posttoday

ของจะเสีย... ถ้าคสช.คิดอยู่ต่อ

20 พฤษภาคม 2561

"ไชยันต์ ไชยพร" คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ วิพากษ์อนาคต คสช. หลังครบ4 ปี บริบูรณ์ในการนั่งบริหารประเทศท่ามกลางปฏิบัติการสืบทอดอำนาจ ที่เริ่มเห็นเค้าลาง

"ไชยันต์ ไชยพร" คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ วิพากษ์อนาคต คสช. หลังครบ4 ปี บริบูรณ์ในการนั่งบริหารประเทศท่ามกลางปฏิบัติการสืบทอดอำนาจ ที่เริ่มเห็นเค้าลาง

***************************

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

22 พ.ค. 2561 จะครบ 4 ปีบริบูรณ์หลังการรัฐประหารของ​​คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ในวันที่คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังลดลง ​ท่ามกลางปฏิบัติการสืบทอดอำนาจ​ที่เริ่มเห็นเค้าลาง​ ​

ศ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกตัวว่าไม่เคยคาดหวังกับการทำรัฐประหารแล้วจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้เยอะ หวังแค่ว่ารัฐประหารคือยุติเงื่อนไขความรุนแรงและจะเริ่มต้นกันใหม่

อย่างไรก็ตาม 4 ปีที่ผ่านมาในแง่ความสงบเรียบร้อยถือว่าสอบผ่าน เพราะสถาบันทหารมีหน้าที่รักษาความมั่นคง มีบุคลากร เครื่องมือ ซึ่งเป็นงานถนัดจนป้องกันไม่ให้สถานการณ์บานปลายไปสู่สภาพที่ทางวิชาการเรียก “รัฐผุเสื่อม” หรือ “รัฐล้มเหลว” และยุติเงื่อนไขความรุนแรงที่เป็นมาก่อน 22 พ.ค. 2557

ต่อมามีความพยายามจัดระเบียบสังคม ในปี 2558 มีการออก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ วางกรอบชัดเจนเรื่องการชุมนุม และกรอบสำหรับเจ้าหน้าที่ดูแลฝูงชนไปจนถึงเรื่องการจัดระเบียบ​อื่นๆ เช่น จัดระเบียบรถตู้ ไม่ให้มอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า ซึ่งเป็นความพยายามที่ทำได้ระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นนิสัยของคนไทยเมื่อรัฐบาลหย่อนยานตรงไหนก็จะกลับมาอีก

รวมไปถึงเรื่องการปรับพื้นที่แถวคลองถม จัดระเบียบชายหาด แก้ปัญหาลอตเตอรี่ซึ่งเมื่อมีปัญหาตามมาก็แก้ไขเป็นขั้นตอนไปเรื่อยๆ จนดีขึ้นจากที่เคยมีปัญหาก่อน 22 พ.ค. 2557 ไปจนถึงการปราบทุจริต คอร์รัปชั่น ​ใช้มาตรา 44 ไป สั่งการดูแลเรื่องนี้ แม้บางรายจะพบว่าไม่มีความผิด แต่ไม่ทราบว่าข้าราชการเหล่านั้นได้รับการคืนความยุติธรรมมากแค่ไหน

“กรณีเงินคนจนที่ขอนแก่น ซึ่งน้องแบมออกมาเปิดโปง ถ้าประเด็นดังกล่าวเกิดภายใต้รัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าเขาจะกล้ารายงานหรือไม่ เพราะความเข้าใจของคนทั่วไปมักเข้าใจว่า​ ข้าราชการมักผูกกับนักการเมือง เมื่อร้องเรียนไปก็อาจเคลียร์กันจบ​ แต่การที่คนกล้าร้องเรียนน่าจะเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์​ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการจริงจังแก้ปัญหานี้เรื่องนี้เป็นเรื่องจิตวิทยาที่ทำให้คนมีความมั่นใจ”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าห่วงคือข้อกังขาของบรรดาทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นที่เคลือบแคลงว่าการตรวจสอบจะสามารถ​เดินหน้าไปได้แค่ไหน เมื่อเลขาฯ ป.ป.ช.ก็เป็นคนใกล้ชิดกับบิ๊กทหารรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

สำหรับภารกิจปฏิรูปที่ถือเป็นงานสำคัญนั้น อาจารย์ไชยันต์ มองว่า น่าจะทำได้ดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ความคาดหวังของประชาชนต้องได้ผลรวดเร็วทันใจ ขณะที่การปฏิรูปเป็นรื่องของการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ต่างจากปฏิวัติที่จะถอนรากถอนโคนด้วยการใช้กำลังรุนแรง ล้างบางกันหมด แล้วค่อยๆ สร้างขึ้นมาใหม่

​“ปฏิรูปผมยืนยันว่าต้องใช้เวลา และการปฏิรูปต้องเริ่มจากการออกกฎหมาย หรือแก้กฎหมายก่อน เพราะฉะนั้นที่ปรมาจารย์ด้านกฎหมาย ศ.เกียรติคุณ ดร.บวรศักดิ์​ อุวรรณโณ บอกว่าการปฏิรูป 4 ปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรเพราะมีแต่กระดาษนั้น ผมคิดว่ามันต้องเริ่มต้นจากกระดาษ คือกฎหมายที่เป็นเรื่องสำคัญ แปลกใจที่ท่านเป็นนักกฎหมายเองแท้ๆ ท่านน่าจะเข้าใจว่าทุกอย่างจะต้องเริ่มต้นจากมีกฎหมาย”

ศ.ไชยันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปนอกจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็คือกฎหมายเก็บภาษีที่ดินและมรดก แม้จำนวนของมรดกหรือพื้นที่การเก็บภาษีที่เพิ่มนั้นอาจไม่เป็นไปตามเป้าขนาดหนัก ซึ่งต้องการลดความเหลื่อมล้ำของการสะสมทรัพย์สมบัติ ส่งผ่านรุ่นต่อรุ่นก็ตาม

ขณะที่เรื่องการแก้ปัญหาตลาดของป้าขวานทุบรถ ถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่อยู่สถานะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดการแก้ปัญหาอาจจะยืดเยื้อ ป้าอาจไม่กล้าใช้ขวานหรือเปล่าเพราะรัฐบาลหรือนักการเมืองก็อาจเกรงใจตลาด ร้านค้า หรือกรณี พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ ที่ความเด็ดขาดทำให้คนที่อยู่ในเครือข่ายความเป็นเจ้าพ่อต้องสงบไป

“ปฏิรูปบางทีไปคิดปฏิรูปใหญ่ ไกลตัวคน ชาวบ้านก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าปฏิรูปจุดเล็กๆ แต่กระทบคนจำนวนมาก ก็จะเกิดความรู้สึกได้ เช่น การปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีติดกล้องจับคนผิดกรณีเปลี่ยนเลน ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นการปฏิรูปหรือนโยบายที่มีมานานแล้ว แต่จะเห็นว่า 2-3 วัน มีการออกใบสั่งแสนกว่าคน น่าจะมีการต่อยอดติดกล้องทางม้าลายใครไม่จอดก็ปรับ”

ของจะเสีย... ถ้าคสช.คิดอยู่ต่อ

ถามว่าประเมินผลงานตลอด ​4 ปีที่​มีโอกาสที่รัฐประหารครั้งนี้จะ “เสียของ” ไหม อาจารย์ไชยันต์ กล่าวว่า ​“ผมว่าไม่เสียของ แต่ของจะเสียถ้าคิดจะอยู่ต่อไป”

ในแง่กฎหมายที่ทำให้ต้องเลื่อนเลือกตั้งก็มีน้ำหนัก ซึ่งมีปัญหาจริงๆ จนเกิดการเห็นแย้งระหว่าง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ความชอบธรรมที่คสช.จะอยู่ได้ก็คือการกำหนดวันเลือกตั้งให้แน่นอน

อาจารย์ไชยันต์ ประเมินว่า ​มีอีกแนวคิดว่าเป็นไปได้ไหม ที่ คสช.​กำลังมองว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ร้าวลึก มีอารมณ์ความรู้สึกของความเหลื่อมล้ำ จน คสช.​อาจคิดถึงตัวแบบสมัย รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คืออยู่ในอำนาจ 8 ปี สร้างอีสเทิร์นซีบอร์ด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ ทำให้การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้

“ถ้าคิดแบบนี้ ผมก็มีข้อติง พล.อ.เปรม ต่างกับ พล.อ.ประยุทธ์​ ตรง พล.อ.เปรม ไม่ได้เป็นผู้นำทำการรัฐประหาร การทำรัฐประหารครั้งสุดท้ายก่อน พล.อ.เปรม ขึ้นมาเป็นนายกฯ คือวันที่ 20 ต.ค. 2520 นำโดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หลังเป็นนายกฯ จนปี 2523 เกิดปัญหา พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ลาออก และ พล.อ.เปรม ก็ขึ้นมาเป็นนายกฯ ไม่ได้มีภาพการสืบทอดอำนาจ”

ขณะที่ภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ คือการสืบทอดอำนาจเห็นๆ ยกเว้นรัฐบาล คสช.ปล่อยให้มีการเลือกตั้งเป็นไปแบบธรรมชาติ ไม่ตั้งพรรคนอมินี และหลังเลือกตั้งนักการเมืองในสภาตกลงกันไม่ได้ จำเป็นต้องปลดล็อก เอาคนนอกมา ภาพการสืบอำนาจจะเบาลงเยอะ

ในส่วนของกระแส “ดูด” อดีต สส.ไปร่วมเสริมทัพให้พรรคทหารนั้น อาจารย์ไชยันต์ เห็นว่า ไม่น่าเป็นเรื่องของการต่อรองตำแหน่งในอนาคต คิดง่ายๆ ถ้าพรรคพลังชล ซึ่งมี 2 คนไปร่วมรัฐบาล ถ้ามีการตกลงตัวเลขว่าอนาคตพลังชลจะได้ 2 เก้าอี้ ตามตัวเลข 7 ที่นั่งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าเลือกตั้งจริงได้มากกว่าหรือน้อยกว่านั้น ดีลก็ต้องเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับการจัดงบประมาณลงจังหวัดต่างๆ ก็ไม่ได้เป็นข้อผูกมัด ให้นักการเมืองเหล่านี้รักษาสัญญา

กรณีของ สนธยา และ อิทธิพล คุณปลื้ม ​ที่ถูกดึงไปมีตำแหน่งในรัฐบาลเวลานี้ เขาจะอยากเลือกตั้งไหม เขาจะต้องไปใช้งบประมาณหาเสียงให้ได้มามีเก้าอี้หรือไม่ เพราะตอนนี้เขามีเก้าอี้อยู่แล้ว หรือเขาอยากอยู่ยาวๆ ตอนนี้มากกว่าหรือไม่

การไปดึงคนจากพรรคต่างๆ จึงอาจเป็นเค้าลางการโยนหินถามทางว่าเอารัฐบาลแห่งชาติหรือไม่ ซึ่งอาจจะเกิดก่อนหรือหลังเลือกตั้งได้หมด ​

อาจารย์ไชยันต์ วิเคราะห์ว่า การที่รัฐบาล คสช.อยู่ในอำนาจมาได้นานถึง 4 ปี เพราะเพนดูลัมหรือแรงเหวี่ยงทางการเมือง ซึ่งคนเกลียดความไม่สงบช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงเหวี่ยงกลับมาให้อำนาจกลุ่มบุคคลที่ดูแลความสงบได้ ไม่ใช่อยู่ได้เพราะนโยบายหรือผลงาน

ถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนกับการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ของพล.อ.ประยุทธ์ อาจารย์ไชยันต์มองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะเลือกตั้งแล้วพรรคเพื่อไทยน่าจะมาที่หนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์​เป็นที่สอง ซึ่งมองทางเลือกถ้า พล.อ.ประยุทธ์ กล้าได้กล้าเสียก็ไปอยู่ในลิสต์ 3 รายชื่อที่เสนอเป็นนายกฯ ของพรรคใดพรรคหนึ่ง ถ้าได้รับคะแนนจากประชาชนเยอะก็กลับมาแบบชอบธรรม

“ถ้าไม่ได้คะแนนเยอะก็ตอบแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรกลับมา ​แม้แต่ในฐานะนายกฯ คนนอกด้วยซ้ำ ดังนั้นโอกาสยาก อย่างนายกฯ คนนอกก็ต้องใช้เสียงในสภา 250 เสียงเพื่อปลดล็อก ซึ่งจะนำไปสู่การต่อรองว่าจะได้อะไรแลกกับการร่วมเข้าชื่อ”

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดทางตันไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ​และใน​รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าจะต้องจัดตั้งรัฐบาลภายในกี่วัน หากยืดเยื้อไปก็อาจต้องกลับไปมองที่รัฐธรรมนูญมาตรา 5 หรือที่เป็นมาตรา 7 เดิมในรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นการใช้ประเพณีการปกครองของไทย

หากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ทางออกก็มีสองทาง คือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่ปัญหาคือใครจะไปทูลเกล้าฯ ขอยุบสภา​ เพราะที่ผ่านมานายกฯ มาจากการเลือกตั้งเป็นคนทูลเกล้าฯ หากนายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไปขอยุบสภา สส.ที่มาจากการเลือกตั้งเขาจะยอมหรือไม่ สอง ให้ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อคนที่ได้คะแนนสูงสุดแม้ไม่ถึง 376 เสียง ให้แต่งตั้งเป็นนายกฯ ​เสียงข้างน้อย ซึ่งประเทศอังกฤษเคยเกิดขึ้น

ศ.ไชยันต์​ มองว่า ส่วนตัวอยากเห็นสองพรรคใหญ่ ประชาธิปัตย์และเพื่อไทยจับมือจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งถ้าทำได้ความปรองดองการเมืองได้เริ่มเกิดขึ้น เมื่อสองพรรคที่เป็นคู่ขัดแย้งรุนแรงได้จับมือกัน นักปลุกระดมมวลชนก็จะไม่มีงานทำ การเมืองก็จะเดินหน้าไปได้ และเป็นสูตรที่สวยที่สุดสำหรับการคืนสู่ประชาธิปไตย​

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้​ถ้าคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งมีโอกาสเป็นว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงออกว่าไม่เอาพวกเผาบ้านเผาเมือง ไม่อยู่ใต้คำสั่งตระกูลชินวัตร ดามาพงศ์​ วงศ์สวัสดิ์ หรือฝั่งประชาธิปัตย์ หากเป็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจไม่ได้การยอมรับจากเสื้อแดง แต่ถ้าเป็น ชวน หลีกภัย ก็น่าจะเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น

ศ.ไชยันต์ แสดงความเป็นห่วงว่า สิ่งต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นชนวนให้เกิดความวุ่นวายรุนแรง​ก็คือ 1.ต้องเปิดให้การหาเสียงมีความเป็นธรรม ถ้าฝ่ายรัฐบาลใช้ประโยชน์จากการเป็นรัฐบาลสร้างความไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งเกิดขึ้นแน่ 2.ผลการเลือกตั้ง กระบวนการหาเสียง ต้องเป็นที่ยอมรับ การเลือกตั้งต้อง “ฟรี” และ “แฟร์” ไม่เช่นนั้นจะกลับมาขัดแย้งใหญ่แน่นอน และใครก็เอาไม่อยู่ด้วย