posttoday

"ผู้นำชาติ" ต้องมองแบบเหยี่ยว

31 ธันวาคม 2560

"ผู้นำต้องมองเหมือนพญาเหยี่ยวที่บินสูงแต่มองต่ำ นี่คือคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะปัญหาอยู่ข้างล่าง"

โดย...ปริญญา ชูเลขา

ปี 2561 นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของไทยครั้งสำคัญ เพราะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะมีการเลือกตั้ง ความเป็นผู้นำทางการเมืองของผู้นำประเทศ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องเป็นคนกล้าคิดกล้าทำที่จะนำสังคมและประเทศชาติไปในทิศทางที่ดีและถูกต้อง จึงมีความสำคัญอย่างมาก คำถามคือความเป็นผู้นำทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีควรเป็นเช่นไร ในยุคไทยแลนด์ 4.0

นับเป็นโอกาสดีที่หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ข้าราชบริพารรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด ตราบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สวรรคต ได้ถอดบทเรียนลักษณะผู้นำที่ดีที่คนไทยควรเลือกให้เป็นผู้นำประเทศต้องมีวิสัยทัศน์เช่นไรบ้าง

ดร.สุเมธ ยกคำสอนในหลวงรัชกาลที่ 9 ขึ้นมา โดยที่พระองค์ท่านทรงสอนไว้ทันทีว่า สิ่งที่ผู้นำประเทศต้องมี คือ หนึ่ง ตามรอยหรือดูแบบอย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านทรงได้แสดงให้ดูและสอนมาเสมอ นั่นคือ ถ้าจะเป็นผู้นำ หรือแม้แต่จะไปแสดงอะไร หรือไปทำ หรือนำชาวบ้าน ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม สิ่งแรก คือ ผู้นำต้องรู้จริง ต้องศึกษาอย่างจริงจัง สังเกตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงศึกษาจนรู้ทะลุหมดทุกเรื่องและต้องรู้แบบครบถ้วนด้วย เรื่องที่สอง ผู้นำประเทศต้องมี คือ ผู้นำต้องทำให้เห็นประจักษ์ นี่คือเหตุผลที่ทำไมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงทำโครงการในพระราชดำริไว้มากมายเหลือเกินนับพันๆ โครงการ เพราะพระองค์ท่านต้องการแสดงให้รู้ว่าทำจริงปฏิบัติจริง

“พระองค์ทรงเตือนผมเสมอว่าไปพูดอย่างไรเขา (ชาวบ้าน) ก็ไม่เชื่อ และยากมากเพราะชีวิตเขา (ชาวบ้าน) ไม่เหมือนชีวิตเรา ต้องทำให้ดู หรือผู้นำที่ดีต้องทำให้มากกว่าพูด นี่คือทำไมในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึงทำโครงการไว้เยอะแยะมากมาย นั่นเป็นคนละประเด็นที่เถียงกันว่าทำโครงการไว้เยอะๆ ทำไม เพราะพระองค์ท่านต้องการทำให้ดู เพราะถ้าได้เห็น จะทำให้ความคิดก็จะเปลี่ยนไป เพราะถ้าไม่ทำให้ดู ก็จะเถียงกันอยู่อย่างนั้น แต่ทำแบบนี้ทำให้เห็นได้จริง รับรองไม่มีทางเถียงได้เลย เพราะทำให้ดูแล้ว ทำอย่างนี้ได้อย่างนี้ ถ้าไม่ทำจะได้อย่างนี้

เช่น ถ้าทำเกษตรแบบนี้ จะช่วยป้องกันน้ำท่วมและดินถล่มดินทลายได้ แต่ถ้าไม่ทำจะเป็นอย่างนี้ สามารถคุยกับชาวบ้านได้ ว่าตกลงจะทำแบบนี้ไหม ถือเป็นคำสอนที่ง่ายๆ เพราะอย่าลืมว่านิสัยคนไทย คือ ต้องทำให้เห็นก่อน เพราะคนไทยเชื่อด้วยการเห็นของจริง อย่าไปพูดหรืออย่าไปมีแผนงานอะไรมากมายบนกระดาษ แต่ต้องทำให้เห็นด้วยตัวเอง ว่ากันง่ายๆ คือ ทำ ทำ ทำ จะเรื่องเล็กๆ ก็ต้องทำ ทำไปจนกว่าจะสำเร็จ พอเมื่อเห็นความสำเร็จเท่านั้น ก็จะเชื่อกัน เพราะฉะนั้นผู้นำที่ดีต้องรู้จริง และต้องทำให้เป็นที่ประจักษ์ และต้องมองแบบบูรณาการ”

"ผู้นำชาติ" ต้องมองแบบเหยี่ยว

ดร.สุเมธ กล่าวว่า ผู้นำที่ดีต้องดูพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นแบบอย่าง พระองค์ท่านจะทำอะไรพระองค์ท่านวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะทุกอย่างไม่นิ่งเพราะมีการพัฒนาอยู่ตลอด ควรจะเตรียมอะไรรองรับไว้ จึงต้องมองไปข้างหน้าอย่างบูรณาการ นั่นคือต้องวางวิสัยทัศน์การพัฒนาให้เป็นขั้นเป็นตอน

 

พระองค์ท่านสอนเสมอว่า “คิดมหภาค แต่ทำจุลภาค” ด้วยการเริ่มทำจากจุดเล็กๆ ก่อน โดยตัวเองต้องรู้เสมอว่าเรากำลังทำอะไร เป็นการเริ่มทำอะไรจากจุดเล็กๆ แต่ทั้งหมดต้องรู้ว่าจะไปไหน เพราะถ้าทำไปโดยไม่รู้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร จึงต้องวางช่วงในการรับลูกให้ดี ดังนั้นผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์บูรณาการ 

“ผู้นำต้องมองเหมือนพญาเหยี่ยวที่บินสูงแต่มองต่ำ เห็นหรือไม่ว่าพญาเหยี่ยวจะบินสูงบนเส้นขอบฟ้าแต่มองต่ำลงมาข้างล่าง นี่คือคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สอนไว้อย่างนี้ หรือต้องทำตัวเหมือนพญานกอินทรีที่บินสูงลิบแต่มองต่ำ เพราะปัญหาหรือเหยื่ออยู่ข้างล่าง ขณะที่ตัวเองอยู่สูงทำให้มองข้างล่างได้ชัดเหมือนกับการมองภาพรวม นี่คือลักษณะผู้นำต้องเป็นอย่างนั้น”

อีกลักษณะของผู้นำ คือ ต้องไม่มีหนีปัญหาเหมือนกวาง ลองสังเกตดูเวลากวางเจอสิงโตอยู่ข้างหน้า แต่กวางไม่ได้หนีไปไหน แต่สิงโตอยู่ในสายตาของกวางตลอดเวลา กวางเล็มหญ้าไปแต่ตามองสิงโตไปด้วยตลอดเวลา พอสิงโตขยับปั๊บกวางจะขยับเช่นกันทันที เหมือนกับผู้นำต้องเอาศัตรูหรือปัญหาให้อยู่ในสายตาตลอดเวลา นั่นคือการไม่หนีปัญหา แต่ต้องมองปัญหาให้อยู่ในสายตา เป็นคำสอนที่เด็ดขาดมาก หากผู้นำมี 3-4 เรื่องนี้ เชื่อว่าเป็นผู้นำที่ดีได้

“ผมทำเฉพาะของผม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สอนว่าอย่างไรก็ทำอย่างนั้น โดยเน้นการปฏิบัติ และปฏิบัติ เพราะทำงานราชการมาตลอดชีวิต 30 กว่าปี แต่พระองค์ท่านทำมากว่า 70 ปี องค์ความรู้และการปฏิบัติจะส่งผลให้เราได้เห็น เช่น เรื่องน้ำ ป่า เกษตร ลองดูได้ว่าโครงการพระราชดำริมีมากเท่าไร เช่น ผืนป่าที่พังทลายไปแล้ว สามารถเอาคืนมาได้ เพราะพระองค์ท่านทรงรู้ทุกอย่าง เพราะมีห้องเรียนชีวิตให้ได้ดู ต่างจากการเอาตำราไปให้ ซึ่งไม่ได้พิสูจน์อะไร แต่สิ่งที่พระองค์ทำมาตลอด 70 ปี คือ บทพิสูจน์ของการปฏิบัติหรือทำจริง” 

ดร.สุเมธ เล่าว่า สำหรับตัวผมการทำงานกับชาวบ้านมีความสุข เพราะความสำเร็จแตะต้องได้ เพราะชาวบ้านมีกินมีใช้ สำหรับการทำงานในระดับนโยบายจะต้องเป็นแผนหรือนโยบายที่จะต้องทำงานไปตามนั้น สิ่งสำคัญ ที่ต้องเข้าใจ คือ ทุกคนไม่ได้มีความต้องการที่จะทำเหมือนกัน อย่างเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินและทำกินอยู่ตรงนั้น ขณะที่ผู้บริหารหรือข้าราชการ ที่ไม่ได้จับจอบทำเกษตรมาตลอดชีวิต  แต่สิ่งที่รัฐบาลกับภาครัฐต้องทำ คือ เป็นพี่เลี้ยง และสนับสนุนชาวบ้าน เช่น แหล่งเงินทุน หรือองค์ความรู้ ดังนั้นต้องวางบทบาทตัวเองให้ดี ตอนไหนบทบาทอยู่ตรงไหน นี่คือลักษณะที่ดีที่ผู้นำต้องมีด้วย   

“ตอนเป็นเกษตรกร ก็จับจอบถือเสียมสับดิน แต่พอขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีก็ต้องหยุดจับจอบถือเสียม แต่จะต้องคิดว่าจะเอาทรัพยากรลงไปให้ข้างล่างได้อย่างไร และต้องขายความสำเร็จ หรือต้องทำตัวเป็นเซลส์แมนขายความสำเร็จในสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะระดับนโยบายไม่ได้เล่นคนเดียวมีหลายส่วนเข้ามาเล่นด้วย”

"ผู้นำชาติ" ต้องมองแบบเหยี่ยว

ดร.สุเมธ กล่าวว่า ผู้นำที่ดีต้องวางตัวเป็น การทำงานอยู่กับชาวบ้านต้องรู้บทบาทตัวเองว่าต้องทำอย่างไร หรืออยู่ในกระทรวงต้องทำอย่างไร กล่าวคือการพูดหรือทำงานกับเกษตรกรง่ายมากๆ เพราะนั้นเป็นชีวิตของเขา (ชาวบ้าน) ทำแล้วชีวิตเขา (ชาวบ้าน) ดีขึ้น มีกินมีใช้ เขา (ชาวบ้าน) ก็เชื่อก็ทำตามที่เราบอก แต่การทำให้กลไกของราชการเคลื่อนไปได้เป็นเรื่องยากมากๆ เพราะทำหรือไม่ทำข้าราชการก็เหมือนเดิม กลไกภาคราชการเปลี่ยนวิธีการคิด หรือบทบาทของตัวเองยากมาก ขณะที่การทำงานทุกอย่างต้องบูรณาการ แต่ระบบราชการต่างคนต่างทำ

 

“สมัยผมเป็นข้าราชการเป็นแกะดำในระบบ ลักษณะผ่าเหล่าผ่ากอไม่เหมือนใคร ผมคิดว่าควรทำอย่างนี้ก็ทำ ไม่เคยคิดว่าจะต้องทำตามสภาพแวดล้อม แต่พอมาทำงานกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้รู้ทันทีเลยว่าเป็นข้าราชการที่ดีใจต้องอยู่กับงาน นี่คือสิ่งที่ผมทำมาตลอดชีวิต”