posttoday

หมอไม่กล้าผ่า-เลือกส่งต่อ ไส้ติ่งคร่าชีวิตคนไทย

06 มีนาคม 2561

จากการรายงานของ นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้คนไทยต้องเสียชีวิตจากไส้ติ่งอักเสบมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์ 

เป็นสถิติที่ต้องหันมามองในทันที เพราะจากการรายงานของ นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับพื้นที่ และผู้แทนราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้คนไทยต้องเสียชีวิตจากไส้ติ่งอักเสบมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก

เป็นอันดับที่ใกล้เคียงกับประเทศด้อยพัฒนาในแถบแอฟริกา

จึงเป็นปัญหาภายในประเทศที่กระทบต่อชีวิตของคนไทยในแง่ของสุขภาพอย่างหนักหน่วง

ขยายความจากข้อมูลการเสียชีวิตจากไส้ติ่งอักเสบ นพ.วัชรพงศ์ บอกเล่าว่า ข้อมูลที่คนไทยตายเพราะไส้ติ่งอักเสบสูงเป็นอันดับ 5 ของโลกนั้น นำมาจากการจัดเก็บขององค์กรในชื่อว่า Health Problems in The World ซึ่งเป็นการจัดเก็บสถิติของโรคภัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั่วโลก เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับบ้านเรา จึงต้องเผยแพร่ต่อเพื่อให้เกิดกระบวนการมองปัญหาและแสวงหาทางออกเพื่อแก้ไข

และองค์ประกอบของสาเหตุที่ไส้ติ่งอักเสบต้องคร่าชีวิตคนไทย ในความหมายของ นพ.วัชรพงศ์ มองว่า การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบนั้น สำหรับแพทย์ผ่าตัดแล้วถือว่าเป็นเรื่องง่าย แต่ภาพแห่งความเป็นจริงในปัจจุบัน กลับพบว่าแพทย์ประจำโรงพยาบาลอำเภอไม่กล้าที่จะผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบให้กับคนไข้ที่เข้ามารับการรักษา แต่เลือกวิธีส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัดแทน

“แพทย์กลัวถูกฟ้องร้องมาก และกลัวติดคุก เพราะจากกรณีเมื่อปี 2550 แพทย์โรงพยาบาลอำเภอร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ผ่าตัดคนไข้ไส้ติ่งอักเสบแล้วเกิดเสียชีวิต ต้องถูกคำพิพากษาจำคุก 3 ปี จึงทำให้ไม่กล้าผ่า และบางส่วนก็ถือโอกาสที่จะไม่ผ่าและส่งต่อแทน มันทำให้ย้อนรอยว่าทุกการผ่าตัดต้องส่งไปที่โรงพยาบาลใหญ่แทน เหมือนกับ 40 ปีก่อนเลย ทั้งๆ ที่ทำกันได้”

นพ.วัชรพงศ์ สะท้อนภาพต่อว่า เมื่อคนไข้ต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วนจากไส้ติ่งอักเสบแบบรอไม่ได้ แต่ถูกส่งต่อเมื่อมาถึงโรงพยาบาลใหญ่ก็ต้องรอคิวผ่าตัดอีก ความล่าช้าที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งสาเหตุที่แพทย์ประจำโรงพยาบาลอำเภอไม่กล้าที่จะผ่าตัด ก็เพราะยังมีปัญหาเรื่องของวิสัญญีแพทย์ หรือแพทย์ดมยา ที่ทุกวันนี้โรงเรียนแพทย์หลายแห่งไม่อาจผลิตวิสัญญีแพทย์ได้เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถกระจายกำลังคนไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง

“ปัญหาค่อนข้างจะหนัก เพราะโรงพยาบาลอำเภอมีอยู่ราว 700-800 แห่ง บางแห่งมีแพทย์ดมยาแค่คนเดียว และแน่นอนว่าแพทย์ก็ไม่ได้อยู่ประจำทุกวัน อีกทั้งผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบก็ไม่ได้มารักษาวันที่แพทย์ดมยาอยู่แน่ๆ มันระบุไม่ได้ แพทย์ที่ประจำอยู่ก็ไม่กล้าจะรับหน้า เลยเลือกที่จะส่งต่อ และอย่าว่าแค่แพทย์ดมยาเลย โรงพยาบาลบางแห่งยังไม่มีศัลยแพทย์อยู่เลยด้วยซ้ำ เพราะเราผลิตแพทย์ออกไปไม่ทัน” นพ.วัชรพงศ์ ย้ำ

แต่กระนั้น นพ.วัชรพงศ์ ยังคงยืนยันว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยือนโรงพยาบาลหลายแห่ง ก็ยังปรากฏภาพที่น่าชื่นอกชื่นใจ เพราะโรงพยาบาลอำเภอบางแห่งที่เจ้าหน้าที่ ทั้งแพทย์ และพยาบาล ยังคงกล้าที่จะทำการรักษาผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ โดยเป็นการเห็นความเป็นความตายของผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความกลัว เพราะผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบจำต้องได้รับการผ่าตัดทันที

“ก็มีหลายโรงพยาบาลที่แพทย์ยังมีความกล้าหาญ โดยใช้พยาบาลดมยา และแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งเป็นความกล้าหาญมาก แพทย์และพยาบาลพวกนี้เห็นประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก เพราะไม่แน่ว่าจะส่งต่อไปแล้วผู้ป่วยอาจมีอันตรายมากกว่า” นพ.วัชรพงศ์ ย้ำ

อย่างไรก็ตาม อีกบทบาทของ นพ.วัชรพงศ์ ที่นอกเหนือจะเป็นศัลยแพทย์แล้ว หมวกอีกใบคือเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาไส้ติ่งอักเสบที่คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลกนั้น จะมีทางแก้ไขได้อย่างไรบ้างอย่างเร่งด่วน นอกเหนือจากปัจจัยที่ผลิตแพทย์ไม่ทัน และความกล้าของแพทย์บางส่วนอาจมีไม่เพียงพอ

นพ.วัชรพงศ์ ตอบคำถามทิ้งท้ายว่า เคยหยิบยกปัญหานี้พูดคุยในคณะอนุกรรมการเช่นกัน แต่อย่างที่บอกเอาไว้ว่า การที่ผลิตแพทย์ไม่ทัน ไม่พอกับการไปอยู่ตามโรงพยาบาลชุมชน ปัญหาก็ยากที่จะได้รับการแก้ไข บวกกับปัญหาแพทย์กลัวการฟ้องร้อง แต่เดิมเคยทำได้พอมามีข่าว ก็กลัวว่าจะติดคุกเลยไม่ผ่าตัดให้คนไข้

ภาพประกอบข่าว