posttoday

"จอดรถริมทาง" ความตายใกล้ตัวที่ต้องตระหนัก

15 พฤศจิกายน 2559

พฤติกรรมการจอดรถริมทาง ที่สร้างความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและการสูญเสียที่กำลังรอให้ทุกคนตระหนัก

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ภาพหนุ่มรายหนึ่งกำลังจอดรถยนต์ “ริมทาง” แล้วเดินออกจากประตู จังหวะนั้นเองถูกแท็กซี่พุ่งเข้าชนร่างกระเด็นลอยขึ้นไปบนอากาศก่อนร่วงลงมากระแทกพื้น มีบาดแผลที่กะโหลกศีรษะ แขนและขาหักทั้ง 2 ข้าง เสียชีวิตคาที่ กลายเป็นความสูญเสียที่ถูกพูดถึงทั่วโลกออนไลน์

คำถามตามมาคือ ถึงเวลาหรือยังที่ทุกคนจะตระหนักถึงอันตรายจากการจอดรถริมทางเสียที

ซื้อของ กินข้าว พักผ่อน แป๊ปเดียวเดี๋ยวก็ไป

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า การจอดรถริมทางนั้นเป็นการสร้างความเสี่ยงให้กับตัวเองและผู้ใช้รถคนอื่นๆ กรุณาอย่ามองเป็นเรื่องเล็กน้อย จนเมินเฉยที่จะกระทำความผิด

“แป๊ปเดียว เดี๋ยวเราก็ไปแล้ว ความคิดแบบนี้กำลังเพิ่มความเสี่ยงบนท้องถนน โดยเฉพาะถนนที่มีไหล่ทางแคบ ต้องจอดรถคร่อมเลน หรือตำแหน่งทางโค้ง ลงเนินสะพาน พวกนี้เป็นตำแหน่งที่ไม่ควรจอดอย่างยิ่ง เพราะเป็นจุดบอดต่อการมองเห็นของผู้อื่น เห็นอีกทีก็ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้อีกแล้ว”

นพ.ธนะพงศ์ เผยว่า ตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุชนท้าย นับเฉพาะที่ปรากฎเป็นข่าวมีเฉลี่ยสูงถึงปีละ 60 เคส หรือคิดเป็นสัปดาห์ละ 1 ศพ โดย 3 ใน 4 ของรถที่พุ่งเข้าชนเป็นรถจักรยานยนต์ และ 60 เปอร์เซนต์ของอุบัติเหตุชนท้าย เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน โดยเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในต่างจังหวัด

“อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นกับรถบรรทุก รากเหง้าของปัญหาคือ รถบรรทุกไม่สามารถจอดพักผ่อนตามสถานีเติมน้ำมันเหมือนกับรถยนต์ทั่วไปได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่จุดพักรถก็มีน้อย จึงจำเป็นต้องจอดริมทาง อีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอันตราย คือ การปล่อยให้มีกิจกรรมริมทาง ร้านค้า ร้านอาหารและจุดขายของต่างๆ จำนวนมาก”

วงจรปิดจับภาพโชเฟอร์แท็กซี่พุ่งชนชายจอดรถข้างทางดับที่นนทบุรีเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา คลิปจาก Power Review

แก้ปัญหาด้วยสัญลักษณ์และจุดจอด

การลดปัญหาอุบัติเหตุชนท้าย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวินัยของผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ผู้ค้าริมทาง การกำหนดระเบียบตามเส้นทางถนนอย่างชัดเจน ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

“ถนนบ้านเราไม่ได้กำหนดฟังก์ชั่นและการกำกับที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ถนนทางหลวงจะต้องไม่อนุญาตให้มีการเชื่อมทางอิสระหรือมีร้านอาหารข้างทาง หากมีจริงก็ต้องกำหนดให้อยู่ในโซนปลอดภัย มีพื้นที่รองรับเลี่ยงออกจากถนนเส้นหลัก คล้ายกับถนนมอเตอร์เวย์ที่ไร้กิจกรรมข้างทาง มีการล้อมรั้ว และมีจุดจอดพักรถทุกๆ 5 กิโลเมตร”

ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน แนะนำว่า ประเทศไทยควรกำหนดอย่างชัดเจนว่า การจอดรถในเวลากลางคืนจะกระทำได้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ใช่การนอนพัก และต้องมีสัญญาณหรือสัญลักษณ์แจ้งเตือนแก่ผู้อื่นด้วย

“ต่างประเทศ หากเป็นรถส่วนบุคคล เมื่อจอดเสียข้างทาง ต้องเปิดกระโปรงท้ายขึ้น ภายในจะมีสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยมสะท้อนแสงที่สามารถมองเห็นได้จากระยะ 200 เมตร หรือหากเป็นรถบรรทุก จะมีการกำหนดให้ติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงขนาดใหญ่ด้านหลัง น่าสนใจกว่านั้น ยังถูกกำหนดให้ติด Underride Guard หรือแท่งเหล็กท้ายรถบรรทุก เพื่อป้องกันไม่ให้รถเล็กที่วิ่งเข้ามาชน มุดเข้าไปใต้ท้องรถได้ เพื่อลดโอกาสในการเสียชีวิตให้เป็นเพียงการบาดเจ็บ”

นพ.ธนะพงศ์ ชี้ว่า ผู้ประกอบการคือแนวร่วมสำคัญในการลดปัญหาอุบัติเหตุชนท้าย โดยควรออกมาตรการดูแลความปลอดภัยของคนขับ อาจติดตั้งระบบนำทาง กำหนดจุดจอดพัก และร่วมรับผิดชอบหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น

“คนขับเอาสะดวกเข้าว่า นอนตรงไหนก็นอน แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ ถึงเวลาที่บทลงโทษจะต้องเชื่อมไปถึงผู้ทำธุรกิจและคู่ค้าด้วย โดยมอนิเตอร์รถ ทั้งเรื่องความเร็ว ชั่วโมงในการขับขี่และจุดจอดพัก หากผู้ขับขี่กระทำผิดกฎจะถูกแจ้งเตือน ปรับ หรือไล่ออกทันที เรื่องแบบนี้ปัจจุบันความรับผิดชอบจากผู้ประกอบการยังคงมีค่อนข้างน้อย” 

อุทาหรณ์จอดรถข้างทางกลางคืน 2 วัยรุ่นซิ่งจักรยานยนต์ ชนท้ายกระบะอย่างจัง คลิปจาก Panodrama

"จอดรถริมทาง" ความตายใกล้ตัวที่ต้องตระหนัก

บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ปีเดียวตาย 6 ราย

หนึ่งในพื้นที่ที่มักพบปัญหาเรื่องการชนท้ายอย่างบ่อยครั้ง คือ บริเวณถนนมิตรภาพ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น 

นพ.อดุลย์ บำรุง หัวหน้าทีมภาคีเครือข่ายแก้ไขและป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทางถนน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น  (ทีมMIS) เปิดเผยว่า ในพื้นที่ อ.บ้านไผ่ ช่วงปีงบประมาณปี 2559 อุบัติเหตุทางถนนได้คร่าชีวิตประชาชนไปทั้งสิ้น 24 ราย น่าตกใจว่า มีถึง 6 ราย ที่เสียชีวิตจากกรณีชนท้ายรถที่จอดอยู่ริมทาง

“ในอดีตเคยมีเหตุการณ์ รถบรรทุกสิบล้อแวะจอดรถเพื่อกินข้าวริมทาง จู่ๆ มีรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายเต็มๆ ผู้ขับขี่นอนเจ็บสาหัสอยู่ข้างทาง คนขับสิบล้อและคนในร้านเห็นเข้าเลยพากันวิ่งออกมาช่วย จังหวะนั้นเองโดนรถอีกคันที่วิ่งมาด้วยความเร็วพุ่งเข้าชนซ้ำอีกครั้ง รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 3 ศพ กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การจอดรถริมทางนั้นสร้างความอันตรายอย่างแท้จริง”

สำหรับแนวทางแก้ไข ทีมภาคีเครือข่ายแก้ไขและป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทางถนน อ.บ้านไผ่ ได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แขวงทางหลวง ขนส่งและภาคีเครือข่ายลงพื้นที่สำรวจรถยนต์ทุกชนิดที่มาจอดริมทาง โดย เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะตั้งด่านแจ้งรถบรรทุกที่เข้าพื้นที่ว่าอย่าจอดในที่มืด รวมทั้งจะมีช่องทางให้แจ้งเหตุเมื่อพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าวทาง กลุ่มไลน์, เพจเฟซบุ๊กของตำรวจและทีม MIS ด้วย เมื่อมีการแจ้งจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วออกไปตักเตือนให้เคลื่อนย้าย นอกจากนั้นยังได้จัดทำป้ายเพื่อประชาสัมพันธ์ไม่ให้จอดในที่ห้ามจอดอีกด้วย

“เรื่องนี้ไม่ธรรมดา อยากให้ทุกคนตระหนักว่า การจอดข้างทางมันเสี่ยงมาก ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น เจ้าของสถานีเติมน้ำมัน อาจจำเป็นต้องเสียสละยอมเปิดโอกาสให้รถเข้าไปจอดภายในปั๊มได้ ขณะเดียวกันฝั่งผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องกำชับผู้ขับขี่หรือติดตั้งสัญลักษณ์จอดฉุกเฉินร่วมด้วย” นพ.อดุลย์ให้ความเห็น

"จอดรถริมทาง" ความตายใกล้ตัวที่ต้องตระหนัก

เตือน...จอดริมทางตายฟรี

ในมุมกฎหมาย “เกิดผล แก้วเกิด” ทนายความอิสระ ระบุว่า อุบัติเหตุจากการชนท้ายนั้นมีคำพิพากษาฎีกามาแล้วมากมาย เป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกันว่า คนเรามีหน้าที่ป้องกัน ระมัดระวังไม่ให้เกิดอันตราย ความเสียหายแก่ผู้อื่น กรณีจอดรถไหล่ทาง ผู้จอดในที่มืดต้องให้สัญญาณว่ามีรถจอดอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้รถคันอื่นมาชนท้าย พูดง่ายๆ ทุกคนมีหน้าที่ป้องกัน ถ้าไม่ป้องกันเท่ากับ กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี

“แม้จุดที่จอดรถอยู่ในไหล่ทางด้านซ้ายของถนน ในลักษณะไม่กีดขวางทางจราจรก็ตาม แต่การที่จอดรถในเวลากลางคืน จำเป็นต้องป้องกัน โดยการเปิดไฟหรือใช้แสงสว่าง ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ขับขี่มองเห็นรถที่จอดอยู่  ที่ต้องพึงระวังคือ ความประมาทของผู้จอด อาจนำไปสู่ความตายของตนเองได้ด้วย” ทนายความทิ้งท้าย

ทั้งนี้ข้อห้ามในการจอดรถ จากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ระบุไว้ดังนี้

1.อย่าจอดรถกลางถนนหรือจอดไม่ชิดขอบทางเท้า

2.อย่าจอดรถในที่ที่มีเครื่องหมายห้ามหยุดหรือห้ามจอดรถ(ขอบทางที่ทาสีขาวสลับแดงหรือสีขาวสลับเหลือง )

3.อย่าจอดรถในถนนแคบ ซึ่งเมื่อจอดแล้วจะทำให้รถอื่นสวนไปมาไม่ได้

4.อย่าจอดรถในทางโค้ง ทางเลี้ยว ทางแยกหรือทางร่วมของถนนตั้งแต่สองสายขึ้นไป

5.อย่าจอดรถบนสะพานลาดขึ้นลง สะพานลาดเนินไหล่เขาหรือสูงชัน ซึ่งกำบังตาผู้ขับรถอีกด้านหนึ่ง

6.อย่าจอดรถผิดลักษณะที่กำหนดให้จอด เช่น จอดทะแยง จอดขนาน

7.อย่าจอดรถในที่ซึ่งมีเครื่องหมายกำหนดให้เป็นที่จอดรถประเภทอื่น ซึ่งเป็นอนุสิทธิ์ของรถประเภทนั้นๆ  เช่น ป้ายจอดรถรับจ้างเป็นต้น

8.อย่าจอดรถปิดทางเท้าสำหรับคนข้ามถนน เป็นการกีดขวางและทำให้คนข้ามถนนไม่ปลอดภัย

9.อย่าจอดรถบังหน้ารถอื่นจนไม่สามารถถอยเคลื่อนรถออกจากที่จอดได้

10.อย่าจอดรถบนถนนหลวงที่เป็นมุมอับ ต้องจอดรถในที่ๆผู้ขับรถอื่นจะเห็นได้ในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร

11.อย่าจอดรถใกล้ท่อน้ำดับเพลิง ป้ายจอดรถประจำทาง

12.อย่าจอดรถเพื่อซ่อมแซมหรือเปลี่ยนยางที่แตกกลางถนน จงรีบนำรถเข้าข้างทางโดยเร็วที่สุด เพื่อมิให้กีดขวางการจราจรของรถอื่น

ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใช้รถทุกประเภทจะร่วมกันตระหนักถึงอันตรายจากการจอดรถริมทางเสียที

ภาพเหตุการณ์บริเวณปากซอยกระทุ่มล้ม 24 ถนนพุทธมณฑล สาย 4  พริตตี้สาวหลับคาพวงมาลัยขับรถชนแรงงานพม่าสามคนกระเด็นมาตายบนฟุตปาธหนึ่ง แล้วไปชนพ่อค้าขายแตงโมบาทเจ็บอีกหนึ่ง รวมบาทเจ็บสี่ เสียชีวิตหนึ่ง คลิปจาก Panodrama