posttoday

อุดมศึกษาอเมริการะส่ำ ส่องบทเรียนหนีวิกฤต

11 เมษายน 2561

ปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตัวและ น่าตกใจให้กับมหาวิทยาลัยหลาย แห่งทั่วโลก นั่นคือในสหรัฐอเมริกามีมหาวิทยาลัยปิดตัวแล้ว 500 แห่ง

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตัวและ น่าตกใจให้กับมหาวิทยาลัยหลาย แห่งทั่วโลก นั่นคือในสหรัฐอเมริกามีมหาวิทยาลัยปิดตัวแล้ว 500 แห่ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,000 แห่ง ใน 10 ปีข้างหน้า เหตุผลสำคัญเพราะการศึกษาออนไลน์ เทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาตีตลาดกระทบกับทุกแวดวงอาชีพ

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งติดตามปัญหาการศึกษาและตลาดแรงงาน ระบุว่า เรื่องดังกล่าว กำลังสร้างผลกระทบต่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วโลก  และกระทบมาถึงประเทศไทยแล้วเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกามีมหาวิทยาลัยทั้งหมดประมาณ 4,700 แห่ง ต้องปิดตัวไปเพราะผลกระทบจากกรณี ดังกล่าวกว่า 100 แห่ง และมีรายงานด้วยว่าตั้งแต่ปี 2555-2557 สหรัฐอเมริกามีนักศึกษาลดจำนวนลงถึง 8 แสนคน

"กลุ่มมหาวิทยาลัยที่ไปไม่รอดได้รับผลกระทบถึงขั้นต้องปิดตัวนั้น ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่มีชื่อเสียง หรือมีขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันเมื่อจำนวนผู้เรียนน้อยลง แม้แต่มหาวิทยาลัยมีชื่อ มีคุณภาพ หรือจัดอยู่ในกลุ่มเกรดบีบางแห่งก็ยังมีที่นั่งเหลือ มหาวิทยาลัยเกรดซีก็ยิ่งเหมือนมีแรงฉุดให้ปิดตัวเร็วมากขึ้น"

สถานการณ์ผู้เรียนลดลงในสหรัฐ อเมริกาส่งผลให้เกิดการปรับตัว 3 แนวทาง คือ แบบแรก พยายามลดต้นทุนด้วยการนำระบบการเรียนแบบออนไลน์มาช่วยและเพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน แต่มหาวิทยาลัยที่เน้นการสอนออนไลน์หลายแห่งก็ยังประสบปัญหาอื่นตามมา เช่น ชื่อเสียงไม่ดึงดูดผู้เรียนมากพอ จำนวนผู้เรียนก็ไม่เพิ่มขึ้น เพราะโลกยุคใหม่ให้ความสำคัญกับความรู้ความสามารถมากกว่าวุฒิทางการศึกษา เมื่อประกอบกับเนื้อหาที่สอนออนไลน์ไม่แตกต่างจากที่หาได้จากสื่อทั่วไป ก็ยิ่งหมดโอกาสที่จะจูงใจผู้เรียน มหาวิทยาลัยในที่อยู่ในข่ายนี้ก็อาจจะไปต่อไม่ได้

แบบที่สอง ซึ่งมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาใช้เพื่อแก้ปัญหาผู้เรียนที่ลดลง คือ การหันไปเปิดสาขาวิชาที่เป็นเหมือนนิชมาร์เก็ต (Niche Market) หรือสาขาวิชาที่เป็นทางเลือกเฉพาะกลุ่ม เช่น เป็นสถาบันสำหรับช่าง วิศวกร สร้าง จุดเด่นให้เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่จะเปิดตัวเป็นทางเลือกที่สองได้ จะต้องมีทรัพยากรพร้อม มีการทำวิจัย มีความร่วมมือกับระบบอุตสาหกรรมล่วงหน้าหลายปี เพื่อเตรียมพร้อมด้านองค์ความรู้ของสถาบันและความพร้อมด้านบุคลากร

"การปรับตัวของกลุ่มที่สองจะมีการประกาศชัดเลยว่าสถาบันของตัวเองมุ่งไปทางด้านไหน เช่น ด้านไอซีที มุ่งไปทางการสร้างผู้ประกอบการ หรือด้านสาขาที่เป็นงานบริการอย่างเดียว รูปแบบที่สองนี้เคยถูกใช้กับมหาวิทยาลัยในประเทศ อย่างสวิตเซอร์แลนด์และสวีเดน ซึ่งเคยประสบปัญหาผู้เรียนลดลงจนต้องหันไปสร้างสถาบันเฉพาะทาง เพื่อแก้ปัญหาไม่มีคนเรียนจนต้องถูกปิดตัว"

อุดมศึกษาอเมริการะส่ำ ส่องบทเรียนหนีวิกฤต เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

การหนีการปิดตัวแบบที่สาม ซึ่งได้ผลมากกว่าแบบที่สองนั่นคือการพัฒนาตัวเองให้เป็นสถาบันที่โดดเด่นเป็นเอกอุด้านการเรียนการสอน เป็นที่เลื่องลือในหมู่ผู้เรียน มีมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยที่พยายามเป็นนิช มาร์เก็ตแล้วแต่ก็ไปไม่รอด เพราะบรรดาสถาบันที่ประกาศตนว่าเชี่ยวชาญเฉพาะทางนั้นที่สุดแล้ว ก็พบว่ามีความเชี่ยวชาญในด้านที่ซ้ำกัน จนหันไปแข่งกันเองและกลายเป็นแข่งขันกันอย่างดุเดือด ไม่แพ้ตอนที่ยังไม่มีสถานการณ์ ปิดตัว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือสถาบันไหนมีสายป่านยาวกว่าก็อยู่ได้ เพราะมีทุนซื้อตัวอาจารย์ผู้สอน เพื่อใช้ดึงดูดผู้เรียนได้มากกว่า" เกียรติอนันต์ กล่าว

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูเมื่อสิบกว่าปีก่อน จะพบว่าสถาบันชื่อดังอย่างเอ็มไอทีนั้นกล้าเปิดเผยคลิปการเรียนการสอนในห้องเรียนบางวิชา จนมีคนบอกว่าทำแบบนั้นจะทำให้ไม่มีคนไปเรียน เพราะดูคลิปก็เหมือนได้เรียนโดยไม่ต้องลงทะเบียน แต่จริงๆ แล้วคนยังไปเรียนสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) อย่างไม่ขาดสาย แม้จะเรียนได้จากคลิป เพราะคนยังต้องการครู สะท้อนว่าวิธีการเรียนรู้ในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก แต่การเรียนรู้โดยผ่านการปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน ปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนคนอื่นๆ ก็ยังถือเป็นประสบการณ์การเรียนที่ยังไม่มีการเรียนออนไลน์ใดๆ ทดแทนได้

เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ระบบการเรียนแบบดิจิทัลทำได้เพียงเรื่องของการถ่ายทอดความรู้แบบง่ายๆ แต่การเรียนในศาสตร์แขนงต่างๆ ยังมีเรื่องของกลเม็ดของการเรียนที่จี้จุดอ่อนจุดแข็งของ ผู้เรียนได้ โดยผู้สอนที่มีประสบการณ์และติดตามผู้เรียนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของเคล็ดลับประจำสำนัก ที่มี ความรู้ที่แอบซ่อนอยู่ ซึ่งความรู้เหล่านี้จะได้จากการถ่ายทอดจากตัวครูอาจารย์ซึ่งเก่งจริงๆ เท่านั้น

"ที่คิดกันว่ามหาวิทยาลัยจะมุ่งหน้าไปเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด ที่สุดอาจเป็นเรื่องที่ผิดพลาดเหมือนที่เราเคยคิดว่าอี-บุ๊กจะมาแทนตลาดหนังสือ ซึ่งเอาเข้าจริงก็แทนที่กันไม่ได้ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร การเรียนทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ยังต้องการความสมดุล เพราะอย่าลืมว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้ขายแค่ความรู้ แต่ต้องขายประสบการณ์ชีวิตที่ยังมีรายละเอียดที่จำเป็นต่อชีวิตของผู้เรียน เท่าที่จะไขว่คว้าได้จากในรั้วมหาวิทยาลัยอีกด้วย"

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า บทเรียนที่ได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา คือ มหาวิทยาลัยที่ยังคงนับเป็นตัวเลือกของผู้เรียน จะต้องมีการเตรียมตัวอย่างแน่วแน่ แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า "ที่นี่คือมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด" จนสามารถสร้างแรงดึงดูดและยังกลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ของผู้เรียนได้อยู่ ไม่ว่าจำนวน ผู้เรียนจะลดลงเพียงไรก็ตาม