posttoday

จุดกระแสแก้ รธน.  ปลุกแนวร่วมชน คสช.

01 มิถุนายน 2561

กระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เริ่มติดลมจนมีแนวร่วมเปิดหน้าเข้าร่วมขับเคลื่อนภารกิจสำคัญนี้จำนวนไม่น้อย หลัง “พรรคอนาคตใหม่” ประกาศเป็นนโยบายสำคัญ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

กระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เริ่มติดลมจนมีแนวร่วมเปิดหน้าเข้าร่วมขับเคลื่อนภารกิจสำคัญนี้จำนวนไม่น้อย หลัง “พรรคอนาคตใหม่” ประกาศเป็นนโยบายสำคัญของพรรคในการประชุมเพื่อจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่นัดแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต 

นอกจากกิจกรรมร่วมกันเปิดไฟฉายจากสมาร์ทโฟน เพื่อสะท้อนถึงการเปิดไฟขับไล่ความมืดมิดที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ สอดรับกับนิทรรศการ “ออกจากทศวรรษที่สูญหาย ร่วมสร้างอนาคตใหม่ เพื่อประเทศไทยที่มีอนาคต” ซึ่งแสดงออกถึงการเปิดหน้าชนกับ คสช.แบบเต็มตัวแล้ว

หลังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เปิดแถลงข่าวชักชวนให้ประชาชนมาร่วมกันหยุดภารกิจสืบทอดอำนาจเผด็จการ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต่อให้เป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ตาม เราขอทำงานทางความคิด เพื่อดึงจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กับกระแสธงเขียวกลับคืนมา

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนโดยเหมือนไม่ให้แก้ แต่เราต้องการปักธงทางความคิด หากเข้าสภาได้เมื่อไร วันแรกจะเสนอเรื่องนี้ทันที วิธีแก้จะเริ่มจากมาตรา 279 ที่ให้ความคุ้มกันบรรดาคำสั่ง คสช.ให้ถูกเสมอ ปืนที่ห่อกฎหมายมันไม่ใช่ความยุติธรรม นี่ไม่ใช่เรื่องรุนแรงหรือสุดโต่ง แต่เป็นการฟื้นหลักนิติรัฐ เราจะปักธงที่ก้าวหน้าไปสู่สังคม พร้อมทั้งนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองยุค คสช.” 

นัยสำคัญของการจุดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการชูประเด็น 279 เป็นมาตราแรกนั้น ถือเป็นการตอกย้ำเป้าหมายชนกับ คสช. ซึ่งกำลังเดินหน้าปฏิบัติการสืบทอดอำนาจ

หากวิเคราะห์กันตามเนื้อผ้าแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่การแข่งขันกันระหว่างเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ หรือกลุ่มสนับสนุนระบอบทักษิณ ​และกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณ เหมือนกับการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา 

ทว่าเป็นการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้าน คสช.​ ดังจะเริ่มเห็นเค้าลางความชัดเจนจากการออกมาแสดงตัวประกาศจุดยืนของแต่ละพรรคในช่วงเวลาที่ผ่านมา 

โดยเฉพาะกับฝั่งสนับสนุน คสช. ซึ่งมีแนวร่วมดั้งเดิม และขุมกำลังใหม่อย่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ว่ากันว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ 

การต้องแข่งขันกับ คสช.ในเวลานี้จึงไม่ใช่เรื่อง่าย จำเป็นต้องหาแนวร่วม​ และหนึ่งในประเด็นที่จะดึงเสียงสนับสนุนจากฝ่ายไม่เอา คสช.ได้ง่ายที่สุดหนีไม่พ้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์​​จากหลายฝ่ายหลายแง่หลายมุม

หากจำได้ก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เกือบทุกพรรคการเมืองล้วนแต่ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมีกลิ่นอายของรัฐประหารห่อหุ้มอยู่ และมีจุดด้อยมากกว่าจุดเด่น

ยิ่งหากพิจารณามาตรา 279 ที่พรรคอนาคตใหม่ต้องการจะแก้ไขนั้น เป็นการเจาะจงไปยังเป้าใหญ่ที่ “เรียกแขก” ได้ง่ายเพราะเป็นเป้าที่ต้องการตลบหลัง คสช.​

“บรรดาประกาศ คําสั่ง และการกระทําของ คสช. หรือหัวหน้า คสช.ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําที่มีผลใช้บังคับ ในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คําสั่ง การกระทํา ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คําสั่ง หรือการกระทํานั้น เป็นประกาศ คําสั่ง การกระทํา หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย”​

ดังจะเห็นว่า คล้อยหลังไม่นาน นพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า สมาชิกพรรคเพื่อไทยได้มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการมานานแล้ว เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นว่าจะเป็นหนึ่งในนโยบายที่จะรณรงค์ในการหาเสียง ส่วนจะเสนอแก้ไขในเรื่องใดก็ขอเวลาได้ปรึกษาหารือกันให้ตกผลึกก่อนแล้วจะนำเสนออย่างเป็นระบบ

ไม่ต่างจากฝั่ง รังสิมันต์ โรม กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ระบุว่า ประเทศกำลังหลงทางและหมดหวัง จึงมีคนคาดหวังให้ทหารเข้ามากอบกู้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้แก้ไขอะไร จึงสนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยประชาชน และให้มีการปฏิรูปกองทัพ นำทหารออกจากการเมือง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เองเวลานี้ประกาศจุดยืนชัดเจนไปแล้วว่า จะไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนอก ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย แม้เวลานี้จะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อย่าลืมว่าช่วงทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ประชาธิปัตย์เป็นพรรคหนึ่งที่ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ

ล่าสุด วราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.ขึ้นมา เหมือนในสมัย​บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับ ให้คนไทยทุกภาคเข้ามามีส่วนร่วมชูธงเขียวด้วยกัน ​

การคิดอ่านที่สอดคล้องกันของแต่ละพรรคการเมืองเวลานี้จึงอาจเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะเชื่อมให้แต่ละพรรคเข้ามาจับมือ รวมพลังกันทั้งช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดการสืบทอดอำนาจของ คสช.​และปลดล็อกไม่ให้พรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเผด็จการเหมือนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอีกต่อไป ​

แม้สุดท้ายกลไกการแก้รัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้จะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม