posttoday

บทเรียน 14 ปีไฟใต้ เปิดพื้นที่การเมือง ถ่วงดุลความรุนแรง

07 มกราคม 2561

"สันติภาพไม่ใช่แค่การยุติความรุนแรง โดยที่ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรเลย รัฐซึ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบ อาจคิดว่าหากกดไว้ได้ ยุติความรุนแรงได้ก็คือ สันติภาพ แต่เพียงเท่านี้ถือเป็นสันติภาพในเชิงลบ"

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

จากเหตุการณ์คนร้ายบุกค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กองพันพัฒนาที่ 4 ต.ปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ปล้นอาวุธปืนไปกว่า 400 กระบอก เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 จนถึงปัจจุบันผ่านมาแล้วถึง 14 ปีเต็ม ข้อมูลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ระบุว่า ช่วงเวลา 14 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์รุนแรงรวมแล้ว 19,579 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6,687 ราย และบาดเจ็บ 13,229 ราย

แต่ในอีกมุมหนึ่ง 14 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาอันสำคัญที่ให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้และทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐไทย นโยบายการแก้ปัญหาของกลไกอำนาจรัฐ รวมทั้งภาคประชาสังคมที่ได้เรียนรู้การกำหนดบทบาทและการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ และผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักวิชาการที่คลุกคลีกับปัญหาชายแดนภาคใต้มาร่วม 30 ปี มองว่านี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่มีผลต่อสถานการณ์ความรุนแรง

“การแก้ปัญหาที่ผ่านมามีการลองผิดลองถูกกันมามาก แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้น อย่างน้อยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2556 จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงลดน้อยลง และจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงชายแดนภาคใต้ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน”

แม้ภาครัฐจะทุ่มเททั้งกำลังพลและงบประมาณมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ แต่เขามองว่าจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงที่ลดลงนั้น มิใช่ผลจากรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นผลมาจากทุกฝ่ายในสนามความขัดแย้ง

ศรีสมภพ มองว่า ฝ่ายรัฐมีการปรับเปลี่ยนด้านนโยบายการแก้ปัญหาที่เน้นแนวทางสันติภาพมากขึ้น ไม่ได้ใช้แนวทางรุนแรง ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่หันกลับมาพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างและขบวนการก่อความไม่สงบ รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนะการแก้ปัญหามากขึ้น ส่วนภาคประชาสังคมก็ได้เรียนรู้ ได้เข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาในแนวทางสันติ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการไม่ให้ใช้ความรุนแรง

“จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงขึ้นและมีผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธ์ ทั้งขบวนการและทั้งฝ่ายรัฐก็จะถูกภาคประชาสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้น ถือได้ว่าภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการถ่วงดุลภายในต่อผู้ที่อาจก่อความรุนแรงทั้งสองฝ่ายและช่วยเป็นแรงผลักดันให้ทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการได้หันมาพูดคุยกันมากขึ้น เพราะภาคประชาชนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบมาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จึงต้องใช้แนวทางสันติแก้ปัญหาเท่านั้น”

แม้ทุกฝ่ายจะมีการปรับตัว ปรับแนวทาง นโยบายการแก้ปัญหา แต่เมื่อถามถึงสถานการณ์ในอนาคตว่าแนวโน้มความรุนแรงน่าจะหมดไป ศรีสมภพ กลับไม่มั่นใจ เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นรากเหง้าของความขัดแย้งยังไม่ได้แก้ทั้งหมด

เขามองว่า ปัญหาอัตลักษณ์ วัฒนธรรม เป็นตัวขับเคลื่อนการต่อสู้ เป็นเรื่องใหญ่ในอดีตรัฐปิดกั้นไม่ยอมรับ ปัจจุบันรัฐก็ประนีประนอมเปิดกว้างมากขึ้น ทั้งภาษาและการแต่งกาย แต่สำหรับโครงสร้างด้านการปกครอง การจัดการตนเอง ยังคงจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อสถานการณ์ต่อไปในอนาคต รัฐจำเป็นที่จะต้องเตรียมแนวทางไว้เตรียมรับ หากว่าในอนาคตนั้นคนตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น

“จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงจะกลับมาอีกหรือไม่นั้นยังคาดไม่ได้ ช่วงที่ผ่านมาก็มีความแปรปรวนเป็นช่วงๆ ซึ่งเป็นตัวชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาต่างๆ ยังแก้ไม่ตกทั้งหมด ขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนตก็ยังไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเป็นทางการ แต่เขาก็ยอมรับในการที่จะเข้าร่วม หากทุกฝ่ายได้เข้าร่วมและยอมรับกระบวนการพูดคุยก็จะช่วยได้มาก หากฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงยังไม่ได้เข้ามาสู่กระบวนการพูดคุยครบทั้งหมด ความรุนแรงก็ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก”

ในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ซึ่งสัมผัสกับปัญหาชายแดนภาคใต้มาร่วม 30 ปี และครั้งหนึ่งรัฐบาลเคยแต่งตั้งให้เขาร่วมในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ศรีสมภพ เชื่อมั่นว่ากระบวนการการพูดคุยจะเป็นตัวแปรสำคัญที่สุด

มุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้เรียนรู้ประสบการณ์การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากหลายๆ พื้นที่ทั่วทุกมุมโลก ศรีสมภพ สะท้อนว่า สันติภาพไม่ใช่แค่การยุติความรุนแรง โดยที่ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรเลย รัฐซึ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบ อาจคิดว่าหากกดไว้ได้ ยุติความรุนแรงได้ก็คือ สันติภาพ แต่เพียงเท่านี้ถือเป็นสันติภาพในเชิงลบ ยังมีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นได้อีก แต่สันติภาพเชิงบวกคือ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การแก้ปัญหาอัตลักษณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยกระบวนการพูดคุยกัน

การพูดคุยซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของความขัดแย้งชายแดนภาคใต้นั้น ศรีสมภพ อธิบายให้เห็นโดยยกตัวอย่างเรื่องข้อตกลงพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งคณะพูดคุยฝ่ายไทยที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ ได้ตกลงกับกลุ่มผู้เห็นต่าง หรือ “มาราปัตตานี” ว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบและตกลงกันได้แล้ว แต่เรื่องนี้กลุ่มบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ในฐานะกองกำลังที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อสถานการณ์ชายแดนภาคใต้มีท่าทีแบบวางเฉย

“บีอาร์เอ็นฝ่ายทหารที่ไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการพูดคุย มีท่าทีแบบวางเฉยคือแค่บอกว่า อยากทำก็ทำไป แต่ผมทราบมาว่ามีการตกลงกันอย่างลับๆ แล้ว ซึ่งเรื่องพื้นที่ปลอดภัยน่าจะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ตัวแทนฝ่ายไทยเคยบอกกับผมว่า จะเริ่มจริงจังภายในเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งคงต้องดูว่าจะมีการประกาศออกมาเป็นทางการหรือไม่ แต่การให้บีอาร์เอ็นเข้ามาสู่กระบวนการพูดคุยโดยตรงน่าจะดีที่สุด”

ที่ผ่านมาขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต เรียกร้องที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจาเช่นกัน แต่ข้อเรียกร้องหลายข้อที่รัฐไทยมองว่ามากเกินไปจนไม่อาจยอมรับได้ กลายเป็นข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม แม้การพูดคุยกับบีอาร์เอ็นจะยังไม่เป็นทางการ แต่ ศรีสมภพ บอกว่า ข้อมูลที่เขาได้รับนั้น ทั้งฝ่ายรัฐไทยและบีอาร์เอ็นได้มีการพูดคุยกันแล้ว โดยมีฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้ประสาน

“มีข้อมูลว่า ผู้นำฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็น เช่น อับดุลเลาะห์ แวมานอ ก็ยอมพูดคุยกับฝ่ายทหาร โดยฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้จัดการเรื่องนี้ให้ แม้ว่าบีอาร์เอ็นจะมีเงื่อนไขซึ่งฝ่ายรัฐยังไม่สามารถยอมรับได้ แต่เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นสัญญาณดีที่ทุกฝ่ายพร้อมจะพูดคุย อย่างน้อยข้อเสนอ ความต้องการอะไรต่างๆ ก็จะถูกหยิบยก นำมาพูดคุยกัน”

ศรีสมภพ ยกตัวอย่างกรณีเผารถทัวร์ กทม.-เบตง ช่วงปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการระมัดระวังผลกระทบทางการเมืองของบีอาร์เอ็น เพราะปฏิบัติการครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นยังสามารถทำอะไรได้ นำกำลังปิดกั้นถนน สั่งให้รถหยุด เผารถทิ้ง

“ปฏิบัติการครั้งนี้สะท้อนว่าเขายังสามารถทำได้ ก่อเหตุได้ แต่การไล่คนลงจากรถโดยไม่มีการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ก็สะท้อนว่าเขากังวลต่อผลกระทบทางการเมืองเช่นกัน”

ในระยะยาวการแก้ปัญหาต่อจากนี้นั้น ศรีสมภพ ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่จะเกื้อหนุนต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพเชิงบวกอย่างยั่งยืนนั้น คือท่าทีของฝ่ายรัฐในการเปิดพื้นที่ทางการเมือง

“องค์ประกอบการพูดคุยคือรัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมโดยอิสระ แม้การพูดคุยจะยังได้ผลไม่เป็นที่ชัดเจน แต่หากเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมได้แสดงบทบาทก็จะเป็นตัวถ่วงดุลความรุนแรงได้ แต่ต้องให้ภาคประชาชนมีเสรีในการดำเนินการเองโดยรัฐไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวจัดการ เพราะพื้นที่การเมืองในการแก้ปัญหา จะต้องให้ทุกฝ่ายมีอิสระ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามายุ่งเกี่ยวมากไปก็จะไม่เป็นกลางและมีปัญหาได้”

เขายังมองว่า หากบรรยากาศประชาธิปไตยภายในประเทศเปิดกว้างมากขึ้น หรือมีการเลือกตั้งโดยเร็ว ก็จะช่วยให้มีกระบวนการต่างๆ เข้ามาช่วยผลักดันกระบวนการสันติภาพต่อไป