posttoday

เดินหน้าไพรมารีโหวต ถ้าแก้กฎหมายแล้วแย่เข้าสู่วงจรอุบาทว์แน่

26 สิงหาคม 2561

"พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม" ไม่เห็นด้วยหากต้องแก้กฎเกณฑ์การทำไพรมารีโหวต หวั่นจะถอยหลังกลับไปสู่วิกฤตอีกครั้ง

"พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม" ไม่เห็นด้วยหากต้องแก้กฎเกณฑ์การทำไพรมารีโหวต หวั่นจะถอยหลังกลับไปสู่วิกฤตอีกครั้ง

***************************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ประเด็นการทำไพรมารีโหวตามเงื่อนไขที่กำหนดใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังคงถูกพูดหนัก ณ เวลานี้ ท่ามกลางความกังวลของบรรดาพรรคการเมืองที่เกรงจะทำไม่ทันตามกรอบเวลาที่กำลังนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งปีหน้า

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ผลักดันเรื่องนี้ เปิดใจผ่าน “โพสต์ทูเดย์” พร้อมขอย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ในอดีต ก่อนที่จะเกิดวิกฤตทางการเมืองเมื่อเดือน พ.ค. 2557

พล.อ.สมเจตน์ บอกว่า ช่วงนั้นเกิดวิกฤตของรัฐสภา เพราะพรรคการเมืองไปเสนอกฎหมายสนองผลประโยชน์ผู้มีอำนาจทางการเมืองในกลุ่ม ในพรรค ของตนเอง จนนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องขนานใหญ่ และเกิดกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปพรรคการเมือง

“ช่วงนั้นคนมองพรรคการเมืองเป็นของกลุ่มทุน ครอบครัว กลุ่มการเมือง ไม่ได้เป็นของประชาชน หลังจากเข้าสู่อำนาจของ คสช. ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 27 ด้วยการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมามีหน้าที่ปฏิรูปทางการเมือง และมีการเสนอแนวทางปฏิรูปพรรคไม่ให้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงเสนอให้มีการเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารีโหวต”

พล.อ.สมเจตน์ อธิบายต่อว่า ระบบนี้เป็นการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตัวเอง จากข้อเสนอ สปช.ส่งต่อมา สปท.ซึ่งได้เสนอใน กมธ.ทางด้านการเมือง สปท.และคณะกรรมการชุดนี้ก็มีนักการเมืองที่เป็นผู้ใหญ่หลายคน เสนอแนวทาง วิธีการทำปฏิรูปพรรค ต้องทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมือง ให้พรรคการเมืองเป็นโดยสมาชิกพรรคมีส่วนร่วม โดยเฉพาะการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ดี จากแนวความคิดที่สืบเนื่องมา ที่สุดไปบรรจุในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้พูดไว้ในมาตรา 45 มาตรา 90 สิ่งสำคัญที่สุด มาตรา 258 การปฏิรูปทางการเมือง พูดชัดเจนปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมือง ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพรรคการเมือง มีส่วนร่วมในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ซื่อสัตย์ สุจริต มีความรู้ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม

“การเสนอ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จะไม่มีการเสนอชัดเจนว่าให้วิธีการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยการเลือกตั้งขั้นต้น แต่ก็ได้พูดไว้ภาพรวมๆ ชัดเจน และจากการเข้าไปศึกษาวิธีการที่จะทำให้สถาบันพรรคมีวิธีการแบบใดบ้าง ถ้าไม่ชัดเจน ที่สุดขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองทำอย่างไร ซึ่งพบในข้อ สปท.คือ วิธีการนี้”

ทั้งนี้ หากถามว่าทำไมต้องปฏิรูปพรรคการเมือง ในอดีตบรรดาผู้สมัคร สส.ของพรรค ต่างกลัวว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไป ผู้มีอำนาจ ผู้มีอิทธิพล ในพรรคการเมือง จะไม่ส่งลงเลือกตั้ง ดังนั้น เห็นได้ว่าเมื่อ สส.เข้าสู่สภา แม้บอกว่าจะต้องทำตามมติพรรค แต่มติพรรคนั้นต้องสนองต่อประโยชน์ประเทศชาติส่วนร่วม แต่ถ้ามติพรรคนั้นสนองต่อประโยชน์ส่วนตัว สมาชิกจำเป็นต้องปฏิบัติตาม

“เรามองเห็นว่าวิธีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จากผู้มีอิทธิพลในพรรคให้เป็นอำนาจสมาชิกพรรค สอดคล้องกับเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ กรธ.ที่ยกระดับความสำคัญสมาชิกพรรค ซึ่งอดีตความสำคัญของสมาชิกพรรคกับพรรค เพียงแค่เข้ามาสมัครสมาชิกแล้วก็ลืม”

ขณะเดียวกัน กรธ.จึงไปกำหนดว่า สมาชิกพรรคการเมืองจะต้องจ่ายค่าบำรุงพรรค เพื่อสร้างความสัมพันธ์ แต่เมื่อกำหนดความสำคัญของสมาชิก ก็จบเพียงแค่จ่ายค่าสมาชิก แต่ควรมีอำนาจในการเลือกผู้สมัคร แล้วสอดคล้องกับมาตรา 258 ก.อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม คือ ปฐมบทที่มาด้วยเหตุและผล ว่าทำไมเสนอแนวทางนี้

สำหรับปัญหาการทำไพรมารีโหวตนั้น พล.อ.สมเจตน์ ขยายความว่า ปัญหาคืออะไร ทำไม่ดี ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นการปฏิรูปพรรค ดังนั้นต้องมาพูดกันว่า มีวิธีการปฏิรูปได้ดีกว่าวิธีการนี้หรือไม่ ก็เสนอเข้ามา แต่ถ้าดี เป็นไปตามแนวทางประชาธิปไตย ทำไมถึงไม่ทำ เพราะอะไร ถ้าบอกว่ามีปัญหา เงื่อนไขของเวลา ก็ไม่ใช่เงื่อนไขของการปฏิรูป

“เงื่อนไขของเวลาก็ต้องไปแก้ไขในเรื่องเวลา ดีหรือไม่ดี ทำหรือไม่ทำ มันต้องตีให้ชัดเจน ถ้าดีก็ควรจะทำ ถ้าไม่ดีก็ไม่ควรทำ หรือถ้ามีวิธีการอื่นดีกว่านี้ ก็เอาวิธีการนั้น มันต้องแก้ไปทีละเปลาะ แต่บอกว่าดีควรทำ แต่ติดเรื่องเวลา ก็ไปแก้ที่เวลา”

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวด้วยว่า หลังจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกาศใช้ ซึ่งจะเริ่มต้นก็ประมาณเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นกฎหมายมีผลบังคับใช้ไปอีก 90 วัน และยังอีก 90 วัน ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ก็รวมตั้งแต่เดือน ก.ย.ไปเป็นระยะเวลาประมาณ 240 วัน หรือ 8 เดือน ระยะนี้ก่อนไปถึงกำหนดวันเลือกตั้ง มีเวลาเพียงพอในการจัดตั้งขบวนการเพื่อให้เกิดการทำไพรมารีโหวตหรือไม่ ถ้ามีเวลาไม่พอ ก็ขยายเวลาออกไป

อย่างไรก็ตาม หากการขยายเวลาต้องไปกระทบโรดแมป ก็ถือเป็นความต้องการของพรรคการเมือง บางอย่างจะเอา บางอย่างไม่เอา แล้วบอกมีปัญหา แล้วจะเอาอะไร ฉะนั้นอย่าเอาปัญหาหนึ่ง ไปตีรวนกับอีกปัญหาหนึ่ง อย่าเอาเงื่อนเวลามาบอกว่าไม่อยากทำ เพราะการปฏิรูปพรรคการเมือง คือ การปรับลดอำนาจของผู้มีอำนาจในพรรค มาเป็นอำนาจของสมาชิก แนวความคิดนี้ดีหรือไม่ ถ้าไม่ดีแล้วไหนบอกว่าประชาธิปไตย

“เพียงแต่คุณจะให้สิทธิสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งเป็นพรรคของคุณ ยังไม่ยอมให้ แล้วคุณจะมาบอกว่าเป็นปวงแทนประชาชนชาวไทยได้อย่างไร ถ้ามีเวลานี้คุณต้องใช้เวลาอีกเท่าไร ก็ต้องคุยกับ คสช. กกต. เวลาที่ผมบอกไปอีก 240 วัน ถ้าคุณไม่พอก็เลื่อนการเลือกตั้งออกไป แม้บ้านเมืองไม่มีเลือกตั้ง 4 ปี ก็สงบเรียบร้อยดี ต้องแก้ทีละประเด็น”

“การทำไพรมารีโหวตอย่าคิดแต่งเพียงว่าให้ทำ และชี้ว่ามีส่วนร่วมแล้ว แต่ไม่เห็นอะไร มันไม่ใช่วิธีการปฏิรูปพรรคให้เป็นสถาบันการเมือง แต่เป็นการเลี่ยงที่จะไม่ทำแบบนั้น และไม่ให้ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าต้องย้อนมาดูกฎหมายว่าแก้ได้หรือไม่เพราะกฎหมายคนเขียนต้องแก้ได้ แต่ถ้าแก้แล้วต้องดีกว่าของเดิม ไม่ใช่แก้แล้วแย่กว่าเดิม มันไม่สมควรจะทำ ดังนั้นไพรมารีโหวตต้องมีต่อไป ไม่อยากให้ยกเลิก ยกเว้นมีแนวทางที่ดีกว่าก็พร้อมสนับสนุน แต่ถ้าแก้แล้วแย่ไปกว่านี้ จะทำไปทำไม”

ส่วนจะใช้มาตรา 44 เข้ามาแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ประเด็นเรื่องไพรมารีโหวตนั้น ถามว่าแก้เพื่ออะไร แก้แล้วอะไรดีขึ้น หรือมันแย่ลง ต้องชี้เป็นประเด็นๆ ไป แต่อยากให้คิดว่าการจะแก้ จะต้องไม่ให้ทำให้ประเทศชาติกลับเข้ามาสู่วงจรอุบาทว์เหมือนแต่ก่อน

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวต่อว่า หากพูดถึงวงจรอุบาทว์ มันจะมองทหารเข้ามายึดอำนาจ แต่ต้องถามจุดเริ่มคือใคร ได้นักการเมืองที่ไม่ดี ได้อำนาจแล้วเอาไปใช้อย่างไม่เป็นธรรม ไปทุจริต จนบ้านเมืองไม่สามารถอยู่ได้ ทหารจึงต้องมายึดอำนาจ แต่ถามว่าใครให้ประชาธิปไตย นักการเมือง หรือทหาร การเลือกตั้งเริ่มต้นมาจากทหารทั้งนั้น ในที่สุดเมื่อยึดอำนาจบ้านเมือง ก็กลับไปสู่การเลือกตั้ง

“จะบอกว่าทหารทำลายประชาธิปไตยหรือผู้ให้ประชาธิปไตย คนทำลายประชาธิปไตยไม่ใช่ทหาร ถ้านักการเมืองสามารถบริหารประเทศไปตามแนวทางประชาธิปไตย เจริญเติบโต ประชาชนมีความสุข การปฏิวัติไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นใครเป็นคนทำลายประชาธิปไตย ก็นักประชาธิปไตยเป็นผู้ทำลาย”

ทั้งนี้ ทหารมาหยุดยั้งความเสียหายของประเทศ ไม่ให้เสียหายไปมากกว่านั้น เมื่อจัดระเบียบได้พอสมควร ทหารเป็นผู้กำหนดการเลือกตั้งทุกครั้ง การทำลายวงจรนี้ต้องพัฒนาปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมือง เวลาได้อำนาจบริหารจะบริหารประเทศชาติไปตามครรลองคลองธรรมที่ถูกต้อง

“เราเป็นประชาธิปไตยมา 80 กว่าปีแล้ว ยังกระท่อนกระแท่น ถามว่าไม่เอาหรือไม่ ก็ไม่ใช่ ก็ต้องเดินไป วิธีการนี้ยาก ลำบาก แต่ดีหรือไม่ พรรคการเมืองมองว่าไม่ดีตรงไหน ก็ต้องบอกมา แต่ขอร้องพรรคอย่าอ้างว่า การเลือกตั้งแบบนี้ ทำให้พรรคการเมืองแตกแยก เพราะเป็นข้ออ้างที่ทำลายประชาธิปไตย

...ขนาดเลือกในพรรคยังแตกแยก แล้วการเลือกในประเทศจะไม่แตกแยกหรือ อย่าเอาวิธีนี้มาเป็นข้ออ้าง เพื่อทำลายประชาธิปไตย แสดงว่าการเลือกตั้งไม่ดี ซึ่งคิดว่าไม่ใช่ การเลือกจากคนหลายๆ คน มันก็มีดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่มันก็มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันไป การตัดสินใจโดยคนคนเดียว เวลาดีก็ดีสุดโต่ง แต่เวลาตกเหวก็ตกเลย แต่ประชาธิปไตยมันจำทำหน้าที่บาลานซ์กันในตัว”