posttoday

เปิด 10 ข้อ ปฏิรูประบบยุติธรรม

27 เมษายน 2561

เปิดแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 10 ข้อ ที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมเสนอ

เปิดแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 10 ข้อ ที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมเสนอ

******************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แม้กระบวนการยุติธรรมของไทยจะผ่านการปฏิรูปด้านโครงสร้าง กระบวนการทำงาน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังคงปรากฏข้อวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ของความล่าช้า ข้อจำกัดในการเข้าถึง ความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมาย และความถูกต้องของการทำงาน สะท้อนให้เห็นความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ด้วยเหตุดังกล่าวคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมเสนอแผนปฏิรูป 10 ข้อดังนี้

ประเด็นที่ 1 การกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า มีกิจกรรมปฏิรูปที่สำคัญคือ ให้หน่วยงานกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนแล้วประกาศให้ประชาชนทราบ สร้างกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน มีระบบการประเมินและปรับปรุงระยะเวลาตามที่ประกาศเป็นระยะ และสร้างระบบการตรวจสอบหรือแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการให้ประชาชนทราบ งบประมาณ 3.8 ล้านบาท

ประเด็นที่ 2 การพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม มีกิจกรรมการปฏิรูปที่สำคัญ คือ กำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหาย พยาน ผู้ต้องหาและจำเลยในการดำเนินคดี การพัฒนาระบบ จัดให้มีทนายความช่วยเหลือคดี ปรับปรุงระบบประกันตัว การพัฒนาและส่งเสริมระบบ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนงบประมาณ 579 ล้านบาท

ประเด็นที่ 3 การพัฒนากลไกการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มีกิจกรรมการปฏิรูปที่สำคัญคือ นำระบบประเมินความเสี่ยงมาใช้ทดแทน การเรียกทรัพย์สินเป็นหลักประกัน เพิ่มมาตรการลงโทษที่หลากหลาย นำโทษปรับตามความสามารถในการชำระ (Day Fines) มาใช้ และแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องหนี้และสัญญาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ งบประมาณ 439 ล้านบาท

ประเด็นที่ 4 การปรับกระบวนทัศน์ในการบริหารงานยุติธรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยและความเป็นธรรมในสังคม มีกิจกรรมการปฏิรูปที่สำคัญ คือ ทบทวนการจำแนก ประเภทยาเสพติดและพัฒนาระบบบำบัดผู้ติดยาเสพติด ลดอุปสรรคในการกลับคืนสู่สังคมของผู้พ้นโทษ มีระบบการกำหนดโทษที่โปร่งใสและได้สัดส่วนยิ่งขึ้น มีระบบยุติคดีอาญาที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมและบูรณาการฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้กระทำผิด งบประมาณ 471 ล้านบาท

ประเด็นที่ 5 การปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาเพื่อให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม มีกิจกรรมการปฏิรูปที่สำคัญ คือ กำหนดประเภทหรือลักษณะคดีที่ควรจะมีการสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ มีกฎหมายเกี่ยวกับการกันผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นพยาน และให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติม งบประมาณ 5 ล้านบาท

ประเด็นที่ 6 การกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจน เพื่อมิให้คดีขาดอายุความ มีกิจกรรมการปฏิรูปที่สำคัญ คือ กำหนดระยะเวลาในการส่งสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนให้แก่พนักงานอัยการ เพื่อให้มีระยะเวลาเพียงพอในการตรวจสอบสำนวนและบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาข้อขัดข้องที่อาจเกิดจากการประสานงานที่ล่าช้า งบประมาณ 46 ล้านบาท

ประเด็นที่ 7 การพัฒนาระบบการสอบสวนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ มีกิจกรรมการปฏิรูปที่สำคัญคือ ให้ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ กล่าวโทษ ณ สถานีตำรวจแห่งใดก็ได้ สร้างระบบป้องกันการแทรกแซงหรือครอบงำการใช้ดุลพินิจในการทำสำนวนของพนักงานสอบสวน และจัดตั้งหน่วยงานในสำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่วิเคราะห์คำพิพากษาเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงาน งบประมาณ 135 ล้านบาท

ประเด็นที่ 8 การปฏิรูประบบนิติวิทยาศาสตร์เพื่อความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อเท็จจริงแห่งคดี มีกิจกรรมการปฏิรูปที่สำคัญคือ จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดมาตรฐานกลางการปฏิบัติงานและคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ให้มีผู้ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์และนิติเวชที่เพียงพอและมีความเป็นอิสระ และพัฒนาหลักเกณฑ์การรับฟังพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ งบประมาณ 141 ล้านบาท

ประเด็นที่ 9 การเสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมเพื่อมุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว มีกิจกรรมการปฏิรูปที่สำคัญคือ มีมาตรการขจัดวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอุปสรรคต่อการอำนวยความยุติธรรมโดยสะดวกรวดเร็ว นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานภายในหน่วยงานและงานบริการประชาชน และกำหนดตัวชี้วัดในการปฏิบัติงาน งบประมาณ 91 ล้านบาท

ประเด็นที่ 10 การพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ มีกิจกรรมการปฏิรูปที่สำคัญ คือ ปรับปรุงเขตอำนาจศาลและกฎหมายเพื่อให้รองรับการค้าระหว่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับคดีและพัฒนางานอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ งบประมาณ 77 ล้านบาท