posttoday

วิพากษ์"คนทรงเจ้า" 90%หลอกลวง

11 มิถุนายน 2561

มองปรากฏการณ์ "คนทรงเจ้า" ผ่านมุมของ "ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์" นักวิชาการศาสนวิทยาและด้านรัฐศาสตร์

มองปรากฏการณ์ "คนทรงเจ้า" ผ่านมุมของ "ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์" นักวิชาการศาสนวิทยาและด้านรัฐศาสตร์

*************************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ปรากฏการณ์ "คนทรงเจ้า" ที่อ้างตัวเป็นร่างเทพเทวดาชื่อดังต่างๆ กำลังถูกเผยแพร่ผ่านสื่อหลักและสื่อออนไลน์ เกิดการรุมสัมภาษณ์คนทรงเจ้ากันอย่างเปิดเผย แม้ในความจริงแล้วจะไม่มีเครื่องมือพิสูจน์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องหลอกลวง หรือการแอบอ้างปั้นแต่งขึ้นมาเอง เพราะวิทยาศาสตร์หรือวิทยาการในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์คนทรงเจ้าได้ กลับกันสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังสร้างความงมงาย สร้างประโยชน์อะไรให้สังคมหรือไม่

เรื่องนี้ ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการศาสนวิทยาและด้านรัฐศาสตร์ เชี่ยวชาญและคลุกคลีอยู่ในแวดวงศาสนามายาวนาน สะท้อนปรากฏการณ์คนทรงเจ้าอย่างน่าสนใจว่า พื้นฐานเรื่องความเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นมาตลอดในสังคมไทยและไม่เคยเลือนหายไปนานนับ 1,000 ปี เพราะว่าอยู่ในรากเหง้าศาสนาที่เรียกว่า ”ศาสนาบรรพกาล” ก่อนถูกกลืนด้วยศาสนาพราหมณ์และพุทธ ที่สำคัญเรื่องนี้ได้รับการยอมรับจากคนไทยทุกระดับชั้น

ในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลทำให้เรื่อง "คนทรงเจ้า" ถูกเปิดเผย ถูกสร้างการรับรู้ทั่วถึงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องพัฒนาการที่แปลกแตกต่างจากเดิมจนดูเร้าใจน่าสนใจ เนื่องจากมีความดราม่าเข้ามาผูกโยง อ้างอิงว่าเป็นร่างทรงคนมีชื่อเสียง เช่น ร่างทรงอดีตกษัตริย์ ดาราดัง ตัวละครวรรณคดี เทพ เทวดา ฯลฯ

กระนั้นหากมองย้อนเทียบกับอดีตเกี่ยวกับรูปแบบของ "คนทรงเจ้า" เป็นการนำเสนอของร่างทรงเรียบง่ายมิดชิดไม่เปิดเผย ไม่มีการแต่งตัวหรูหรา จัดฉากทำพิธีใหญ่โตอลังการ จนเหมือนโรงลิเก มีการจัดตั้งเป็นสำนักทรงเจ้าใหญ่โต และมีรูปแบบท่าทางการรำ แสดงออกที่ผิดแปลกแตกต่าง

ศิลป์ชัย ชำแหละปัญหานี้ด้วยว่า ตอนนี้มีการอวดอ้างเรื่อง "คนทรงเจ้า" โดยทำเป็นรูปแบบของหมู่คณะจัดกลุ่มกันเป็นขบวน ใช้ภาษาเทพสื่อสารกัน แตกต่างจากเดิมที่คนทรงเจ้าจะทำเพียงคนเดียวเท่านั้น ทั้งหลายเหล่านี้เมื่อรวมกันจึงทำให้เกิดกระแสความน่าสนใจ ที่สำคัญเมื่อมีการจับกลุ่มรวมกันทำให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีก

“กระบวนการทางศาสนาหากมีการบริหารจัดการดีขึ้นจะสามารถดึงดูดมวลชนได้อย่างมาก ในปัจจุบันนี้กระบวนการเรื่องไสยศาสตร์ในสังคมไทย มีการบริหารจัดการในเชิงโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางการตลาด ผ่านการนำเสนอที่ดูดีกว่าในอดีต จนทำให้เกิดพลังดึงดูดมวลชนมากขึ้น รวมถึงสามารถหารายได้เพิ่มสูงขึ้นควบคู่กันไป แต่พูดได้เลยว่ากว่า 90% เรื่องคนทรงเจ้าไม่ใช่เรื่องจริง”

เป้าหมายของกลุ่ม "คนทรงเจ้า" สามารถแบ่งออกเป็น 3 ข้อหลัก 1.เป้าหมายหลอกลวงเพื่อหวังลาภยศ เงินทอง ของมีค่า 2.เป็นเรื่องอุปทานหมู่และเดี่ยว 3.อาการจิตประสาท เช่น หูแว่วเกิดภาพหลอน จนรู้สึกเกิดความเชื่อและเห็นภาพเช่นนั้นจริง แต่ไม่ใช่เรื่องจริง

นักวิชาการศาสนวิทยา วิพากษ์อีกว่า คนทรงเจ้าที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่ฝังรากลึกมานาน เพียงแต่ที่ผ่านมาถูกฝังอยู่ในซอกหลืบ คนทั่วไปจึงไม่ได้รับรู้ เพราะไม่ได้ถูกนำมาแชร์ผ่านสื่อออนไลน์เหมือนปัจจุบัน โดยเฉพาะสื่อที่ทุกคนมีอยู่ในมือ เรื่อง "คนทรงเจ้า" จึงถูกเปิดเผยถูกแชร์กันจำนวนมากจนเกิดการรับรู้ ซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งติดตามเชื่อสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากตอบโจทย์ชีวิตตอบสนองความต้องการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

“สิ่งที่สังคมได้รับคือก็รู้ว่ามีเรื่องคนทรงเจ้าในสังคมเกิดขึ้นเท่านั้น เนื่องจากยังมีคนเชื่อศรัทธาเรื่องแบบนี้ ถือเป็นสิทธิส่วนตัวที่เกิดขึ้นกับคนใดคนหนึ่งที่อาจเป็นเรื่องจริง หรืออุปทานส่วนตัวและอุปทานหมู่ก็ได้ อย่างเช่น เวลาไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วเหมือนชีวิตดีขึ้น ค้าขายดีขึ้น จนประสบความสำเร็จ มีการพูดต่อกันจนนำไปสู่ความเชื่อมากขึ้น”

เช่นเดียวกัน ศิลป์ ยังฉายภาพด้วยว่า ในยุคที่คนบางกลุ่มสิ้นหวังท้อแท้ใจ จึงเกิดความหวังว่าการพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ ช่วยตอบสนองสิ่งที่ต้องการของตัวเองได้ง่ายกว่า ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่มีจำนวนเพิ่มขึ้นของ "คนทรงเจ้า" โดยเฉพาะรูปแบบวิธีการที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างการพูดจาโต้ตอบกันระหว่างคนกับคนทรงเจ้าเพื่อขอในสิ่งที่หวังที่ต้องการโดยตรง มีการแสดงออกทางอารมณ์จับต้องได้ ไม่ใช่เพียงแค่การกราบไหว้เพียงอย่างเดียวต่อไป จึงสร้างความตื่นเต้นเร้าใจและสร้างความศรัทธาได้ นั่นคือสภาพ "คนทรงเจ้า" ในปัจจุบันนี้

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความเชื่อรูปแบบหนึ่งในสังคม บ่งบอกถึงอัตราความเสี่ยงต่อเรื่องความงมงายถูกหลอกลวงได้ง่ายขึ้น เนื่องจากรูปแบบเช่นนี้ไม่ใช่การไหว้บูชาเหมือนปกติทั่วไป แต่มีเรื่องของวิญญาณเข้ามาสิงร่างคนแล้วก็แสดงกิริยาลักษณะท่าทางแทนผี แทนเทพ ถือว่าเสี่ยงต่อการหลอกลวงและเกิดขึ้นจริงแล้วในสังคมปัจจุบัน

“หลายรายการข่าวที่เชิญคนทรงเจ้าไปออกทีวี ถามจริงจะทำให้เรื่องพวกนี้มันน้อยลงไหม มันจะทำให้สังคมตื่นตัวถอยห่างหรือลดการติดตามเรื่องพวกนี้ลง คำตอบคือไม่ใช่เลย มันจะยิ่งกลับทำให้สังคมเรียนรู้ที่แฝงการโฆษณาควบคู่ไปในตัวอีกด้วย อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อร่างทรงเอง เสียหายต่อศรัทธา เพราะเชื่อในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถูกหลอกให้ทำบุญ จนทำสังคมเดินหลงไปในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”

นักวิชาการศาสนวิทยา กล่าวย้ำเตือนด้วยว่า นอกจากเรื่องความท้อแท้ขาดสิ่งพึ่งหวังของคนบางกลุ่มแล้ว ยังมีเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเมือง วิกฤตสังคม ที่มาพร้อมความเชื่อความงมงายที่มักจะเกิดขึ้นและเฟื่องฟูขึ้นเสมอ ย้ำว่าเรื่องการทำบุญ หรือความเชื่อส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ขอให้ระมัดระวังอย่ามากเกินไป อย่าหลงเชื่อหมดใจ จงใช้สติปัญญาวิเคราะห์แยกแยะให้ดี