายว่า จุดเริ่มต้นไม่ได้สนใจว่าจะทำการเมืองในจุดไหน พรรคไหน ตำแหน่งไหน แค่อยากผลักดันนโยบายให้ประเทศดีขึ้น ซึ่งจับพลัดจับผลูเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกับ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ และรู้จักพี่ชายของไอติม ตั้งแต่สมัยเรียนปีหนึ่งทำให้รู้นิสัยใจคอกัน อุดมการณ์ที่ตรงกัน

“จนประมาณปลายปี 2560 เริ่มมาคุยกันชัดเจนขึ้นไอติมกำลังจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยึดมั่นในระบบรัฐสภา และมีอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นหลัก ไม่เห็นด้วยกับการล้มเลือกตั้ง ล้มระบอบรัฐสภา ส่วนตัวก็สนใจอยากจะผลักดันนโยบายด้านสาธารณสุขจึงมาคุยกันจริงจังเดือน มี.ค.”

ถามว่าส่วนตัวชื่นชอบพรรคไหนเป็นพิเศษหรือไม่ คณวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ได้สนับสนุนพรรคใดเป็นพิเศษ ชอบเป็นรายบุคคลมากกว่า เพราะพรรคการเมืองไทยยังไม่ได้ชัดเจนในเชิงอุดมการณ์เหมือนสหรัฐที่มีพรรคคอนเซอร์เวทีฟ เลเบอร์ เดโมแครต รีพับลิกัน

“อย่างคุณอภิสิทธิ์ก็เป็นไอดอลคนหนึ่งผมชอบในฐานะนักการเมืองมืออาชีพ ซื่อสัตย์ หรือคุณทักษิณ (ชินวัตร) ก็ชอบในการบริหารจัดการพื้นฐานเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมาใช้บริหารประเทศ​ผมชื่นชมเขาที่พูดวิชั่นในนโยบาย และทำให้เกิดขึ้นได้จริง แต่ระหว่างทางมีคอร์รัปชั่นก็ไม่เห็นด้วย”​

​หมอเอ้ก เล่าให้ฟังว่า ไม่ได้มีพรรคการเมืองไหนมาทาบทาม แต่ส่วนตัวแล้วก็รู้จักกับผู้ใหญ่หลายๆ คนในพรรคอื่น อย่างเพื่อไทย ก็รู้จักกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ที่มองประชาชนเป็นหลัก และเคยไปขอคำแนะนำในเส้นทางอาชีพ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่นโยบาย ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีหลายคนที่คุยมาตลอด

นพ.คณวัฒน์ เล่าให้ฟังว่า ส่วนตัวต้องการผลักดันให้เกิดนโยบาย 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ระบบบริจาคอวัยวะให้เป็นแบบ Opt-out system จากปัจจุบันที่เมืองไทยเป็นแบบ Opt-in system คือใครอยากเป็นผู้บริจาคอวัยวะก็เข้าไปขึ้นทะเบียน ซึ่งระบบนี้มีคนมาบริจาคน้อย ขณะที่ฝั่ง ออสเตรีย ฝรั่งเศส เขาเปลี่ยนวิธีคิดคือทุกคนที่เป็นพลเมืองคือผู้บริจาคทั้งหมด ยกเว้นคนที่ไม่อยากบริจาคก็ไปแจ้งว่าจะออกจากโปรแกรมซึ่งทำได้ทุกเมื่อและจะได้รับการปกปิดข้อมูล

ทั้งนี้ หากเปลี่ยนระบบมาเป็น Opt-out คนบริจาคจะเยอะมาก ยกตัวอย่าง ออสเตรีย ซึ่งเป็นระบบ Opt-out ขณะที่เยอรมนีประเทศติดกัน ใช้ระบบ Opt-in คนบริจาคแตกต่างกันชัดเจนคือ 99% กับ 20% จากประสบการณ์เป็นหมอตาที่ต้องรอเปลี่ยนตาบางคนรอ 5 ปี ยังไม่ได้คิว บางคนเสียชีวิตไปก่อน

“ตรงนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนระบบ แต่ต้องมีการวางแผน​ ให้มีการเตรียมตัวของรัฐ หน่วยจัดเก็บ สถานที่จัดเก็บ เจ้าหน้าที่มีความรู้พอหรือยัง อย่างอังกฤษยังไม่ได้เปลี่ยนระบบ หากผ่านนโยบายก็จะต้องรอ 5-10 ปี ถึงจะเริ่มใช้ ให้มีเวลาเตรียมตัวทั้งประชาชน หน่วยงานรัฐ”

​2.จัดทำระบบฐานข้อมูลสุขภาพ เพราะระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม เวลาเราเที่ยวต่างจังหวัด เข้าโรงพยาบาลถ้าไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินก็จะส่งตัวมาที่ต้นสังกัด ไม่รักษาที่
โรงพยาบาลที่นู่น หรือการเรียกประวัติคนไข้ ก็ยังทำไม่ได้เพราะระบบไม่เชื่อมต่อกัน หรือกรณีฉุกเฉินเกิดอุบัติเหตุคนไข้หมดสติ ต้องการประวัติคนไข้ก็เป็นไปไม่ได้

รวมทั้งยกตัวอย่างเช่นเวลาเข้าตรวจโรงพยาบาลฉะเชิงเทรา รักษาไม่ได้ต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ขึ้น ทั้ง ศิริราช รามาธิบดี จุฬาฯ ต้องเขียนใบส่งตัว ก็ยังไม่สามารถส่งตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ และเขียนเป็นกระดาษหน้าเดียว บางคนมีรายละเอียดเยอะมากไม่ใช่จะเขียนได้หมดแค่หน้าเดียว ​

“ผมจึงสนใจอยากให้ประเทศมีระบบฐานข้อมูลจริงจัง แต่ละคนเป็นเจ้าของฐานข้อมูลสุขภาพของตัวเอง เช่น นาย ก. อนุมัติให้โรงพยาบาลเข้าถึงข้อมูลได้ โรงพยาบาลก็จะเห็นข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่เกิดว่า นาย ก. มีโรคประจำตัวอะไร กินยาอะไรอยู่ ผ่านการผ่าตัดอะไรมาบ้าง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจะอิมพลีเมนต์นโยบาย ก็จะมีฐานข้อมูลว่าประชากรมีปัญหาสุขภาพอะไรบ้างหนึ่งสองสามสี่ห้า”

หมอเอ้ก "New Dem" ปชป. คิดนอกกรอบ ขอเปลี่ยนสังคม

หมอเอ้ก อธิบายว่า งบประมาณในส่วนนี้ใช้ไม่มาก เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้อย่าง “บล็อกเชน” ที่จะช่วยให้แต่ละคนมีข้อมูลตัวเอง คนข้างนอกก็แฮ็กเข้ามาเปลี่ยนแปลงประวัติไม่ได้ ซึ่งหากรัฐจะลงทุนวางระบบเองหมดก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร การเปิดให้เอกชนมาประมูลแข่งอาจจะประหยัดได้พอสมควร

“ตอนอยู่ที่อเมริกาช่วยที่ Kickstarter Indiegogo กำลังดัง ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้มาบ้าง แต่ส่วนตัวไม่ได้เป็นคนเก่งเรื่องนี้ แต่โชคดีมีทีมงานที่จบด้านไฟแนนซ์ ทำให้เข้าใจมากขึ้น และต้องคอยอัพเดทตัวเองอย่างเรื่องคราวด์ฟันดิ้งที่เริ่มตั้งแต่สมัยบิตคอยน์ยังถูกๆ ใช้ซื้อพิซซ่าจนเดียวนี้แพงมากและเริ่มตก”

3.เปิดการค้ากัญชา ซึ่งเป็นโอกาสของเมืองไทย เพราะว่าตอนนี้ประเทศแคนาดาเปิดเสรีทั้งเสพเพื่อความบันเทิงด้วยซ้ำ หลายรัฐในสหรัฐเป็นตลาดที่กำลังมา ในอีก 7 ปี ตลาดกัญชาโลกจะอยู่ ที่ 1.64 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่หลายประเทศยังไม่ผ่อนปรนให้ปลูกกัญชาเสรี ทำให้อุปทานยังน้อยอยู่ถ้าไทยชิงจังหวะก่อนได้ เป็นผู้เล่นหลักในตลาดก็จะเป็นโอกาส

“เราไม่ได้เข้าไปถกเถียงว่าควรเสพกัญชาเสรีหรือไม่ แต่พูดในแง่เสรีการผลิต การปลูก การสกัดสาร เพื่อส่งออกเป็นรายได้ประเทศ ​ส่วนการใช้ทางการแพทย์รัฐบาลปัจจุบันก็เห็นด้วย แต่เรื่องเสพเพื่อความผ่อนคลาย บันเทิง จากงานวิจัยมีทั้งบอกว่าจะช่วยลดการเสพยาเสพติดอื่นๆ หรือเปิดเสรีก็ไม่กระทบกับยาเสพติดอื่น ซึ่งเป็นงานวิจัยต่างประเทศ หากจะมองบริบทของไทยต้องมาทำวิจัยของไทยเองต่อไป”

รวมทั้งหากจะลงลึกในรายละเอียดก็ต้องไปดูว่าการสกัดสารจากกัญชา มีสาร CBD และ THC ความเข้มข้นของสารเหล่านี้ยิ่งมากยิ่งมีผลต่อการเสพติด ต้องมาศึกษาว่าจะผ่อนปรนความเข้มข้นควรจะเป็นเท่าไรไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อความผ่อนคลาย เป็นปัจจัยยิบย่อยที่จะต้องไปพิจารณารายละเอียด

นพ.คณวัฒน์ มีข้อเสนอเกี่ยวกับกัญชาคือ​ ควรเปิดการค้า รัฐส่งเสริมงานวิจัยสายพันธุ์กัญชา เพราะไทยมีความได้เปรียบ สมัยสงครามเวียดนาม “ไทยสติ๊ก” กัญชาแท่งที่เผ่าม้งทำเป็นที่รู้จักในกลุ่มจีไอ เพราะเสพแล้วมีความสุข วันถัดมาไม่แฮง จนขึ้นบัญชีให้กัญชาเป็นสารเสพติดจึงค่อยๆ หายไป หากปลดล็อกให้เอกชนเข้ามาพัฒนาเพราะหลังปลดล็อกเราคงยังตามต่างชาติไม่ทันต้องส่งเสริมการวิจัย ปกป้องสิทธิบัตร อันเป็นประโยชน์ของประเทศ

“รัฐ​ไม่ใช่คนที่ต้องลงไปทำเอง แต่ต้องทำหน้าที่ผู้ช่วยเปิด​ตลาด ให้หอการค้า ทูตพาณิชย์ ไปเปิดตลาดกัญชาไทยยังไงให้ได้มาตรฐานโลก เหมือนข้าวไทยที่เป็นที่รู้จัก ทำไมกัญชาจะทำแบบเดียวกันไม่ได้ ​ปัจจุบัน การปลดล็อกต้องไปดูรายละเอียดว่าเป็นการลดสถานะสารเสพติดจากระดับ 5 เป็นระดับ 2 แล้วยังมีอะไรซ่อนไว้อีก ต้องไปดู”

ถามถึงอนาคตการเมืองต่อจากนี้ หมอเอ้ก กล่าวว่า อยากผลักดัน 3-4 เรื่องนี้ หากจะทำก็ต้องเข้าไปออกกฎหมาย หากจะออกกฎหมายก็ต้องเข้าไปในสภา แต่ถามว่าต้องลงสมัคร สส.หรือไม่อย่างไรก็แล้วแต่ทางพรรคด้วย ว่าจะจัดสรรปันส่วนอย่างไร เพราะไม่ใช่เขาคนเดียวที่มีความคิดใหม่ๆ อยู่ที่จะตอบโจทย์พรรคในการเลือกตั้งแล้วอยู่ตรงไหน

“ถามว่า​ สส.เขต สส.บัญชีรายชื่อ สนใจอะไรมากกว่ากัน ผมได้หมด ลงเขตก็น่าสนใจเพราะผมชอบตอนเป็นหมอ ชอบตรวจคนไข้ ชอบคุยกับคน ถ้าลงเขตก็โอเค ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้นโยบายเป็นหลัก ตอบโจทย์ ผมก็ทำได้หมด ตอนนี้ก็เริ่มจากจุดเล็กๆ กับกลุ่ม New Dem”​

นพ.คณวัฒน์ ขยายความว่า ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำงานการเมืองนั้น ถ้าเป็นแค่คนคนเดียวก็จะรู้สึกหดหู่มาก แต่ที่เห็นหลายพรรคก็ล้วนแต่มีคนรุ่นใหม่ ทำให้รู้สึกดีว่ามีคนรุ่นใหม่หลายคน จริงๆ แล้วการศึกษาพบว่าสังคมสังคมหนึ่ง 100 คน การจะเปลี่ยนแปลงความคิดสังคมได้นั้น ใช้คนเพียงแค่ 25 คนก็เปลี่ยนมายด์เซตของคนในสังคมนั้นได้​

“พอมีคนรุ่นใหม่เยอะ แต่ละคนก็หวังต้องการเปลี่ยนประเทศที่ติดหล่มมาตั้งแต่ปี 2549 คนรุ่นใหม่ มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ให้ติดอยู่ในวังวนเดิม ​แต่หากคนรุ่นใหม่เข้ามาแล้วยังลากกลับไปสู่วังวนเดิมๆ ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง ผมก็เป็นแค่ทางเลือกที่ 3 ไม่อยากให้กลับไปอยู่วังวนเดิม”​

นพ.คณวัฒน์ เชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่นั้นมีความหวังว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้แน่นอน เพราะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ต่างพรรคก็มีจุดหมายให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ทั้งเพื่อไทย ไทยรักษาชาติ อนาคตใหม่ ซึ่งการเมืองต้องแยกแยะเพราะการเมืองขัดแย้งกันได้บนหลักการประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยออกแบบมาให้ถกเถียงกันได้ แต่หากนอกเหนือจากนี้ก็ต้องเลิก

ก่อนหน้านี้มีคนเคยถามว่าหากประชาธิปัตย์ไม่ชนะเลือกตั้งจะช่วยบ้านเมืองได้ไหม จริงๆ แล้วถ้าคุณไม่ใช่นักการเมืองก็ช่วยประเทศได้ เพราะทั้งข้าราชการ นักธุรกิจ ประชาชน ก็ช่วยได้ อย่าโยนความรับผิดชอบให้นักการเมืองทั้งหมด ดังนั้นหากไม่ได้เป็นนักการเมืองก็จะผลักดันเรื่องที่อยากทำต่อในวิธีอื่นที่ไม่ต้องเข้าสู่อำนาจอธิปไตย