posttoday

แก้ทุจริตเงินคนจน ต้องปฏิรูปราชการให้ท้องถิ่นดูแล

05 เมษายน 2561

แนวทางในการแก้ปัญหาทุจริตเงินคนจน คือ รัฐบาลต้องปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารราชการใหม่ ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลคนด้อยโอกาสในพื้นที่

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นในเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 2 หัวข้อ "ตีแผ่เงินสงเคราะห์" เพื่อสะท้อนถึงปัญหา "ทุจริตเงินสงเคราะห์คนจน" นั้น สาเหตุเกิดจากระบบและโครงสร้างที่ปัจจุบันเป็นการรวมศูนย์อำนาจ องค์กรส่วนกลางเป็นผู้บริหารจัดการ ทำให้เกิดช่องโหว่ในการทุจริตและคอร์รัปชั่นง่าย การจะแก้ปัญหาการทุจริตนั้น ต้องรื้อโครงสร้างและกระจายอำนาจสู่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้กระบวนการทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้

โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาผู้ด้อยโอกาส หรือคนไร้ที่พึ่ง เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญและให้การดูแลเป็นพิเศษ เพราะคนกลุ่มนี้รัฐจะต้องดูแล ช่วยเหลือ เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 10 ล้านคน แบ่งออกเป็นกลุ่มผู้พิการประมาณ 2 ล้านคน คนไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แสนคน ผู้ยากจนไร้ที่ดินทำกินกว่า 5 ล้านคน และผู้สูงอายุอีกกว่า 12 ล้านคน

ทำให้เป็นที่มาของโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ ที่มุ่งช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ให้สามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงได้รับในฐานะประชาชนชาวไทย ส่วนการช่วยเหลือในรูปแบบรัฐสวัสดิการเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชน ต้องมีการกำหนดที่ชัดเจนถึงผู้ที่จะได้รับการคุ้มครองผลประโยชน์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สวัสดิการสำหรับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม อาทิ สิทธิการเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข ซึ่งจำเป็นจะต้องมีสวัสดิการเฉพาะกลุ่มผู้ยากไร้ คนด้อยโอกาส คนไร้ที่พึ่ง ต้องมีการกำหนดกรอบให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจนเช่นกันเกี่ยวกับสิทธิของผู้ด้อยโอกาสกว่า

โกวิทย์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ พบหลักฐานทุจริตชัดเจน 37 แห่ง สาเหตุเนื่องมาจากกลไกในการช่วยเหลือยังมีความบกพร่อง และไม่มีกลไกที่ช่วยเหลืออย่างละเอียดพอ การจะแก้ปัญหาทุจริตดังกล่าวต้องทำการแก้ไขในเรื่อง "การรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง" ซึ่งเป็นที่มาของการทุจริตและการคอร์รัปชั่นต่างๆ โดยจำเป็นต้องมีการรื้อโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ เนื่องจากแนวปฏิบัติราชการในปัจจุบันเป็นการนำเสนองบประมาณผ่านกระทรวง หรือกรมต่างๆ เพื่อนำไปแก้ปัญหาของประชาชน ชาวบ้าน ผู้ด้อยโอกาส

ปัญหาคือหน่วยงานต่างๆ จากส่วนกลางนั้น ไม่สามารถเข้าถึงสถานการณ์และจำนวนของผู้ที่ประสบปัญหาจริงในพื้นที่ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง ตลอดจนยังมีช่องว่างในกระบวนการที่ทำให้สามารถเกิดการทุจริตขึ้นมาได้ กรณีเงินที่มีการทุจริตในศูนย์พักพิงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งศูนย์พักพิงสังกัดส่วนกลาง ไม่ได้ขึ้นตรงกับส่วนจังหวัด หรือส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

"แนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวคือ รัฐบาลต้องปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารราชการใหม่ ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลคนด้อยโอกาสในพื้นที่ เนื่องจากองค์กรส่วนท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากกว่า เข้าใจถึงสถานการณ์และความต้องการได้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังเป็นการทำงานที่มีกลไกในการตรวจสอบที่โปร่งใส ทั้งในระดับเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือสภาท้องถิ่น เห็นได้จากกรณีเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการ และพบปัญหาการทุจริตที่น้อยลง" โกวิทย์ กล่าว

ด้าน ธร ปีติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สังคมไทยมีความเข้าใจว่าการทุจริตเกิดจากบุคคล แต่หากพิจารณาอย่างแท้จริงแล้ว รากฐานของการทุจริตเกิดจาก "ระบบ" ที่มีปัญหา อันได้แก่ระบบการเมือง การทุจริตเกิดจากระบบการเมืองที่ผู้มีอำนาจมองว่าอำนาจเป็นของตนเองไม่ใช่ของประชาชน และหน้าที่ของตนเองไม่ใช่รับใช้ประชาชน ในทางระบบวัฒนธรรม การทุจริตเกิดจากวัฒนธรรมที่ผู้มีอำนาจรัฐมองสถานะของตนเหนือกว่าประชาชน

ส่วนระบบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของรัฐ มีมาตรฐานที่ไม่ชัดเจน จึงเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจเพื่อเปิดช่องทางในการสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง การแก้ปัญหาการทุจริตจึงต้องมุ่งแก้ที่ระบบที่กล่าวมาข้างต้น ตลอดจนพัฒนากลไกการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างช่องทางให้ผู้มีอำนาจรัฐต้องรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น รวมถึงการพัฒนากลไกส่วนอื่นไปพร้อมกัน อาทิ สร้างองค์กรของประชาชนที่มี หน้าที่ในการตรวจสอบภาครัฐ การเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมใน การจัดการระบบจัดสรรทรัพยากร เป็นต้น

ขณะที่ อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ตั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 76 แห่งทั่วประเทศ และมีแผนสงเคราะห์เงินให้แก่ผู้ยากไร้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และชน กลุ่มน้อยในบางพื้นที่ เช่น ชาวเขา โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับไว้อย่างชัดเจน แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ประชาชน ชาวบ้าน ไม่รับรู้ถึง "สิทธิที่ตนพึงได้รับ" ชาวบ้านส่วนมากมีความเข้าใจในเรื่องเงินสงเคราะห์ว่าเป็น "ความเมตตาจากรัฐ" จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ซึ่งชาวบ้านทำอย่างไรก็ได้ให้ได้เงินมา ได้มาเท่าไรก็เท่านั้น ไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของตนเองอย่างทั่วถึง

อานนท์ กล่าวอีกว่า เพราะชาวบ้านไม่รู้ถึงสิทธิที่ตนพึงได้รับ นำมาซึ่งเหตุการณ์การตักตวงผลประโยชน์ ทำให้เกิดช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ อย่างไรก็ตามในประเทศไทยมีหน่วยงาน สำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในระดับจังหวัด หรือภูมิภาค กระจายอยู่ทั่วประเทศ หากพบปัญหาการทุจริตสามารถเข้าแจ้งเบาะแสได้ในทันที ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว ผู้เข้าแจ้งเบาะแสจะได้รับสิทธิของกฎหมายการคุ้มครองพยานอีกด้วย

ขบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น ยังเป็นเชื้อร้ายคงอยู่ในสังคมไทย ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เอาไหนของเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต