posttoday

"พรรคเกรียน" ถอดแบบต่างประเทศ ไม่เพี้ยนแต่จริงจัง

04 มีนาคม 2561

"โลกเปลี่ยนไปเยอะ ต่างประเทศมีโมเดลเกิดขึ้นมาก ที่เป็นพรรคมาจากประชาชน มีลักษณะเป็นพรรคมวลชนสูงมาก คนที่สนใจการเมืองแต่มองในกรอบก็คิดว่าทำไม่ได้​ ผมจึงคิดว่าเราน่าจะทดลองดู"

“ผมนั่งคิด คิดมาหลายปีแล้ว จริงหรือเปล่าที่ทำไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยนไปเยอะ ต่างประเทศมีโมเดลเกิดขึ้นมาก ที่เป็นพรรคมาจากประชาชน มีลักษณะเป็นพรรคมวลชนสูงมาก หากเกิดขึ้นในเมืองไทยจะทำได้หรือไม่ คนที่สนใจการเมืองแต่มองในกรอบก็คิดว่าทำไม่ได้​ ผมจึงคิดว่าเราน่าจะทดลองดู”

*****************************

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

สปอตไลต์การเมืองจับจ้องไปยัง ​สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักคิดนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อเขาโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวประกาศหาผู้ร่วมก่อตั้ง “พรรคเกรียน” ในช่วงที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้กลุ่มการเมืองเริ่มแสดงตัวจดแจ้งตั้งพรรคใหม่

ในวันที่ทุกอย่างกำลังเริ่มต้น สมบัติเปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ถึงที่มาที่ไปกับการกระโดดจากข้างสนามเข้าสู่ถนนการเมืองแบบเต็มรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ชื่อ “พรรคเกรียน” ที่ต้องการให้ดูสนุก ต่างประเทศมี ไพเรตปาร์ตี้ หรือ พรรคโจรสลัด จึงอยากให้สนุกเหมือนกัน แต่มาคิดว่าหากใช้คำว่าโจรสลัดก็ดูจะไม่เข้ากับเมืองไทย จึงหาอะไรที่คล้ายกัน จนมาลงตัวที่พรรคเกรียน

“ตั้งใจให้ดูสนุก แต่ก็ไม่ใช่เล่นๆ คนจะไปตีความ มองทั้ง ไม่จริงจัง ล้อเล่น แต่ไม่ใช่ เป็นการทำอะไรจริงจังทั้งหมด แต่คนจะรู้สึกดี สนุก ดูไม่ซีเรียส​”

สำหรับที่มาที่ไปของการตั้งพรรคนั้น เริ่มจากเมื่อพูดถึงวิกฤตการณ์ทางการเมืองส่วนหนึ่งเพราะ “พรรคการเมือง” ไม่สามารถวิวัฒนาการไปได้สุด วนอยู่กับพรรคนายทุน ​การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพรรคการเมือง จนมีคำถามว่า พรรคการเมืองในอุดมคติเป็นยังไง ซึ่งคนก็คิดในใจว่าการเมืองไทยทำไม่ได้เพราะต้องใช้เงิน ไม่ใช่คนธรรมดาจะทำได้

“ผมนั่งคิด คิดมาหลายปีแล้ว จริงหรือเปล่าที่ทำไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยนไปเยอะ ต่างประเทศมีโมเดลเกิดขึ้นมาก ที่เป็นพรรคมาจากประชาชน มีลักษณะเป็นพรรคมวลชนสูงมาก หากเกิดขึ้นในเมืองไทยจะทำได้หรือไม่ คนที่สนใจการเมืองแต่มองในกรอบก็คิดว่าทำไม่ได้​ ผมจึงคิดว่าเราน่าจะทดลองดู”

สมบัติ เปรียบเทียบว่า การตั้งพรรคครั้งนี้เป็น “แอ็กชั่น รีเสิร์ช” ที่เป็นการทดลองผ่านปฏิบัติการจริง โดยใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการพรรค ที่มีข้อดีคือลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ หากไปดู ไพเรตปาร์ตี้ ของตะวันตกมีเป็น 10 ประเทศ แต่ที่ประสบความสำเร็จคือของเยอรมนี ซึ่งสามารถได้รับเลือกเป็น สส.​ในสภา และยังได้ไปนั่งในสภายุโรปด้วย

ทั้งนี้ ไพเรตปาร์ตี้ของตะวันตกที่จะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแพลตฟอร์มในการทำงาน ทั้งการสื่อสาร การทำธิงค์แท็งก์ ​ซึ่งมีการสร้างแพลตฟอร์ม “ลิควิด ฟีดแบ็ก” ช่วยทั้งการจัดอันดับ โหวต อภิปราย ซึ่งที่มาที่ไปของต่างประเทศก็มาจากคนรุ่นใหม่อายุ 20-30 ปี

ประวัติศาสตร์จุดเริ่มต้นมาจากยุคควบคุมการเข้าถึงออนไลน์ ซึ่งต่อมาก็วิวัฒนาการการเมืองในพรรคนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า “ลิควิด ดีมอคเครซี” ซึ่งก้าวหน้ากว่าประชาธิปไตยตัวแทน เพราะเวลาคุณเลือกตั้งเสียงก็จะไปอยู่ในมือ สส.​ ซึ่งไม่รู้ว่า สส.จะโหวตในสิ่งที่ประชาชนคนเลือกเขาต้องการหรือไ​ม่

แต่สำหรับ ​ลิควิด ดีมอคเครซี เวลามีนโยบาย สส.ก็ไม่ได้โหวตกันแบบฝักถั่ว แต่ต้องนำประเด็นเหล่านั้นกลับมาที่พรรค มีการใช้แอพพลิเคชั่นเปิดให้ถกเถียงกัน ซึ่งถือว่าสร้างการมีส่วนร่วมสูงมาก และเป็นพรรคของมวลชนอย่างแท้จริง คอนเซ็ปต์นี้ก็จะนำไปปรับใช้กับพรรคเกรียน

“เราจะมาอภิปรายภายใน แสวงหารูปแบบประชาธิปไตยก้าวหน้า เวลาศึกษาเรื่องนี้ดูว่ามีรูปแบบใดบ้าง เราก็จะถึงทางตันว่าในประเทศมีแค่พรรคทหารกับพรรคนายทุน สองแบบมันไม่ไปไหน พรรคนายทุนใหญ่กับนายทุนเล็ก นายทุนท้องถิ่น เป็นการถอยหลัง ไม่มีวิวัฒนาการ

...ที่ผ่านมาแนวคิดที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่ มีคนหน้าใหม่เข้ามา แต่รูปแบบก็ไม่เห็นว่าใหม่ ในความรู้สึกผม หากมีพรรคที่แตกต่างแบบสุดลิ่มทิ่มประตู โดยไม่สนใจว่าจะได้เสียงเท่าไร นั่นไม่ใช่ประเด็น แต่คุณจะทำการทดลอง ทฤษฎี หลักการ”

ถามว่าหากไม่สนคะแนนเสียงจะทำให้พรรคไม่มีพลังไปผลักดันนโยบายในสภา สมบัติ ตอบทันทีว่า ไม่จริง เป็นเรื่องที่โต้เถียงกันมาพอสมควร อย่างพรรคหมาแมวของอังกฤษไม่มีเสียงในสภา แต่ก็สามารถทำเรื่องเล็กๆ ส่งเสียงอยู่ข้างนอก พรรคการเมืองถือเป็นองค์กรทางการเมืองของประชาชน ถ้าคุณมีตัวแทนก็เข้าไปทำงานในสภา ถ้าไม่มีตัวแทนก็ทำงานนอกสภาได้

ส่วนที่มองกันว่า บก.ลายจุดเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวจากนอกสภาเข้ามาสู่ในสภานั้น สมบัติ ชี้แจงว่า พรรคการเมืองเป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มเคลื่อนไหว ซึ่งแมสกว่าการเคลื่อนไหวนอกสภา เพราะไม่ต้องทำภายใต้สถานการณ์การเมือง โดยพรรคการเมืองสามารถทำธิงค์แท็งก์เก็บไปเรื่อยๆ

สมบัติ ย้ำว่า เรื่องการตั้งพรรคไม่ใช่เพิ่งมาคิด แต่พูดเรื่องนี้มาร่วม 2 ปีได้ จนถึงช่วงเปิดรับสมัครจึงมีการหารือกับคนอื่นๆ ที่ทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และจากที่เปิดรับสมัครไปทางเฟซบุ๊กมีคนหลังไมค์เข้ามาแสดงความคิดเห็นแบบซีเรียสจริงจัง ไม่ใช่แค่ให้กำลังใจ ก็รับเข้ามาอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กที่เปิดขึ้นมาเวลานี้มีร่วม 30 คน ซึ่งยังไม่ขอเปิดเผยว่ามีใครบ้าง แต่หากเปิดชื่อมาจะเห็นว่ามี “บิ๊กเนม” ซึ่งพูดคุยกันมาเป็นปี

ถามว่าจะส่งผู้สมัครครบ 350 เขต หรือไม่ บก.ลายจุด ย้ำทันทีว่า ไม่สนใจอยู่แล้ว ไม่ได้สนใจเรื่องจำนวน สส. หรือเก้าอี้ในสภาเลย มีก็ดี แต่การส่งผู้สมัคร สส. ต้องคำนึงถึง “คุณภาพ” ก่อน เช่น ถ้ามีคนอยากลงแต่พิจารณาแล้วเกณฑ์ยังไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าไม่ควรส่ง ถ้าส่งแล้วชาวบ้านยี้ก็ไม่เอา

"พรรคเกรียน" ถอดแบบต่างประเทศ ไม่เพี้ยนแต่จริงจัง

ส่วนจุดแข็งของพรรคที่จะไปแข่งกับพรรคอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ ฐานเสียง ชัดเจน คืออะไร สมบัติ ชี้แจงว่า พรรคไม่สนใจ ไม่มีแรงกดดัน หมายความว่าเราไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องชนะเลือกตั้งเหมือนพรรคอื่น ซึ่งคิดว่าไม่ใช่แค่จะเอาชนะ แต่ต้องชนะให้ได้ปริมาณมากเพื่อเป็นรัฐบาล ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบตกร่อง ทำให้คนตกร่อง ​

“เราจะไม่ใช้ตังค์ ไม่ใช้ป้าย แต่จะทำกระแส หรือมีป้ายก็อาจจะยอมให้มีเขตละป้าย​ เลยบอกว่าเป็นห้องทดลอง เป็นแอ็กชั่นรีเสิร์ช ซึ่งต้องไปถามว่าจำเป็นไหมต้องส่ง สส.ทุกเขต หรือคำถามเดิมๆ จำเป็นไหมต้องมีป้าย มีป้ายแบบไหน ไม่เบื่อป้ายสี่เหลี่ยมตั้งๆ ซึ่งเชย ไม่สร้างสรรค์ เปลืองเงิน เป็นอุจาดทัศน์​” 

ในแง่ของกฎระเบียบใหม่สำหรับการตั้งพรรค ทั้งการหาสมาชิก เงินระดมทุน ไปจนถึงเรื่องไพรมารีโหวตนั้น เป็นเงื่อนไขทางกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตาม ถามว่าเป็นอุปสรรคไหม ก็เป็นอยู่บ้าง แต่จะทำให้ได้ตามกติกา ถ้าทำไม่ได้ก็จะได้รู้ว่ามีข้อจำกัดอะไร เรียนรู้ไป แต่ส่วนตัวคิดว่าทำได้

ถามว่าถูกตั้งคำถามว่าเป็นพรรคนอมินีของ “เสื้อแดง” หรือ “เพื่อไทย” หรือไม่ บก.ลายจุด ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ส่วนใครจะตั้งคำถามก็ตั้งไป ซึ่งเวลานี้ยังไม่รู้ว่าจะไปจดแจ้งกับ กกต.เมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับความพร้อม แต่ตอนนี้ยังไม่พร้อม ซึ่งยืนยันอีกครั้งว่าเป็นพรรคการเมืองจริง ไม่ใช่ตั้งเล่น หรือเป็นพรรคเฉพาะกิจ​

“เป็นพรรคการเมืองจริงๆ แต่เรามีบุคลิกของเราเอง เราจะทำการเมืองแบบใหม่ ซึ่งจะทำการเมืองในระยะยาว และเคยให้สัมภาษณ์หลายทีแล้วว่าไม่ได้ทำพื้นที่การเมือง​ระดับชาติเท่านั้น แต่สนใจตั้งแต่ระดับผู้ใหญ่บ้าน หรือจะทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่แท้จริง ต้องลงไปถึงระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย อย่างเลือกตั้งประธานนักเรียน ซึ่งฟังดูเพี้ยน แต่การทำพรรคครั้งนี้จริงจัง จริงจังมาก จริงจังกว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันมาก”

ปิดท้ายด้วยคำถามว่าคาดหวังอะไรจากการตั้งพรรคครั้งนี้ สมบัติ กล่าวว่า ​สามารถสร้างพรรคมวลชนจากประชาชนได้จริง มีประสิทธิภาพสูง ใช้งบประมาณต่ำ สร้างการมีส่วนร่วม เป็นพรรคที่มีรูปแบบก้าวหน้ากว่าพรคการเมืองที่มีอยู่ในระบบ ส่วนประชาชนจะเลือกหรือไม่ ​เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องที่คาดหวัง แค่ฟังเราก็พอแล้ว