posttoday

กรรมการร่วมภาคประชาชน กุญแจสำคัญเดินหน้าปราบทุจริต

04 ธันวาคม 2560

กฎหมายฉบับนี้นับเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการช่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

การป้องกันและปราบปรามการทุจริตนับเป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และดำเนินการออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย

ล่าสุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 160 เสียง รับหลักการในวาระที่ 1 ร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  (ฉบับที่...)พ.ศ. ... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอพร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในรายละเอียดจำนวน 15 คน กำหนดเวลาทำงาน 60 วัน

ความเป็นมาของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ อยู่ตรงที่จะเป็นกลไกสำคัญสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งในมาตรา 63 บัญญัติให้รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจาการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด

รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือ ชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครอง เพื่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงาน  ป.ป.ท.มีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) จึงควรเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ ป.ป.ท.และสำนักงาน ป.ป.ท. โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งเพิ่มเติมมาตรการในการคุ้มครองบุคคลที่ถูกกันไว้เป็นพยาน

กลไกสำคัญที่จะเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.นี้ คือ “คณะกรรมการร่วมภาคประชาชน” ซึ่งถือเป็นช่องทางที่จะดึงการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเข้ามาเป็นมือไม้ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการทุจริตในอนาคต

ทั้งนี้ ให้ทางคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีหน้าที่ และอำนาจในการกำกับดูแลสำนักงาน ป.ป.ท. ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน รวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

โดยให้สำนักงาน ป.ป.ท.มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกัน เพื่อมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส รวมทั้งเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

สำหรับองค์ประกอบของ “คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน” มีจำนวนไม่เกิน 9 คน เพื่อให้คำเสนอแนะช่วยเหลือ และร่วมมือกันดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นประธาน ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. 1 คน เป็นกรรมการ ผู้แทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง กับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจำนวนไม่เกิน 4 คน เป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นกรรมการเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ท. ที่เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. แต่งตั้ง 1 คน เป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ จำนวนไม่เกิน 2 คน

อีกมาตรการสำคัญที่เขียนไว้ในกฎหมายฉบับนี้ คือ การคุ้มครองบุคคลที่ถูกกันไว้เป็นพยาน โดยกำหนดให้ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติ กันบุคคลใดไว้เป็นพยาน ห้ามมิให้ดำเนินคดีอาญา หรือดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังกล่าว

ส่วนสุดท้ายที่คือการยกระดับมาตรการป้องกันการทุจริตในภาครัฐเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการกำหนดให้ สำนักงาน ป.ป.ท แจ้งหัวหน้าหน่วยของรัฐทราบ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการปรับปรุงแก้ไข กรณีหน่วยงานของรัฐใดมีวิธีปฏิบัติ หรือการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ หรือเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้บริการ หรือประชาชน หรือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง

ในรายงานที่เสนอต่อ สนช.ระบุว่า ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วนและการดำเนินการต้องอาศัยการรวมตัวของประชาชนซึ่งจะก่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมทั้งการเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ สุจริตจะทำให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ และจะส่งผลให้ประชาชนต่อต้านไม่ยอมรับการทุจริตและประพฤติมิชอบ ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศก็จะลดน้อยลง

กฎหมายฉบับนี้จึงนับเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการช่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศทั้งในระยะสั้น และระยะยาว