posttoday

"กฎหมายร้อน"ที่ต้องปฏิรูป

29 มกราคม 2561

"เรามีกฎหมายเป็นแสนๆ ฉบับไม่ดีต่อประชาชนเลย เพราะสะท้อนถึงการควบคุมประชาชนเกินไป และประชาชนไม่มีทางรู้กฎหมายทุกฉบับ"

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ประเทศไทยนับถอยหลังสู่การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ทุกคณะปฏิรูปยกร่างพิมพ์เขียวปฏิรูปเสร็จแล้วมีความชัดเจนประเด็นขับเคลื่อนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”เป็นประธาน ชิงออกตัวแรงโชว์ผลงานกฎหมายที่ได้ทำมาล้วนเป็นกฎหมายสำคัญเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเร่งประกาศใช้โดยด่วน

เริ่มที่ร่างกฎหมายว่าด้วยการทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัยหรือสร้างภาระแก่ประชาชน พ.ศ. ... จากนี้ไปทางคณะทำงานจะโละทิ้ง หรือกิโยตินกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นและล้าสมัย โดยเริ่มนับตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา เพราะปัจจุบันมีกฎหมายนับแสนฉบับที่สร้างภาระประชาชนและภาครัฐในการบังคับใช้แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์ เช่น กฎอัยการศึกบางฉบับ กฎหมายห้ามขายของเก่า หรือกฎหมายห้ามใช้ภาษาอังกฤษกับเครื่องขยายเสียง ฯลฯ

วิชญะ เครืองาม ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า จะเสนอให้มีหน่วยงานกลางใหม่ขึ้นมาเพื่อทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัย เพราะมีกฎหมายนับแสนฉบับกินขอบเขตกว้างขวางมากที่อยู่ตามกระทรวงต่างๆ แต่อาจนำประสบการณ์ต่างประเทศมาใช้ เช่น รัฐบาลเกาหลีใต้ เน้นยกเลิกเฉพาะกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุน ตั้งแต่ระเบียบหรือประกาศกระทรวงไปจนถึง พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. ฯลฯ  หรืออาจจะให้นิติกรของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม นำเสนอกฎหมายของหน่วยงานตัวเองที่ล้าสมัยขึ้นมา เป็นต้น

“เรามีกฎหมายเป็นแสนๆ ฉบับไม่ดีต่อประชาชนเลย เพราะสะท้อนถึงการควบคุมประชาชนเกินไป และประชาชนไม่มีทางรู้กฎหมายทุกฉบับ ดังนั้นต่อไปจะจัดลำดับและหมวดหมู่ความสำคัญของกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงง่ายๆ ผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งกฎหมายล้าสมัยบางฉบับอาจใช้มาตรา 44 หรือบางฉบับต้องเข้าสภาขึ้นอยู่กับการพิจารณาถึงความสำคัญ” วิชญะ กล่าว

อีกร่างกฎหมายสำคัญที่กำลังเร่งผลักดันคือ ร่างกฎหมายให้นำเงินหรือทรัพย์สินที่ไม่มีผู้เรียกร้องไปใช้ทำสาธารณประโยชน์หรือเงินตกค้าง พ.ศ. ...ขณะนี้กำลังคิดวิธีการ เนื่องจากกระทรวงการคลังเสนอให้นำเงินดังกล่าวที่มูลค่านับหมื่นล้านบาทไปเป็นทุนสำรอง ขณะที่คณะปฏิรูปกฎหมายเสนอว่าควรนำไปเป็นกองทุนลดความเหลื่อมล้ำ เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่า ตัวอย่างเช่น เงินที่ค้างท่อที่อยู่ในบัญชีธนาคารรัฐหรือเอกชน เงินค่าเติมซิมการ์ด เงินกรมธรรม์ หรือเงินในบัตรเติมเงินแบบพรีเพด หรือทรัพย์สินอื่นๆ เช่น นาฬิกา สร้อยคอ รถยนต์ ที่ไม่มีบุคคลใดมารับหรืออ้างสิทธิ ฯลฯ ประสบการณ์ในต่างประเทศจะมีกฎหมายออกมาให้สามารถนำเงินเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์สาธารณะได้ แต่ต้องเป็นเงินที่ไม่มีเจ้าของจริงๆ เช่น เจ้าของสิทธิเสียชีวิตไปแล้ว หรือต้องเกิน 15 ปีขึ้นไป หากไม่มีบุคคลใดมาอ้างสิทธิจึงจะนำเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวจึงจะเข้าเกณฑ์กฎหมายนี้ และต้องมีหน่วยงานกลางขึ้นมาประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนแต่ละคนให้ทราบว่าตัวเองมีกรรมสิทธิ์ใดบ้าง

"กฎหมายร้อน"ที่ต้องปฏิรูป วิชญะ เครืองาม ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์

พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า จะเร่งเสนอร่าง พ.ร.บ.การจัดทำประมวลกฎหมายแบบต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโดยสะดวก พ.ศ. ...โดยจะเป็นการเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวก อย่างกรณีทำบัตรเหล่านี้หาย เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือกรมธรรม์ ต่อไปไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่สามารถไปแจ้งความต่อหน่วยงานตรงที่เป็นผู้ออกบัตรได้ทันที ฯลฯโดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยง่ายต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการขอใบอนุญาตต่างๆต้องรวดเร็วและน้อยขั้นตอนที่สุด เพราะหากระเบียบต่างๆ เหล่านี้สะดวกรวดเร็วจะช่วยสนับสนุนทางการค้าการลงทุนทางเศรษฐกิจได้อย่างมาก เพราะการขออนุมัติหรือขออนุญาตต่างๆ มากเกินไป จะเป็นการควบคุมที่ไม่จำเป็นและเป็นช่องทางการเรียกเงินใต้โต๊ะได้ง่าย

อีกกฎหมายที่สังคมคาดหวังคือ กฎหมายว่าด้วยการบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ โดยก่อนทุกหน่วยงานรัฐนำเสนอโครงการและงบประมาณต้องบูรณาการและประสานงานกันก่อนขออนุมัติงบประมาณ และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการบริหารราชการดิจิทัล พ.ศ. ... โดยจะเสนอให้ยกระดับสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ เดิมอยู่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะแยกออกมาให้ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี มาทำระบบดิจิทัลของราชการทั้งหมดตั้งแต่ระบบลางาน ประเมินผลงาน การอนุญาตลงทะเบียน ข้อมูลกลางภาครัฐหรือสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะให้ใช้ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร เช่นต่อไปการรื้อค้นคดีจากศาลต้องใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนั้นต่อไประบบเอกสารจะต้องหมดไป

นอกจากนี้ จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. ... โดยในอนาคตจะมีการจัดตั้งกองทุนและมาตรการสร้างแรงจูงใจทางภาษี และเตรียมเสนอร่างกฎหมายให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม”

ทั้งหมดล้วนเป็นกฎหมายร้อนที่ต้องเร่งผลักดันออกมาโดยเร็วที่สุด