posttoday

เสรีภาพบนเสื้อผ้า! ยกเลิกแต่งเครื่องแบบนิสิตจุฬาเพื่อสร้างความเท่าเทียม?

28 มกราคม 2561

เครื่องแบบนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังถูกตั้งคำถามถึงการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพเเละเกิดการเรียกร้องให้ยกเลิก

โดย...พัชรีวรรณ มงคล

ชุดนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ภายหลังมีตัวเเทนนิสิตออกมารณรงค์ให้ยกเลิกการแต่งกายชุดเครื่องแบบนิสิต ที่กำหนดเป็นกฎหมายตราไว้เป็นพระราชกฤษฎีกา เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกา กำหนดเครื่องแบบนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2499”

วันนี้พวกเขามองว่า การแต่งกายเป็นสิทธิพื้นฐานและไม่ควรที่จะต้องมาบังคับกัน

การแต่งกายเป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมาได้เกิดโครงการ “รณรงค์ยกเลิก การบังคับ แต่งชุดนิสิต” ผ่านเว็บไซต์ Change.org โดยล่าสุดมีผู้สนับสนุนไม่ต่ำกว่า 1,612 คน เจ้าของโครงการที่ไม่ระบุนามให้เหตุผลการรณรงค์ว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยเริ่มกวดขันการแต่งชุดนิสิตมากขึ้นเรื่อยๆ และมีบทลงโทษที่ประกาศไว้ค่อนข้างรุนแรง เช่น หากทำผิด 6 ครั้งจะต้องพ้นสภาพการเป็นนิสิต

เขาได้ตั้งคำถามไปถึงมหาวิทยาลัยด้วยว่า

- การแต่งชุดไปรเวทมาเรียนสร้างความวุ่นวายอย่างไร

- การสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยการลบความหลากหลายและอัตลักษณ์ในการแต่งกายเกิดประโยชน์ต่อนิสิตอย่างไร

- การตักเตือน หักคะแนนความประพฤติจากการแต่งกายชุดไปรเวทเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอย่างไร

- เหตุใดการพยายามลดความแตกต่างด้วยการปิดกั้นการแสดงออก (ทางการแต่งกาย) เป็นการแก้ปัญหาที่จุฬาฯ เลือก

เจ้าของโครงการ เปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่า การแต่งกายเป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่หากการแต่งกายของบุคคลหนึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น น่าจะเกิดจากอคติส่วนตัวที่เกิดจากค่านิยมทางสังคมบางอย่าง ซึ่งไม่ควรใช้เป็นบรรทัดฐานชี้ความถูกผิดหรือนำมาสร้างเป็นกฎที่ขัดกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล การแต่งกายของนิสิตไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพและความสามารถทางวิชาการของนิสิตแต่อย่างใด สิ่งที่จุฬาฯ ควรใส่ใจคือคุณภาพทางวิชาการ

“ชีวิตการศึกษามันเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่เราควรจะได้เรียนรู้และฝึกฝนเรื่องสิทธิเสรีภาพ ใช้เหตุผลกล้าตั้งคำถาม คิดอย่างมีวิจารณญาณบนฐานการเคารพผู้อื่น ชุดนิสิตเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีที่เราจะอยู่ร่วมกันกับทั้งคนที่อยากใส่และไม่อยากใส่ ซึ่งเป็นสิ่งแสดงว่าเราจะเคารพความคิดอีกฝ่ายได้มากน้อยแค่ไหน เราใส่ชุดนิสิตแล้วต้องบังคับให้คนอื่นใส่ด้วยเหรอ”

“การแต่งกายตามกฎระเบียบ นัยหนึ่งคือการยอมรับและปฏิบัติตามกฎและจารีตประเพณี การบังคับแต่งชุดนิสิตจึงเสมือนเป็นการบังคับให้นิสิตปฏิบัติตามกฎและจารีตประเพณี อีกทั้งยังมีบทลงโทษหากไม่ทำตาม แสดงถึงบทลงโทษของการไม่ปฏิบัติตามจารีตประเพณี ซึ่งขัดแย้งกับจุดประสงค์ของการศึกษาอย่างสิ้นเชิง การศึกษามีขึ้นเพื่อให้สร้างเสริมองค์ความรู้ของมนุษย์ สอนให้มนุษย์รู้จักการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สอนให้มนุษย์ใช้เหตุผลและกล้าตั้งคำถาม มิใช่การพยายามผลิตซ้ำค่านิยมและจารีตประเพณี และต่อต้านการตั้งคำถามและการใช้เหตุผล ดังที่จุฬาฯ กำลังกระทำอยู่

ทั้งนี้การบังคับให้แต่งชุดนิสิตโดยการอ้างว่ากฎเป็นกฎ มีแล้วต้องทำตามย่อมเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง การใส่ชุดนิสิตเป็นกฎเพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องเป็นการข้อโต้แย้งที่ถือว่าเป็นการทิ้งเหตุผล”

เสรีภาพบนเสื้อผ้า! ยกเลิกแต่งเครื่องแบบนิสิตจุฬาเพื่อสร้างความเท่าเทียม?

 

เมื่อเร็วๆ นี้คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้อนุญาตให้นิสิตใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้และไม่ใช้บทลงโทษตามระเบียบ อย่างไรก็ตามไม่ได้ยกเลิกกฎดังกล่าว

“สักวันจุฬาฯ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคร่วมสมัยที่ผู้คนต่างตระหนักในเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น วิธีคิดแบบโลกร่วมสมัยให้ความสำคัญกับจารีตประเพณีน้อยลง ให้ความสำคัญกับการใช้เหตุผลและสถานการณ์ปัจจุบันเป็นตัวกำหนดอนาคต” เจ้าของโครงการรณรงค์กล่าว

ทั้งนี้ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 ฐาปกร แก้วลังกา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยออกมารณรงค์เรื่องนี้แล้วรอบหนึ่ง แม้จะกลายเป็นที่พูดถึงทั่วสังคมแต่สุดท้ายก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่คาดหวัง

ฐาปกร เล่าว่า ได้ล่ารายชื่อ “ยกเลิกบังคับการแต่งกายนิสิตนอกห้องเรียนเท่านั้น” มีสาเหตุมาจากไม่เห็นด้วยกับฝ่ายกิจการนิสิตที่ออกตรวจเครื่องแบบบริเวณลานเกียร์ซึ่งหลายคนมองว่ามากเกินไป ท้ายที่สุดคณะฯ เลิกการเดินตรวจ แต่ไม่ได้ประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการ โดยได้ตกลงกับสภานิสิตฯ ไว้ว่าจะมีการพูดคุยเพื่อหาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ (กลุ่มเรียกร้องและฝ่ายกิจการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์) โดยสภานิสิตฯ เป็นตัวกลาง แต่สุดท้ายผู้ใหญ่สั่งยุติการพูดคุย

 

เสรีภาพบนเสื้อผ้า! ยกเลิกแต่งเครื่องแบบนิสิตจุฬาเพื่อสร้างความเท่าเทียม?

 

มหาวิทยาลัยไม่ได้ใจแคบ

ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านการพัฒนานิสิตและนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาฯ กล่าวว่า ยินดีกับความคิดต่าง  นิสิตไม่อยากแต่งชุดนิสิตก็ยินดีรับฟัง แต่ ณ เวลานี้ด้วยกฎระเบียบที่มีทำให้ต้องปฏิบัติตามไปก่อน ส่วนการจะเปลี่ยนแปลงสามารถดำเนินการผ่านทางช่องทางตามระเบียบของทางมหาวิทยาลัยได้

“ผมว่าคล้ายๆ กับระบอบประชาธิปไตยของประเทศที่ว่าถ้าเราไม่ชอบใจหรือไม่พอใจ กฎหมายไหนที่คิดว่าล้าสมัยหรือไม่ดี เราก็สามารถจะเรียกร้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้ เพราะการเรียกร้องเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ หากเรื่องเรียกร้องมีเหตุมีผล คุยผ่านระบบที่ถูกต้อง ผมคิดว่ามันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ที่ผ่านมาระเบียบที่เรามีก็เปลี่ยนแปลงอยู่ระยะตามยุคสมัย"

ขณะที่ นิติ ชัยชิตาทร หรือ “ป๋อมแป๋ม” พิธีกรชื่อดัง นิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ รุ่น 66 มองว่า สิ่งที่รุ่นน้องเรียกร้องเป็นสิ่งที่ดีและเป็นสิทธิ์ของพวกเขา

“สมัยยังเรียนเราใส่ชุดนิสิตเฉพาะช่วงสอบหรือพิธีการสำคัญ ช่วงอื่นหากเข้าห้องเรียน ก็พยายามแต่งตัวให้สุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับกาลเทศะ เช่น เสื้อเชิ้ต กางเกงสแลค รองเท้าหนัง”

ป๋อมแป๋ม บอกว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะต้องหันหน้ามาคุยกัน ชั่งน้ำหนักเหตุผลของกันและกัน ถึงความสุภาพและเหมาะสมในความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย

 

เสรีภาพบนเสื้อผ้า! ยกเลิกแต่งเครื่องแบบนิสิตจุฬาเพื่อสร้างความเท่าเทียม? เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

 

เลิกแต่ง เลิกแบ่งชนชั้น

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2560 มองว่า กฎแต่งชุดนิสิตอาจเป็นต้นตอของการแบ่งชนชั้นระหว่างนักศึกษาต่างคณะได้

“ในห้องเรียนไม่มีการแบ่งชนชั้นอยู่แล้ว เว้นแต่เราจะคิดให้แบ่ง เช่น ขณะนี้เกิดการแบ่งชนชั้นระหว่างคณะ ที่ไม่เคร่งครัดการแต่งกายมองคณะที่บังคับให้แต่งเครื่องแบบเป็นความน่าสงสารและเป็นความโชคดีของคณะตนเองที่ไม่ต้องแต่ง ส่วนนิสิตที่ใส่เครื่องแบบตลอดวันหนึ่งอาจคิดว่าสิ่งที่ทำถูกต้องแล้วและเหนือกว่าคนอื่น”

เนติวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ความคิดที่เกิดจากกฎระเบียบ การบังคับเช่นนี้ทำให้เกิดสภาวะการเหยียดที่ตึงเครียดตลอดเวลา ดังนั้นต้องยกเลิกกฎนี้เพื่อลดการแบ่งชนชั้น หากใครอยากแต่งก็แต่งไป หากใครไม่อยากแต่งก็ไม่ต้องแต่ง เคารพกฎซึ่งกันและกัน แต่อย่าบังคับเพราะจะทำให้เกิดสภาวะการเหยียดที่ตึงเครียด

การแต่งชุดนิสิตนักศึกษา น่าจะยังกลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันต่อไป เมื่อฝ่ายหนึ่งมองว่าวัฒนธรรมประเพณีและความเป็นระเบียบเรียบร้อยนั้นสำคัญ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลนั้นสำคัญกว่า