posttoday

มั่นใจยังเอาอยู่! ต้องมีฝนหนักอีก10เท่า น้ำถึงจะล้นเขื่อน

09 สิงหาคม 2561

โอกาสที่น้ำจะล้นสันเขื่อนในไทยนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบได้พร่องน้ำในเขื่อนไว้รองรับสถานการณ์แล้วล่วงหน้า รวมทั้งต้องมีปริมาณฝนตกมากกว่าปัจจุบันอีก 10 เท่า

โอกาสที่น้ำจะล้นสันเขื่อนในไทยนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบได้พร่องน้ำในเขื่อนไว้รองรับสถานการณ์แล้วล่วงหน้า รวมทั้งต้องมีปริมาณฝนตกมากกว่าปัจจุบันอีก 10 เท่า

**************************

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

สถานการณ์น้ำท้ายเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณมาก น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เริ่มเอ่อล้นทางระบายน้ำฉุกเฉินหรือสปิลเวย์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 6 ส.ค. หลังจากมีฝนตกลงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย ประกอบกับเกิดเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงอัตตะปือ ของ สปป.ลาวแตก ทำให้คนไทย ต่างรู้สึกวิตกกังวลกับปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนเป็นอย่างมาก รวมถึงส่งผลให้เกิดข่าวลือ ว่า เขื่อนอาจจะรับปริมาณน้ำไม่ไหว

อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โดยปกติแล้ว ปัจจัยที่จะทำให้เขื่อนแตก มี 2 ปัจจัยหลัก คือมีน้ำล้นสันเขื่อน และฐานรากของเขื่อน ทรุดตัวลง แต่ปัจจัยทั้งสองอย่างนั้นเกิดขึ้นได้ยาก เพราะปัจจัยแรก จะเกิดขึ้นได้ คือต้องมีปริมาณน้ำมาก ซึ่งโดยหลักการ จะต้องถูกปล่อยออกไปก่อนที่จะปล่อยมีระดับที่จัดการไม่ได้ ขณะที่โอกาสที่เขื่อนจะเกิดปัญหาฐานรากทรุด นั้นโอกาสที่จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันนั้นเป็นไปได้ยาก

“การทรุดตัวของฐานรากเขื่อนจะไม่เกิดในทันที แต่จะค่อยๆ มีร่องรอยให้เห็น เช่น มีน้ำซึมออกมามากผิดปกติจากตัวเขื่อน ซึ่งยังไม่มีรายงานเรื่องนี้จากเขื่อนไหน หากจะมีความกลัวเรื่องเขื่อนแตก เพราะเป็นข้อกังวลที่เห็นข่าวว่ามีเขื่อนใน ประเทศลาวแตก ก็เป็นเรื่องที่นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะมีปัจจัยที่แตกต่างกัน

เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่ลาว เป็นเพียงเขื่อนลูก ไม่ใช่เขื่อนแม่หรือเขื่อนหลักที่ใช้รับน้ำ ประกอบกับเขื่อนดังกล่าวเพิ่งสร้างเสร็จและเพิ่งรับน้ำครั้งแรก ซึ่งโดยทฤษฏี ระบุว่า เขื่อนที่รับน้ำครั้งแรกนั้นมีความเสี่ยงที่จะแตกได้ เพราะการถมสันเขื่อนอาจจะยังมีปัญหาร่องน้ำที่มองไม่เห็นมีน้ำซึม และยังไม่ได้แก้ปัญหาก็ต้องถูกใช้รับปริมาณน้ำ ก็เสี่ยงแตกได้”หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาฯ กล่าว

มั่นใจยังเอาอยู่! ต้องมีฝนหนักอีก10เท่า น้ำถึงจะล้นเขื่อน

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า โอกาสที่น้ำจะล้นสันเขื่อนนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น หากไม่มีพายุ หรือไต้ฝุ่นที่เป็นพายุหมุนเขตร้อน หรือมีปริมาณฝนมากกว่าที่ตกอยู่อีก 10 เท่า มาเป็นปัจจัยหนุน

"ตอนนี้ จากข้อมูลที่เห็น คือมีน้ำล้นสปิลเวย์ หากยังควบคุมน้ำได้ ก็อาจจะต้องระวังปัญหา คือมีน้ำท่วมเพียงบางจุด โดยเฉพาะจุดที่มีตลิ่งต่ำ ซึ่งเครื่องมือและมาตรการรับน้ำในเมืองเพชรบุรีนั้นสามารถ รับปริมาณน้ำ กรณีฉุกเฉินร้ายแรง ได้ถึงระดับ 150 ลบ.ม./ วินาที หรือหมายความว่า ถ้าปล่อยน้ำแบ่งไป 2 ทาง คือไปทางเขื่อนเพชรฯบุรี ไปทางท่ายาง กับอีกทางคือไปทางแม่น้ำเพชร น้ำที่เข้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรี ที่ไม่เกิน 150 ลบ.ม./ วินาที ก็จะยังถือว่า เป็นปริมาณที่สามารถควบคุม บริหารจัดการได้

หากจะเกิดปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อกังวลว่าเขื่อนจะแตก คือ มีปริมาณ น้ำเข้าเขื่อน มากกว่า 50 ล้าน ลบ.ม. และปล่อยออกจากเขื่อน ได้เพียง 16-17 ล้านลบ.ม. และตกอยู่ในสถานการณ์น้ำขนาดนี้ ประมาณ 1 อาทิตย์ ก็ค่อยห่วงว่าจะมีปัญหาสปิลเวย์อาจจะรับไม่ไหว เพราะน้ำก็จะมีมาก จนเขื่อนรับไม่ไหว แต่ปัจจุบัน มีน้ำเข้าเขื่อนเพียง 10 กว่าล้าน ลบ.ม.และถูกปล่อยออกไปถึง 8 ล้านลบ.ม.”ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ

นอกจากนี้ กรณีที่มีข้อกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมหนักเหมือน อุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2554 มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากมีปัจจัยที่ต่างกัน ในปีนั้น นอกปริมาณน้ำจากภาคเหนือ ในเขื่อนต่างๆ มาสมทบแล้ว ยังพบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนภาคกลางยังเต็มอีกด้วย ประกอบกับปริมาณน้ำในจุดต่างๆ คูคลองระบายน้ำ ในพื้นที่ที่อยู่ใต้เขื่อนก็ มีปริมาณน้ำฝนมาก จนไม่สามารถรองรับน้ำเพิ่มได้ทุกแห่ง จึงเกิดน้ำท่วมใหญ่

“สถานการณ์ปัจจุบัน ต่างออกไป หน่วยงานที่รับผิดชอบได้พร่องน้ำในเขื่อนไว้รองรับสถานการณ์แล้วล่วงหน้าและเตรียมแผนรับมือกับน้ำที่จะเข้ามาได้ทันท่วงที ตอนนี้ บางเขื่อน มีน้ำเพียง 20-40 % ยังสามารถรับน้ำที่จะเพิ่มเข้ามาได้”หาญณรงค์ กล่าว

มั่นใจยังเอาอยู่! ต้องมีฝนหนักอีก10เท่า น้ำถึงจะล้นเขื่อน