posttoday

จัดเต็ม 4 ปี 5 แสนล้าน แก้จนปูทางการเมือง

03 สิงหาคม 2561

4 ปีนับแต่พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศ ยิ่งใกล้เข้าโค้งสุดท้ายสู่โหมดการเลือกตั้งใหญ่ต้นปี 2562 ยิ่งเห็นนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาลงัดออกมาเอาใจผู้มีรายได้น้อย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

4 ปีนับแต่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศ ยิ่งใกล้เข้าโค้งสุดท้ายสู่โหมดการเลือกตั้งใหญ่ต้นปี 2562 แบบไม่มีเลื่อน ยิ่งได้เห็นนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาลงัดออกมาเอาใจผู้มีรายได้น้อยหรือคนจน ทั้งที่เป็นเกษตรกรหรือคนจนในเมืองหรือชนบทสารพัดโครงการนับไม่ถ้วน จึงถูกจับตามองว่าแฝงนัยเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหรือไม่

รูปแบบการซื้อใจฐานเสียงคนจนยุค "บิ๊กตู่" ในปีแรกใช้นโยบาย "ประชารัฐ" ผนึก 3 ฝ่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ดึงมหาเศรษฐีไทยอันดับต้นๆ เจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่มาช่วยกันลงขันตั้ง "บริษัท ประชารัฐ รักสามัคคี" จำนวน 76 จังหวัด ระดมงบประมาณและโครงการประชารัฐ จัดโครงการเอาใจประชาชน อาทิ "โครงการสินเชื่อบ้านประชารัฐ" วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท "โครงการธงฟ้าประชารัฐ" กระทรวงพาณิชย์ จัดคาราวานขายของถูก งบประมาณกว่าหมื่นล้านบาท

ในปีเดียวกันรัฐบาลจัดโครงการ "กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ" วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือบรรดาเถ้าแก่น้อยที่เพิ่งหัดเริ่มต้นธุรกิจ รวมถึงหาบเร่แผงลอยพลอยได้อานิสงส์ไปด้วย ผ่านโครงการประชารัฐปล่อยสินเชื่อให้แบบไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันใน "โครงการสินเชื่อประชารัฐเพื่อ Micro SME" วงเงินรายละไม่เกิน 2 แสนบาท ได้ใจรากหญ้าไปเต็มๆ

เมื่อ "บิ๊กตู่" ย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 2-3 เดินหน้าแก้จนเฟส 1 ดีเดย์เมื่อเดือน มิ.ย. 2559  "โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ" เปิดโอกาสให้คนจนมาลงทะเบียน เพื่อนำไปสู่การแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ทั้งหมด 8.3 ล้านราย รัฐบาลจัดงบประมาณรอไว้ 1.9 หมื่นล้านบาท เพื่อแจกเงิน 3,000 บาท แก่คนจนที่รายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท/ปี และคนละ 1,500 บาท แก่คนจนที่รายได้เกิน 3 หมื่นบาท/ปี

ยิ่งเกิดกระแสเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้ง "บิ๊กตู่" เร่งฝีเท้าทำคะแนนนิยมทางการเมือง จึงเห็นชอบโครงการแก้จนเฟส 2 ด้วยการใช้กลไกทางการเงินของสถาบันการเงินรัฐคือ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนิน 6 มาตรการ 18 โครงการ งบประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เน้นพัฒนาอาชีพและฝีมือแรงงาน


ยิ่งประชาชนในกลุ่มเกษตรกร รัฐบาลเอาใจมากเป็นพิเศษ โดยมี ธ.ก.ส.เป็นเจ้าภาพหลักในการพักหนี้เกษตรกรรอบที่ 1 วงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาท เพื่อลดภาระหนี้สินทั้งในและนอกระบบ 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้มีรายได้น้อย งบประมาณ 3,800 ล้านบาท โครงการชำระดีมีคืน วงเงินรวม 4,600 ล้านบาท โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน วงเงินสินเชื่อ 1.9 หมื่นล้านบาท โครงการสินเชื่อสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ วงเงิน 1,000 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินระยะที่ 2 วงเงินหมื่นล้านบาท ส่วนธนาคารออมสิน มีวงเงินช่วยเหลือรวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินในการสร้างอาชีพเสริม หรือหารายได้เพิ่ม เช่น การทำธุรกิจแฟรนไชส์ เปิดร้านค้าสตรีทฟู้ด และธุรกิจโฮมสเตย์ เป็นต้น

ยังไม่หยุดเทงบประมาณเพียง เท่านี้ "บิ๊กตู่" ยังสั่งตั้งงบกลางปี 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อจัดทำ "โครงการไทยนิยมยั่งยืน" โดยกระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพปูพรม 8 หมื่นหมู่บ้านและชุมชนได้งบแห่งละ 2 แสนบาท ไปทำถนน น้ำประปา และมีกว่า 2 หมื่นโครงการ ที่สร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีโครงการพัฒนาศักยภาพสินค้าโอท็อป 9 หมื่นร้านค้า และพัฒนาหมู่บ้านโอท็อปท่องเที่ยว 3,200 แห่ง เป็นต้น

ไม่เฉพาะคนจนในชนบทเท่านั้น รัฐบาลเอาใจคนจนในเมืองผ่านโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง อัดเม็ดเงินสนับสนุนไปตั้งแต่ยึดอำนาจใหม่ๆ แต่ละปีนับหมื่นล้านบาท ไล่ตั้งแต่ปี 2559 อัดงบไปราว 6 หมื่นล้านบาท ปี 2560 อัดเงินไปราว 4 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2561 ยังไม่ถึงกลางปี รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท

ล่าสุด ครม. "บิ๊กตู่" พักหนี้เกษตรกรรอบที่ 2 วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท ใน 2 โครงการใหญ่ คือ 1.โครงการขยายเวลาชำระหนี้เงินต้นให้แก่เกษตรกรลูกค้า  ธ.ก.ส. จำนวน 3.81 ล้านคน โดยขยายเวลาชำระเงินต้นระยะเวลา 3 ปี และ 2.โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยลูกค้า ธ.ก.ส. โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้ระยะเวลา 1 ปี ซึ่งโครงการนี้จะครอบคลุมเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 10 ล้านคน

อาจกล่าวได้ว่าในช่วง 4 ปี สามารถรวมเม็ดเงินคร่าวๆ ที่ "บิ๊กตู่" เทงบประมาณและโครงการลงไปแก้จนแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่ากลยุทธ์ หรือนโยบายแก้จนทั้งเก่าและใหม่ ที่ทยอยอัดฉีดลงไปของรัฐบาล "บิ๊กตู่" จะเข้าตา หรือจะแป้กในสายตาประชาชนหรือไม่ คงต้องไปวัดหรือลุ้นกันในวันหย่อนบัตรเลือกตั้งจริง ๆ  ในปี 2562 ว่างบแก้จน 4 ปี 5 แสนล้านบาท ที่หว่านไปจะหนุน "บิ๊กตู่" ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปหรือไม่