posttoday

ถอดบทเรียนถ้ำหลวง รับมือ ป้องกัน กู้ภัย

07 กรกฎาคม 2561

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนา เรื่อง "วิเคราะห์ปรากฏการณ์ถ้ำหลวงจากหลายมิติ" เพื่อถอดบทเรียนปฏิบัติการช่วยเหลือชีวิตในสาชาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

หมายเหตุ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนา เรื่อง "วิเคราะห์ปรากฏการณ์ถ้ำหลวงจากหลายมิติ" เพื่อถอดบทเรียนปฏิบัติการช่วยเหลือชีวิตในสาชาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธรณีวิทยา นิเทศศาสตร์ ภูมิสารสนเทศ และกู้ชีพ

เหตุการณ์เยาวชนจากทีมฟุตบอลหมูป่าและผู้ฝึกสอนเข้าไปติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวม 13 ชีวิต ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา นำไปสู่การระดมทุกสรรพกำลังอาสากู้ภัยจากหลายวิชาชีพเข้ามาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้กลับออกมาได้อย่างปลอดภัย และนับเป็นการเตรียมพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินนี้ขึ้นในอนาคต

ถอดบทเรียนถ้ำหลวง รับมือ ป้องกัน กู้ภัย

สมบัติ อยู่เมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์เด็กติดถ้ำได้กลายเป็นภารกิจระดับโลก ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้ข้อมูลเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเหตุการณ์นี้ย้ำเตือนให้คนต้องทำความเข้าใจในเรื่องของธรรมชาติ ภัยพิบัติให้มากขึ้น ด้วยการจัดตั้งกลไกทางด้านสถาบันในการตอบสนองภัยพิบัติ เพื่อทำให้เกิดการเตือนภัย ล่วงหน้า โดยรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น ลดความเสี่ยง เช่น หลีกเลี่ยงทุกพื้นที่น้ำท่วมซ้ำ ถ้ำทุกแห่งต้องทำแผนรับมือเตรียมไว้ หรือแม้แต่วางแผนเบี่ยงทางน้ำ ซึ่งต้องพิจารณาถึงความเดือดร้อนที่เกิดกับเกษตรกรในพื้นที่เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ต้องตอบสนองเรื่องของระยะเวลา เช่น พายุ น้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว ที่มักเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาวัน เดือน ปี เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถกำหนดขั้นตอนการเตรียมพร้อม กู้ภัย และฟื้นฟูต่อไปได้ ส่วนขั้นตอนจัดการภัยพิบัติต้องมาคิดต่อว่าทำอย่างไรเพื่อป้องกันอย่างยั่งยืน เพราะองค์ความรู้จะนำมาสู่การจัดการและต่อยอดไปถึงความปลอดภัยในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การพาเด็กกลับมาอาจทำด้วยการพากลับมาทางปากถ้ำ โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยคือน้ำในถ้ำลดลงหรือไม่ มีอากาศเพียงพอหรือไม่ ทราบมาว่าอากาศในถ้ำเหลือน้อยมาก ดังนั้นอาจเลือกหาทางเข้าธรรมชาติหรือโพรงรอยแตกอื่นๆ มีอีกหรือไม่ แต่หากไม่มี อาจต้องเจาะโพรงด้วยเครื่องจักร ขณะนี้มีหลายประเทศเสนอเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่การเจาะต้องแม่นยำมากๆ ไม่เกิดความเสียหายตามมา

ถอดบทเรียนถ้ำหลวง รับมือ ป้องกัน กู้ภัย สมบัติ อยู่เมือง

พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมเป็นอย่างไร สื่อก็เป็นอย่างนั้น เนื่องจากสังคมไทยต้องการแสวงหา 1.ฮีโร่ 2.สืบค้นแพะ 3.ไสยศาสตร์และ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ และ 4.มีน้ำใจ จึงทำให้ข่าวสารในประเทศไทยนำเสนอในประเด็นที่สังคมต้องการ

ขณะเดียวกันยุคโซเชียลเริ่มมีข่าวปลอมออกมามากขึ้น โดยข่าวปลอมนี้ มักถูกแชร์ออกไปเร็วกว่าข่าวแก้ ดังนั้นสื่อมีหน้าที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจให้สังคม โดยเฉพาะการทำแบบทดลอง เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพว่าในสถานการณ์จริงจะประสบปัญหาอย่างไร ยากลำบากแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือให้กำลังใจและแสดงให้เห็นถึงการทำงานเป็นทีม

ถอดบทเรียนถ้ำหลวง รับมือ ป้องกัน กู้ภัย พิจิตรา สึคาโมโต้

ด้าน เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลที่พบว่าผู้ประสบภัยอยู่รอดได้ด้วยการรับประทานน้ำยังชีพ ใช้พลังงานให้น้อยที่สุด ทั้งหมดถือว่าถูกต้องตามหลักวิชาการเอาชีวิตรอด สิ่งเหล่านี้นำมาใช้เป็นบทเรียนได้

ทว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีร่างทรงออกมาพูดว่าเด็กอยู่ในอาการย่ำแย่แล้ว ทำให้ครอบครัวเป็นกังวล เรื่องนี้สะท้อนว่าทันทีที่เกิดเรื่องขึ้นควรมีการปิดล้อมสถานที่ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามา ได้เท่านั้น ไม่ควรปล่อยให้ผู้ไม่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะร่างทรงเข้ามาสร้างความหวาดหวั่นทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก

เรื่องถัดมาคืออย่าคาดหวังกับเทคโนโลยีไฮเทคจากต่างประเทศมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสแกนอินฟาเรด เนื่องจากระดับน้ำในถ้ำลดลงได้เพราะเครื่องสูบน้ำพญานาค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบไทยสามารถใช้งานได้ดี ส่วนการช่วยเหลือคน ไม่สามารถให้อาหารกับคนที่อดอาหารมาหลายวันได้ทันที เพราะร่างกายจะดูดซึมสารอาหารมาใช้ทันทีทำให้หัวใจวายเฉียบพลันได้

สำหรับกรณีป้ายห้ามเข้าหน้าวนอุทยานในช่วงฤดูฝน ต้องกลับมาพิจารณาว่าปริมาณน้ำฝนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางภูมิอากาศ ดังนั้นป้ายเตือนห้ามเข้าเป็นช่วงเวลาต้องสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศปัจจุบันที่สุด เพราะทั้ง 13 ชีวิตเดินเข้าไปในถ้ำก่อนเวลาที่ป้ายแจ้งเตือน แต่ปรากฏว่าเข้าไปแล้วเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามแม้ว่าเหตุการณ์เด็กติดถ้ำหลวงจะยังไม่จบ บทเรียนที่ได้ในเวลานี้หากนำไปใช้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

ถอดบทเรียนถ้ำหลวง รับมือ ป้องกัน กู้ภัย เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์


 
แนะวิธีฟื้นฟูจิตใจ

ปฏิบัติการช่วยเด็กนักเรียนทีมฟุตบอลหมูป่าและโค้ชทั้ง 13 ชีวิต ยังคงดำเนินการต่อไป เพื่อให้ทุกคนได้ออกมาอย่างปลอดภัย แต่ที่น่าเป็นห่วงนอกเหนือจากสภาพร่างกายแล้ว สภาพจิตใจก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน

ผศ.พญ.ศุภรา เชาว์ปรีชา อาจารย์ประจำภาควิชา จิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ให้คำแนะนำในการรับมือกับสถานการณ์เมื่อออกจากถ้ำว่า  สำหรับตัวเด็กเองเขาน่าจะตกใจกับภาพข่าวการที่คนรู้จักเขาไปทั่วโลก และการที่จะมีคนมารุมถามข้อมูลทั้งจากสื่อมวลชนหรือครอบครัว เครือญาติเอง จะเกิดการซักถาม อยากทราบข้อมูล อยากให้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในถ้ำ

"การที่เด็กและโค้ชทั้ง 13 คน ที่เคยเป็นคนธรรมดากลายเป็นที่จับตามองนั้น สามารถมองได้ 2 แง่ คือ แง่หนึ่งเขาอาจจะรู้สึกดี ขอบคุณที่ทุกคนเป็นห่วง แต่อีกแง่ที่น่าเป็นห่วงคือ คนที่รู้จักเขาแล้วอาจจะไปซักถามเขาเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เขาเจอในถ้ำ ซึ่งตรงนี้เราต้องระมัดระวังมากว่าเด็กจะต้องปรับตัว ฉะนั้นถ้าเกิดเขาออกมาแล้วเจอคนที่ตั้งคำถามซึ่งมันอาจจะไปกระตุ้นให้กลับไปคิดถึงประสบการณ์ความยากลำบากในถ้ำ อาจจะทำให้เขารู้สึกเครียดได้ ซึ่งหากร้ายแรงก็อาจจะเกิดเป็นโรคเครียดภายหลังเกิดภยันอันตรายหรือ Post-traumatic stress disorder  (PTSD) ได้"

ถอดบทเรียนถ้ำหลวง รับมือ ป้องกัน กู้ภัย

ทั้งนี้ โรคเครียดภายหลังเกิดภยันอันตรายไม่ได้เกิดกับทุกคนขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของแต่ละคน แต่สำหรับคนที่สภาพจิตใจเข้มแข็งดี การให้เขาได้เล่า ก็อาจจะช่วยทำให้เขาได้เรียบเรียงเรื่องราว ซึ่งจะทำให้เขาเข้าใจประสบการณ์ชีวิตของตัวเองมากขึ้นในกรณีนี้ก็จะไม่เป็นอันตราย แต่ทางที่ดีคือเราควรประเมินจากตัวเด็กเป็นหลักว่า เขามีความพร้อมแค่ไหน มากกว่าที่จะเอาคำถามไปถามเขา

"ปัจจัยสำคัญที่สุดในการฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็ก คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนใกล้ชิด โดยมีขั้นตอนคือปลอบขวัญเด็กๆ เมื่อออกจากถ้ำได้แล้ว หลังจากนั้นเริ่มต้นด้วย การใช้ชีวิตแบบ Here and Now (ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน) แต่ถ้าหากเขามีความพร้อม หรืออยากจะเล่าถึงเหตุการณ์ที่ประสบมา พ่อแม่จึงค่อยๆ พยายามใส่เนื้อหาที่มันเป็นเชิงบวกเข้าไป แบบนี้จะเป็นการช่วยเขาได้ดีที่สุดในช่วงแรก แล้วจากนั้นจึงคอยสังเกตอาการ เช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ หากมีอาการผิดปกติเช่นนี้ถึงค่อยมาประเมินรายละเอียดแล้วค่อยรับการรักษา" ผศ.พญ.ศุภรา กล่าวทิ้งท้าย

ถอดบทเรียนถ้ำหลวง รับมือ ป้องกัน กู้ภัย