posttoday

ยกเลิก "ด่านตรวจวินัยจราจร" วาทกรรมหรือทำได้จริง

03 ตุลาคม 2560

เสียงสะท้อนหลัง “พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช” ผบช.น. คนใหม่ประกาศยกเลิกด่านตรวจวินัยจราจร

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ฮือฮาไม่เบาเมื่อหัวหน้าตำรวจเมืองหลวงคนใหม่ บิ๊กหยม “พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช” ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ประกาศนโยบายเอาใจคนกรุงเทพฯ สั่งยกเลิกด่านกวดขันวินัยจราจร เนื่องจากส่งผลกระทบต่อปัญหารถติด  โดยให้เจ้าหน้าที่เน้นบังคับใช้กฎหมายจัดการผู้ซึ่งหน้าอย่างเคร่งครัดทดแทน

การประกาศของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกำลังเสียงเรียกวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วเมืองจากพี่น้องประชาชน

รถติด-ชาวบ้านเกลียด

ตัวแทนภาคประชาชนอย่าง อัจฉริยะ เรืองรัตน์พงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม บอกว่า การยกเลิกด่านตรวจกวดขันวินัยจราจร เป็นเรื่องที่ประชาชนเห็นด้วย เนื่องจากด่านตรวจฯ เป็นปัญหาของคนเมืองนอกจากส่งผลกระทบต่อระบบจราจรแล้ว ยังส่งผลในแง่ความบาดหมางระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนด้วย

“ตำรวจจราจรในนครบาลไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการป้องกันและปราบปราม แต่มุ่งเน้นเรื่องการจับกุมเพื่อออกใบสั่งวางเป้าหมายเป็นเปอร์เซนต์จากค่าปรับเท่านั้น” อัจฉริยะบอกและยกตัวอย่างว่า

“ถนนเส้นพระราม 2 จากสน.บางมด ถัดมาไม่ถึงกิโลเมตร มีสน.ท่าข้าม เลยเซนทรัลพระราม 2 ไปถึงหัวโค้งเป็น สน.แสมดำ ถัดไปอีกไม่ไกลก็เจอด่านอีก รวมๆ แล้วระยะทางแค่ 7-8 กิโลเมตร พบด่านได้มากเกือบ 10 แห่ง ยังไม่รวมด่านตรวจควันดำอีก ฉะนั้นรถจะไม่ติดได้อย่างไร”

ทั้งนี้ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เห็นว่า การยกเลิกด่านตรวจส่งผลเสียอยู่บ้าง เมื่อเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้การกลุ่มมิจฉาชีพ ค้าอาวุธหรือยาเสพติดเดินทางได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักและวางแผนจัดการปัญหาเหล่านี้ต่อไป

สำหรับตำรวจที่เพิ่มความเกลียดชังให้กับประชาชนได้มากที่สุดในสายตาของ  อัจฉริยะ คือตำรวจจราจร รองลงมาคือ พนักงานสอบสวน เพราะฉะนั้นหากลดการปะทะและการใช้ดุลพินิจของตำรวจจราจรลงได้ภาพลักษณ์ตำรวจจะดีขึ้นทันที

ยกเลิก "ด่านตรวจวินัยจราจร" วาทกรรมหรือทำได้จริง

 

ยกเลิก "ด่านตรวจวินัยจราจร" วาทกรรมหรือทำได้จริง

ด้เวลาใช้เทคโนโลยีทดแทนคน

การกวดขันวินัยจราจรในอนาคตอาจขึ้นอยู่กับการลงทุนด้านเทคโนโลยี..

ผศ.พ.ต.ท.ดร กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า การบังคับใช้กฎหมายต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและใช้นวัตกรรมมากขึ้น พูดง่ายๆ ว่า นำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและจัดการผู้กระทำความผิดตามมาตรฐานสากล ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ อังกฤษ ออสเตรเลีย ที่แทบไม่พบเห็นตำรวจจราจรบนท้องถนนเลย

“ตำรวจไม่สามารถยืนต่อเนื่องได้ 24 ชั่วโมง แต่กล้องทำได้ หากกล้องไม่ดี กล้องเสียก็เปลี่ยนได้ทันที ไม่ต้องมาตั้งคณะกรรมการสอบ หากกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีงบประมาณไม่เพียงพอ อาจร่วมมือจากทางกรุงเทพมหานครโดยนำภาษีท้องถิ่นมาลงทุน”

อย่างไรก็ตามหากภาครัฐยังมีงบประมาณไม่เพียงพอ การขอความร่วมมือจากภาคประชาชนนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยอาจารย์คณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ แนะนำให้ใช้วิธีการเปิดรับสมัครผู้ช่วยเจ้าพนักงาน เมื่อพบเห็นการกระทำผิดจราจร ให้ถ่ายภาพ อัดคลิป ระบุวันที่และเวลาอย่างชัดเจน ก่อนส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อไป คล้ายกับแนวทางที่กรมการขนส่งทางบกทำอยู่

“สมัยนี้รถส่วนใหญ่ติดตั้งกล้องหมด ผมเชื่อว่ามีประชาชนจำนวนมากอยากส่งภาพผู้กระทำความผิดให้กับตำรวจ” พ.ต.ท.ดร กฤษณพงค์ บอกและเห็นว่า การใช้เทคโนโลยียังช่วยลดการปะทะระหว่างตำรวจและประชาชน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาพลักษณ์อันย่ำแย่ของเจ้าหน้าที่ด้วย

ยกเลิก "ด่านตรวจวินัยจราจร" วาทกรรมหรือทำได้จริง

แค่วาทกรรม ไม่ใช่เรื่องจริง

เกิดผล แก้วเกิด ทนายความอิสระ ให้มุมมองว่า การยกเลิกด่านฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่และปรากฎหน้าสื่อมาหลายยุคหลายสมัย ล่าสุดคือการประกาศยกเลิกตั้งด่านในเวลากลางวันก่อนจะยกเลิกในเวลาต่อมา อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าการตั้งด่านฯ เป็นคำสั่งและนโยบายไม่ใช่กฎหมาย เมื่อสิ้นสุดยุคผู้บังคับบัญชาคนใดคนหนึ่งก็อาจมีการปรับเปลี่ยนได้

“เป็นเรื่องนโยบายของแต่ละคนเท่านั้น จะกวดขันหรือยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้”

ทนายความชื่อดัง บอกต่อว่า แม้จะมีคำสั่งให้ยกเลิก แต่ในแง่ปฏิบัติเจ้าหน้าที่ตำรวจสน. ต่างๆ สามารถตั้งด่านได้ โดยอ้างว่าเป็นด่านตรวจอาชญากรรม และหากเจอพฤติกรรมขับรถผิดกฎหมาย เช่น ไม่สวมใส่หมวกกันน็อค ดัดแปลงสภาพรถ ขับผิดช่องทาง สามารถเรียกจับและเขียนใบสั่งได้เช่นเดิม

“เป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น สถานการณ์จริงมีเหตุผลอีกมากมายให้อ้างในการตั้งด่านและใช้ดุลยพินิจบนท้องถนน”

ทั้งนี้ บช.น. เคยระบุ 12 ข้อหาหลัก ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ได้แก่ 1. ข้อหาแข่งรถในทาง 2. ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 3. แซงในที่คับขัน 4. เมาแล้วขับ 5. ขับรถย้อนศร 6. ไม่สวมหมวกนิรภัย 7. จอดรถซ้อนคัน 8. ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน 9. มลพิษควันดำ 10. จอดรถในที่ห้ามจอด 11. การจอดรถบนทางเท้า 12. การขับรถบนทางเท้า

หลังจากนี้น่าติดตามว่าการยกเลิกด่านตรวจวินัยจราจร จะส่งผลดีต่อการจราจรตามที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคาดหวังไว้หรือไม่

 

ยกเลิก "ด่านตรวจวินัยจราจร" วาทกรรมหรือทำได้จริง “พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช” ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.)