posttoday

กติกาใหม่สู่การเปลี่ยนผ่าน ตรวจเข้ม-ลงโทษแรง

09 มีนาคม 2561

ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สส. และการได้มาซึ่ง สว. นับว่ามีเนื้อหาที่มีความน่าสนใจและแตกต่างไปจากอดีตเป็น โดยเฉพาะร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สส.มีการคุมเข้มเรื่องการหาเสียงพอสมควร

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น โดยไม่มีการคว่ำกฎหมายเลือกตั้งเพื่อยื้อการเลือกตั้งตามที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้

มติของ สนช.ดังกล่าวทำให้เป็นการสิ้นสุดภารกิจการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและ สนช. จากนี้ไป สนช.จะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวที่เพิ่งผ่านสภาไปให้กับนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

สำหรับร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งสองฉบับ นับว่ามีเนื้อหาที่มีความน่าสนใจและแตกต่างไปจากอดีตเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ซึ่งมีการคุมเข้มในเรื่องการหาเสียงพอสมควร

อย่างการหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การใช้สื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น ก็ถูกคุมเข้มด้วยมาตรา 70

"การหาเสียงเลือกตั้งจะกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด แต่ห้ามมิให้ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดนับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง

ในกรณีที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด" สาระสำคัญของมาตรา 70

ส่วนเรื่องการทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนนั้นยังคงสามารถทำได้ตามปกติ แต่มาตรา 72  กำหนดว่าถ้าเป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริต มีลักษณะเป็นการชี้นำหรือมีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดจะกระทำมิได้

ขณะที่การปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง เป็นอีกประเด็นที่เนื้อหาในมาตรา 73  ของกฎหมายได้กำหนดกระทำที่ต้องห้ามและบทลงโทษที่เข้มข้นไว้เช่นกัน

"ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็น สส. ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด" เนื้อหาส่วนหนึ่งของมาตรา 73

ที่สำคัญยังกำหนดให้การกระทำความผิดดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ กกต.มีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจได้

ไม่เพียงเท่านี้ บทกำหนดโทษของการทุจริตเลือกตั้งยังต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

ขณะเดียวกันการเลือกตั้ง สส.ครั้งนี้ผู้สมัครที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งไม่เพียงแต่ต้องชนะคู่แข่งแล้ว ยังต้อง ชนะใจประชาชนด้วย โดยมาตรา 126  ระบุว่า "เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็น สส.ในเขตเลือกตั้งนั้น ให้ กกต.จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีเช่นนี้ให้ กกต.ดำเนินการให้มีการรับสมัครผู้สมัครใหม่ โดยผู้สมัครเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น"

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. แม้ในวาระแรกเริ่ม สว.จะมาจากการเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ในขั้นตอนของการเลือกกันของผู้สมัครก่อนที่จะมาถึงมือ คสช.นั้นปรากฏว่าได้มีมาตราการคุ้มเข้มเพื่อเป็นหูเป็นตาให้กับ คสช.

ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา มาตรา 61  ซึ่งให้อำนาจและบทบาทกับ กกต.ไว้พอสมควรว่า "ก่อนการประกาศผลการเลือก หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ กกต.มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือก และสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่"

นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการเลือก สว.ของผู้สมัครด้วยกันเองด้วยตามมาตรา 78

"กรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง สส. สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหาร ท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ใดกระทำการโดยวิธีใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือให้ผู้สมัครผู้ใดได้รับเลือกเป็น สว. หรือทำให้ผู้สมัครผู้ใดไม่ได้รับเลือก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-2แสนบาท และให้ศาล สั่งเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งของผู้นั้น"  สาระสำคัญของมาตรา 78

จากภาพรวมของกติกาการเมืองฉบับใหม่ที่กำลังจะออกมา ทำให้มีความน่าสนใจว่าภายใต้เนื้อหาที่เขียนไว้สวยหรูและกำหนดบทลงโทษไว้อย่างเด็ดขาด จะสามารถช่วยให้บ้านเมืองเกิดการปฏิรูปให้สมกับความตั้งใจได้หรือไม่