posttoday

"เมื่อพ่อแม่รังแกฉัน" จุดกำเนิด "อาชญากรวัยเยาว์"

26 กันยายน 2560

ถอดบทเรียนความรุนแรงจากเด็กและเยาวชนในสังคม ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและครอบครัว

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

เด็กหนุ่มวัย 19 ปี เปิดฉากด่าทอตำรวจอย่างดุเดือดด้วยถ้อยคำหยาบคาย ท้าชกและถุยน้ำลายใส่ หลังไม่พอใจที่ถูกจับกุมข้อหาไม่สวมใส่หมวกกันน็อค ไม่มีใบขับขี่และไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน

กลุ่มวัยรุ่น 6 คนรุมกระทืบคู่กรณี 2 คนอย่างรุนแรง ร่างกายสะบักสะบอม แถมยังใช้ปืนวิ่งไล่ยิงอย่างอุกอาจภายในปั๊มน้ำมัน ต้นเหตุจากแค่เติมน้ำมันล้นถัง

2 เหตุการณ์ภายในสัปดาห์เดียวเกิดขึ้นจากวัยรุ่น คำถามคือ พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญมากน้อยแค่ไหนกับความก้าวร้าวรุนแรงที่เกิดขึ้น นอกเหนือไปจากแค่ออกมาพูดหลังเหตุการณ์ว่า  “ลูกฉันเป็นคนดี ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เท่านั้น”

พ่อแม่คือหัวใจสำคัญที่สุด

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า พ่อแม่และครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญสำหรับลูก แม้จะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมแต่ทรงพลังมากที่สุดในโลก โดยคุณสมบัติของพ่อแม่หรือครอบครัวที่ดีนั้นมีอยู่ 5 เรื่องหลักได้แก่

1. อบอุ่นและไว้วางใจ

“บ้านไม่เป็นบ้านที่มีความรัก ความอบอุ่นและความไว้วางใจ นำไปสู่ปัญหานานัปการ เช่น เด็กหนีออกจากบ้าน เติบโตขึ้นมาจะกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายและทำร้ายผู้อื่นได้โดยไม่มีจิตสำนึก”

2. การสื่อสารที่ดีต่อกัน

“นอกจากบทบาทของผู้พูดแล้ว พ่อแม่ยังต้องเล่นบทบาทผู้ฟังที่ดีด้วย รับฟังเเละสะท้อนความรู้สึก รวมถึงเหลาความคิดของเด็กเพื่อให้เกิดพัฒนาการที่ดีขึ้น บ่อยครั้งในบ้านหาคนฟังไม่เจอ มีแต่คนพูด คนฟังกลายเป็นเด็ก ไม่เคยได้ยินเสียง ความคิด หรือหัวใจของเขาเพราะเคยไม่ฟังเขาเลย”

3. หลักวินัยเชิงบวก เลี้ยงลูกอย่างสร้างสรรค์

“เลี้ยงลูกบนมาตรฐานเดียวกันบนหลักความเมตตาธรรม ไม่ใช่คุณพ่อใจดีมากๆ แต่คุณแม่ดุดัน แบบนั้นมีปัญหาแน่ ลูกอาจจะกลายเป็นเด็กดื้อ เกเร จนกระทั่งนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ”

4. ควบคุมอารมณ์ตนเอง

“รู้จักตนเองและควบคุมอารมณ์ตนเองให้ได้ เขาเรียกว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ถ้าหงุดหงิดใช้ความรุนแรงอยู่เสมอ ลูกก็จะใช้ความรุนแรง น็อตหลุดอยู่เรื่อยๆ เหมือนกัน

เมื่อยามเผชิญหน้ากับความโกรธให้รู้จักหาวิธีจัดการและเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น ตัวอย่างเช่น บอกลูกและเดินออกไปจากตรงนั้น รอให้อารมณ์เย็นลงหรือกลับมาอยู่ในภาวะปกติ ค่อยเดินกลับมาพูดคุยกันใหม่ วิธีการนี้ทำให้เรารู้จักควบคุมอารมณ์ตนเองและทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้วิธีจัดการอารมณ์โดยไม่ใช้ความรุนแรงหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น”

 

"เมื่อพ่อแม่รังแกฉัน" จุดกำเนิด "อาชญากรวัยเยาว์" เหตุการณ์ 6 วัยรุ่นรุมกระทืบเด็กปั๊ม เพียงเพราะไม่พอใจที่เติมน้ำมันล้นถัง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา

5. อย่าเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ

“ทัศนคติของพ่อแม่ที่ท่องมาตั้งแต่โบราณหลายยุคหลายสมัยว่าเด็กเป็นผ้าสีขาว เป็นความเข้าใจผิด จริงๆ เราควรรับรู้ว่าพื้นฐานอารมณ์ของลูกที่เกิดมาแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำให้มีทั้งเด็กเลี้ยงง่าย เลี้ยงยาก อ่อนไหว หรือผสมผสานกัน สิ่งที่อยากบอกคือ ห้ามเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ จงยอมรับความสามารถของลูกที่หลากหลาย พี่น้อง ฝาแฝดแท้ๆ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน”

6. เติบโตเพื่อสังคม

“นอกจากเลี้ยงลูกให้มีเติบโตมีสัมมาชีพบนความถนัดที่หลากหลายแล้ว ยังต้องพัฒนาให้เขามีจิตสำนึกสาธารณะ สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ด้วย ไม่ใช่เติบโตมาเป็นด็อกเตอร์ที่เห็นแก่ตัว ยึดเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น

“การเลี้ยงลูกนั้นไม่ใช่เลี้ยงด้วยเงินทอง แต่ต้องพัฒนาทุนชีวิต ทักษะและจิตสำนึกทั้งต่อตนเองและสังคม ที่สำคัญอย่าคิดว่าเป็นเรื่องของฟ้าลิขิตหรือปล่อยให้เป็นเรื่องของความบังเอิญเพียงอย่างเดียว เมื่อเรามีโอกาสในการได้พัฒนามนุษย์ก็ควรทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” 

"เมื่อพ่อแม่รังแกฉัน" จุดกำเนิด "อาชญากรวัยเยาว์"

 

"เมื่อพ่อแม่รังแกฉัน" จุดกำเนิด "อาชญากรวัยเยาว์"

 

ปัจจัยก่อเหตุรุนแรง-อาชญากรในวัยเยาว์

ประเด็นเรื่องอาชญากรในวัยเยาว์ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เเละเจ้าของเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" บอกว่า หลายคนสงสัยว่าเด็กเติบโตมาแบบไหน ถึงได้กลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่เลือดเย็น เกิดจากตัวตนคนที่ไม่ดีอยู่แล้วหรือเกิดจากการเลี้ยงดู คำตอบในปัจจุบันทางวิทยาศาสตร์คือ เป็นปัจจัยที่มีความ "เกี่ยวข้องกัน"

สมองที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหา ถ้าได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม การเลี้ยงดูจะกลายเป็นเกาะป้องกันปัญหาได้ ในขณะที่สมองที่ดี แต่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ ก็อาจพัฒนากลายเป็นสมองของอาชญากร โดย พญ.จิราภรณ์ พบว่าปัจจัยของการเติบโตที่อาจเป็นสาเหตุของการก่ออาชญากรรม มีดังนี

- เด็กขาดรักโดยเฉพาะใน "ช่วงแรกของชีวิต" พ่อแม่หลายคนเข้าใจผิดว่าเด็กเล็กๆ ยังไม่รู้เรื่องส่งไปให้คนอื่นเลี้ยง ทั้งๆ ที่การตอบสนองที่เหมาะสม การเลี้ยงดูใกล้ชิด มีผลต่อความ "เชื่อใจ" (trust) ที่เด็กจะมีให้กับโลก เด็กที่รู้สึกว่าโลกช่างไม่ปลอดภัย พัฒนา"ตัวตน" ในช่วงต้นของชีวิตได้ไม่ดี มีผลต่อการพัฒนาความเลือดเย็น

- เด็กที่โตมากับความรุนแรง เด็กถูกตี ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ เด็กที่โตมากับพ่อแม่ที่ใช้อารมณ์และใช้ความรุนแรงเลี้ยงดู มีผลต่อการพัฒนาความรุนแรง เด็กที่โตมาแบบถูกละเมิดสิทธิ จะไม่เข้าใจสิทธิผู้อื่น

- เด็กเอาแต่ใจ เด็กที่ถูกพ่อแม่ตามใจ อยากได้อะไรก็ได้หมด ไม่เคยฝึกรอคอย ควบคุมอารมณ์และความต้องการ ไม่มีวินัยในชีวิตจะชอบใช้ "ทางลัด" ในการจัดการปัญหาชีวิต

- เด็กที่พ่อแม่คอยแก้ปัญหาให้ ไม่ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คอยเข้าข้างและแก้ปัญหาให้เสมอ ทำให้โตมาแบบคิดไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำจะนำมาซึ่งปัญหาอะไรข้างหน้า

- เด็กขาดคน "เข้าใจ" เด็กที่ขาดพ่อแม่ที่คอยเข้าใจ ใส่ใจ ความสุขความทุกข์ในชีวิต เด็กที่ไม่เคยถูก "รับฟัง" ความรู้สึกในชีวิต มีผลต่อการขาดความเห็นใจในความรู้สึกผู้อื่น

- เด็กที่โตมากับสื่อเทคโนโลยีที่มีความรุนแรง เป็น "ความปกติ" เช่น ละครไทย ข่าว โลกออนไลน์ เกมที่มีความรุนแรง

- เด็กมีความนับถือตัวเองต่ำ จากการไม่รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรดีในชีวิต

- เด็กบางคนที่มีปัญหาเฉพาะตน เช่น สมาธิสั้น ขาดทักษะทางภาษาและสังคม วิตกกังวล ซึมเศร้า มักมีความเสี่ยงต่อความก้าวร้าวรุนแรง

- การเลี้ยงดู สร้างผลลัพธ์จากการถูกหล่อหลอมเสมอ

“รักลูก ไม่อยากให้ลูกลุกมาทำร้ายใคร สิ่งหนึ่งที่เราอาจช่วยได้ คือการเลี้ยงดูที่ไม่ทำร้ายกัน” พญ.จิราภรณ์ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุจำนวนคดีเด็กเเละเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ ในปี 2558 มีมากถึง 33,121 คดี เเบ่งเป็นฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 7,027 คดี ความผิดเกี่ยวกับชีวิตเเละร่างกาย 4,296 คดี ความผิดเกี่ยวกับเพศ 1,473 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุข เสรีภาพ ชื่อเสียงเเละการปกครอง 850 ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 13,125  คดี  ความผิดเกี่ยวกับอาวุธเเละวัตถุระเบิด 2,864 คดี เเละ ความผิดอื่นๆ 3,486 คดี

"เมื่อพ่อแม่รังแกฉัน" จุดกำเนิด "อาชญากรวัยเยาว์"

สื่อออนไลน์ อันตรายขึ้นทุกวัน

นอกจากครอบครัวแล้วพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงของเด็ก หลายฝ่ายยังเห็นว่าได้รับอิทธิพลมาจากสื่อด้วย

ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า คำพูดหยาบคายและท่าทีก้าวร้าวของเด็กสมัยใหม่นั้นกลายเป็นความเคยชินจนแทบเป็นเรื่องปกติในสังคม ขณะที่สื่อออนไลน์ในโลกยุคปัจจุบันกลายเป็นช่องทางการรับรู้และมีอิทธิพลต่อเด็กรุ่นใหม่อย่างมาก

“มีไอดอลที่บิดเบี้ยวแจ้งเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก คำพูดหยาบคายเป็นเรื่องปกติในสังคม แม้แต่ในพื้นที่สาธารณะอย่างในลิฟท์ วัยรุ่นพูดหยาบเป็นปกติจนกลมกลืนในชีวิตจริง คลิปเด็กด่าตำรวจที่โด่งดัง เป็นเพราะมีการประจานจนทำให้ผู้คนเกิดรู้สึกกระดากใจขึ้นมาเท่านั้น”

ดร.วิไลวรรณ บอกว่า เด็กรุ่นใหม่ใช้เวลาอยู่กับสื่อออนไลน์ค่อนข้างมากและถือเป็นผู้บริโภคที่สามารถกำหนดความต้องการรับชมได้ด้วยตัวเอง โดยบางส่วนมองว่าสื่อโทรทัศน์นั้นบริสุทธิ์เกินไปสำหรับพวกเขาแล้ว

“ทุกอย่างน่ากลัวขึ้นเพราะเขาเป็นคนกำหนดได้เองว่าจะเลือกดูอะไรตามจริต แถมยังเป็นสื่อเองได้ด้วย”

นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ มองว่า ความรุนแรงของเด็กที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่เพียงแค่ครอบครัวเท่านั้นที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบ แต่สังคมโดยรวมทั้งหมดต้องหันหน้ากลับมาถามตัวเองว่า มีส่วนอย่างไรบ้างกับสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียด้วยกันทั้งนั้น

“มองในภาพใหญ่ ความรุนแรงของเด็กๆ ทุกฝ่ายนั้นมีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ คาบเกี่ยวกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสื่อด้วย” 

"เมื่อพ่อแม่รังแกฉัน" จุดกำเนิด "อาชญากรวัยเยาว์" ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์

 

มองให้รอบด้าน-อย่าซ้ำเติมจนไม่มีที่ยืน

หลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน หลายต่อหลายครั้งสื่อมวลชนมักนำเสนอเรื่องราวอย่างต่อเนื่องและลากยาวไปในหลากหลายประเด็น จนกระทั่งลุกลามไปถึงเรื่องส่วนตัว

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย บอกว่า การพยายามขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆ จนกระทั่งเรื่องส่วนตัวของเด็กและครอบครัว เป็นการฆ่าเด็กทางอ้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังและคำนึงถึงพรบ.คุ้มครองเด็กและเรื่องสิทธิเด็กด้วย

“ถ้าบีบจนเขาไม่มีทางรอด หากเขาทำอะไรที่ไม่ได้ยั้งคิดขึ้นมา ถึงตอนนั้นจะมารู้สึกสำนึกผิดทีหลังก็คงช้าเกินไป”

สำหรับผู้เสพสื่อ ดร.มานะ บอกว่า การด่าทออย่างรุนแรง อาจเป็นพฤติกรรมที่มากเกินไปเสียหน่อย เพราะอย่าลืมว่า เราเพิ่งเห็นเพียงแค่แง่มุมเดียวเท่านั้นจากภาพหรือคลิปที่ปรากฎ สิ่งที่ควรทำคือระมัดระวังและพยายามมองให้รอบด้าน ขณะที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองก็ควรถือโอกาสเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ และมีบทบาทในการให้บทเรียนกับลูกหลาน