posttoday

สร้าง‘คนดี’นำ‘คนเก่ง’ อย่าหลงเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง

02 มีนาคม 2561

"หากจะสร้างให้เด็กมีวินัยได้ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งปัจจุบันเด็กอยู่ในระบบการศึกษา จึงต้องให้ความสำคัญในประเด็นการสร้างคน โดยเน้นคนดี มากกว่าคนเรียนเก่ง"

คณะอนุกรรมการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ร่วมกับองค์กรเครือข่ายสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิดที่เหมาะสมสำหรับคนไทย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน จัดงาน "การสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิดที่เหมาะสมสำหรับคนไทย" โดยประกาศเจตนารมณ์องค์กรภาคีเครือข่าย 275 เครือข่าย กว่า 500 คน เพื่อร่วมสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิดสำหรับคนไทย

นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "หลักคิดที่เหมาะสม สำหรับคนไทย" ว่า สังคมไทยในอดีตได้รับการยกย่องจากต่างชาติในเรื่องความอ่อนโยน มนุษยธรรม กตัญญู แต่ปัจจุบันเราเผชิญกับวิกฤตคุณธรรม ต้นทุนเหล่านี้ลดต่ำลงจากกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศที่กระทบเข้ามา ทำให้ถึงเวลาที่จะต้องคิดว่า จะปล่อยให้กระแสไหลบ่าจนพาตกเหว หรือลุกขึ้นมาสู้กับมัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันจำเป็นต้องทำให้ต้นทุนที่เรามีอยู่มีคุณค่าขึ้นมา โดยสถาบันหลักของไทย คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนา สถาบันครอบครัวและชุมชน ซึ่งการปรับกระบวนทัศน์ทั้ง 5 ข้อ คือ 1.พอเพียง 2.วินัย 3.สุจริต 4.จิตสาธารณะ 5.รับผิดชอบ จำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เพียงให้สอนกันในโรงเรียนและให้เด็กท่องจำเพื่อหวังคะแนนอย่างเดียว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำไปปฏิบัติต่อให้เกิดผล ซึ่งโครงการโรงเรียนคุณธรรม ที่พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงริเริ่มไว้เป็นต้นแบบสำคัญของการปรับใช้เป็นกระบวนทัศน์ 5 ข้อ ซึ่งตรัสว่า "การสร้างคนดีให้แก่บ้านเมืองเป็นเรื่องที่ยากและยาวแต่ก็ต้องทำ"

"การเรียนการสอนจะไม่ได้เน้นให้เด็กเก่ง แต่ทำให้เด็กมีน้ำใจ มีจิตอาสา สามัคคี หันมาช่วยเหลือกัน ซึ่งพบว่าการที่เด็กมีน้ำใจ มีคุณธรรม ส่งผลให้เด็กเรียนดีขึ้นกว่าเดิม วัดได้จากสถิติการสอบโอเน็ตอยู่ในลำดับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ" นพ.เกษม กล่าว

องคมนตรี กล่าวว่า หากจะสร้างให้เด็กมีวินัยได้ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งปัจจุบันเด็กอยู่ในระบบการศึกษา จึงต้องให้ความสำคัญในประเด็นการสร้างคน โดยเน้นคนดี มากกว่าคนเรียนเก่ง ไม่ใช่แข่งกันเรียน แข่งกันกวดวิชา แต่ต้องปรับความคิดมีจิตอาสา เด็กช่วยกันติว ให้คำแนะนำกันเรื่องการเรียน เน้นเรื่องระบบธรรมาภิบาล ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้องค์กรหรือโรงเรียนมีคุณภาพ คุณธรรม จัดสิ่งแวดล้อม เชื่อว่า 5-10 ปีนี้ ประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นพ.เกษม กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเห็นความสำคัญด้านการศึกษา และพระราชทานราโชบายด้านการศึกษา ซึ่งทรงต้องการให้การศึกษาต้อง มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน คือ 1.ทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง เข้าใจในพื้นฐานของบ้านเมือง ยึดมั่นในศาสนา มั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์ และเอื้ออาทรต่อครอบครัวชุมชน 2.พื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี ปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ดี ปฏิเสธสิ่งที่ผิด สิ่งที่ชั่ว ช่วยกันสร้างคนดีแก่บ้านเมือง 3.มีอาชีพ มีงานทำ ไม่ใช่เรียนอย่างเดียวแต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้ และ 4.เป็นพลเมืองดี ไม่ว่าครอบครัว สถานศึกษา สถานประกอบการ ต้องส่งเสริมให้โอกาสทำหน้าที่พลเมืองดี โดยเห็นอะไรที่ดีต่อชาติบ้านเมืองก็ต้องทำ เช่น งานจิตอาสา เป็นต้น

เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานคณะอนุกรรมการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า ปัญหาคนไทยยุคปัจจุบัน มีแนวโน้มการใช้พฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น ขาดคุณธรรม วินัย ความซื่อสัตย์ มีปัญหาด้านคุณภาพเกือบทุกช่วงวัย ดูแล ลูกหลานพ่อแม่ไม่ดีพอ สิ่งที่หนักที่สุด คือ ขาดดุลพินิจเปราะบางอ่อนไหว ในการเลือกใช้ชีวิตทั้งพฤติกรรม เทคโนโลยี ทำให้เราหลงเชื่อเร็วโดยไม่ไตร่ตรอง เป้าหมายจริงๆ ที่อยากเห็นคือ การที่คนไทยมีจิตสำนึก เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน กว่าที่จะไปถึงเป้าหมายยาวไกลนี้มีหลายวิธีด้วยกัน

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นโยบายสำคัญของกระทรวงวิทย์ฯ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ การเตรียมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ผ่านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ "วิทย์สร้างคน" ซึ่งเน้นทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้มีกระบวนการความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ ที่มีหลักฐานอ้างอิงได้ มีความตระหนักในหลักธรรมาภิบาล เสริมสร้างให้เกิดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์อย่างทั่วถึง โจทย์สำคัญที่นายกรัฐมนตรีฝากไว้คือ ทำให้คนไทยมีความคิดความอ่าน แบบมีเหตุผล เป็นพลเมืองดีที่ตื่นรู้