posttoday

กองทุนหมู่บ้าน ไม้เด็ดกวาดคะแนนนิยม

13 พฤษภาคม 2561

"กองทุนหมู่บ้าน"ถูกมองว่าเป็นเครือข่ายทางการเมืองไปโดยปริยาย เพราะนัยทางการเมืองภายในกองทุนหมู่บ้านมีตัวแทนมาจากผู้นำชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญ

"กองทุนหมู่บ้าน"ถูกมองว่าเป็นเครือข่ายทางการเมืองไปโดยปริยาย เพราะนัยทางการเมืองภายในกองทุนหมู่บ้านมีตัวแทนมาจากผู้นำชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญ

********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในยุค “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกตัวเสมอว่าทุกนโยบายที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) งัดออกมาอัดฉีดเม็ดเงินเอาใจพี่น้องประชาชนระดับรากหญ้าทุกนโยบายไม่ใช่ “ประชานิยม” ที่หวังผลทางการเมืองโดยไม่สนใจผลกระทบทางการเงินการคลังที่จะตามมาทำให้รัฐบาลเป็นหนี้หลังแอ่น

แต่ยุครัฐบาล “บิ๊กตู่” เป็นการต่อยอด ขยายผลความสำเร็จจนเกิดเป็นนโยบาย “ประชารัฐ” โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน การรับผิดชอบร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ทำให้เกิดสามประสาน โดยทุกนโยบายไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นโยบายที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” อ้างถึงผลสำเร็จในการต่อยอด คือ “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” นับเป็นไม้เด็ดทางการเมืองในการกวาดคะแนนเสียงชาวบ้านของรัฐบาลในอดีต สิ่งที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงแนวทางสืบทอด นั้นคือเม็ดเงินที่รัฐบาล คสช.ทุ่มลงไปตั้งแต่ยึดอำนาจ แต่ละปีนับหมื่นล้านบาท ไล่ตั้งแต่ปี 2559 อัดงบไปราว 3.5 หมื่นล้านบาท ปี 2560 อัดเงินไปราว 4 หมื่นล้านบาท

ส่วนปีนี้ 2561 ยังไม่ถึงกลางปี รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท กองทุนหมู่บ้านฯ ละไม่เกิน 3 แสนบาท ต่อยอดโครงการเดิมเพื่อหวังยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการให้โอกาสประชาชนบริหารจัดการเงินของตัวเองในหมู่บ้าน เน้นนำไปประกอบอาชีพ สร้างงาน และสร้างรายได้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้แนวทาง “ประชารัฐ” และ “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” ที่รัฐบาลวางเป้าหมายไว้

แน่นอนว่ากลไกที่ออกมาขับเคลื่อนและเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการยังคงเป็นหน่วยงานรัฐ อาทิ กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นมือเป็นไม้สำคัญให้รัฐบาลในการเดินโครงการต่างๆ ในรูปแบบผ่านเวทีประชาคมดึงผู้นำชุมชน ชาวบ้าน หัวหน้าส่วนราชการโดยเป็นการมาร่วมคิดและร่วมตัดสินใจว่า แต่ละหมู่บ้านหรือชุมชนจะทำโครงการใด เช่น ขุดบ่อน้ำ ซ่อมแซมถนน สร้างลานมันสำปะหลัง จัดซื้อเครื่องมือการเกษตร หรือ เครื่องสีข้าวขนาดเล็กในชุมชน เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่แปลกทุกครั้งที่ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน “บิ๊กตู่” จะย้ำว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้หาเสียง แต่จะ
ต่อยอดขยายผลให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

ปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านฯ มีทั้งสิ้น 79,593 กองทุน สมาชิกประมาณ 13 ล้านคน สามารถยกระดับขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 2,560 แห่ง มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ แยกเป็นเงินจัดสรรจากรัฐ 2 แสนล้านบาท เงินสินเชื่อจากโครงการและมาตรการสำคัญ เช่น โครงการสนับสนุนและพัฒนากองทุนหมู่บ้าน 4 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร เงินสินเชื่อ ตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ ระดับหมู่บ้าน 6 หมื่นล้านบาท และการดำเนินงานมีกำไรทั้งสิ้น 1.57 หมื่นล้านบาท

ตามนโยบายประชารัฐ รัฐบาลยกระดับให้กองทุนหมู่บ้านฯ เป็นนโยบายสำคัญ เนื่องจากตอบโจทย์ทั้งการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในสังคม เป็นกลไกสร้างสังคมแห่งโอกาส เป็นแหล่งเงินทุนให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้ มีเงินทุนเพื่อการผลิตและนำสินค้าไปเสนอขายในช่องทางต่างๆ ได้ และที่สำคัญคือเป็นกลไกที่สร้างสังคมที่มีความสามารถในการคิดอ่านในการประกอบอาชีพที่มีศักยภาพสูงขึ้น

ยิ่งล่าสุดรัฐบาลเตรียมจัดงานใหญ่ มหกรรมการแสดงผลงานของโครงการกองทุนหมู่บ้านฯ ตามแนวทางประชารัฐ และไทยนิยมยั่งยืน ระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ เพื่อโชว์ออฟว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ “บิ๊กตู่” บริหารประเทศได้เทงบประมาณเอาใจพี่น้องระดับฐานรากไปมากขนาดไหน คล้ายๆ โชว์ผลงานครบ 4 ปีไปในตัว เพราะอย่าลืมว่าฐานคะแนนนิยมสมัย “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี มาจากเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯ ที่วันนี้จัดตั้งมาแล้ว 17 ปี

กองทุนหมู่บ้านฯ ได้กลายเป็นสถาบันการเงินให้คนจนในยามทุกข์ยากและฉุกเฉิน จนถูกมองว่าเป็นเครือข่ายทางการเมืองไปโดยปริยายก็ว่าได้ เพราะนัยทางการเมืองภายในกองทุนหมู่บ้านฯ มีตัวแทนมาจากผู้นำชุมชน อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ประสานและรวมกลุ่มประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และภูมิภาค รวม 4 ภาค จนเวลานี้เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯ เข้มแข็งและใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ

จนดูประหนึ่งว่าเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯ ทำหน้าที่กึ่งๆ หัวคะแนนฐานเสียงทางการเมืองให้รัฐบาลผ่านเวทีประชาคมในการถ่ายทอดนโยบายรัฐบาลลงพื้นที่ได้รวดเร็วที่สุดแบบถึงเนื้อถึงตัวชาวบ้านโดยตรง คิดง่ายๆ ภาคอีสานฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย เพียงแค่ภาคเดียวมี 20 จังหวัด มีจำนวนกองทุนหมู่บ้านฯ 34,108 กองทุน คิดเป็น 42% ของกองทุนหมู่บ้านฯทั่วประเทศ ดังนั้นเฉพาะแค่ภาคอีสานภาคเดียว มีสมาชิกกองทุนฯ 5.5 ล้านคน

จึงอาจกล่าวได้ว่าภาคอีสานเป็นภาคที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุด เมื่อใดที่รัฐบาลเพิ่มการจัดสรรงบประมาณลงไป อย่างล่าสุดรัฐบาล “บิ๊กตู่” อัดงบประมาณลงไปได้นำไปทำกิจกรรมต่างๆ เอาใจพี่น้องในพื้นที่ อาทิ โครงการร้านค้าประชารัฐ โครงการปั๊มน้ำมันชุมชน เพื่อบริการประชาชนพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก นับแต่ “บิ๊กตู่” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เกือบ 4 ปี จัดงบไปเกือนแสนล้านบาท เพราะได้ช่วยให้คนจนได้เข้าถึงแหล่งทุน กระตุ้นการใช้จ่ายในภาคชนบท แถมได้คะแนนเสียงไปด้วยในตัว มีหรือรัฐบาลท็อปบู๊ต จะไม่ต่อยอดมาเป็นไม้เด็ดทางการเมืองเรียกคะแนนเสียงให้กับรัฐบาล