posttoday

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง

07 พฤศจิกายน 2559

"พวกเราต้องโตสักทีครับ รู้จักแก้ปัญหากันเองให้เป็น นี่คือสิ่งที่พ่อของเราอยากเห็น ประชาธิปไตยยุคต่อไปคือประชาธิปไตยยุคใหม่ที่เราจะต้องไม่ใช่เด็กๆ กันต่อไปแล้ว"

โดย...ฐายิกา จันทร์เทพ

อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ได้ให้ข้อมูลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในเรื่องบทบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย

อาจารย์ปริญญา ชี้ว่าเหตุการณ์ครั้งที่คนจดจำมากที่สุดมี 2 เหตุการณ์ เหตุการณ์แรกคือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม2516 ซึ่งความจริงเหตุการณ์นี้ไม่น่าจะต้องมีการสูญเสียเลือดเนื้อ เพราะนักศึกษาได้สลายตัวแล้วในตอนเช้าวันที่ 14ตุลาคม หลังจากรัฐบาลประกาศให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าตอนเดินกลับผ่านหน้าสวนจิตรลดา มีเจ้าหน้าตำรวจยืนขวางไว้ แล้วก็เอากระบองมาตีและปาแก๊สน้ำตาใส่นักศึกษา ทำให้เหตุการณ์ลุกลามขึ้นมา นักศึกษาจึงหนีเข้าไปในวังสวนจิตรลดา ในหลวงก็ทรงออกมาเยี่ยมนักศึกษา ตกเย็นวันนั้นจอมพล ถนอม กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการโปรดเกล้าแต่งตั้ง อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้น ให้เป็นนายกรัฐมนตรี

"ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียก อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ว่าเป็น นายกฯ พระราชทาน จนในเวลาต่อมาเกิดเป็นความเข้าใจกันไปว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองถึงขั้นวิกฤต ก็จะทรงมีพระราชอำนาจที่จะแก้วิกฤตด้วยการพระราชทานนายกรัฐมนตรีได้"

อาจารย์ปริญญากล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่ 2 คือเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ในตอนนั้นเทคโนโลยีการสื่อสารเชื่อมต่อกันทั่วโลกแล้ว บทบาทในหลวงในเหตุการณ์นี้จึงเป็นเรื่องที่เป็นข่าวไปทั่วโลก "หลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรงในวันที่ 17 พฤษภาคม วันที่ 20 พฤษภาคม ในหลวงได้ทรงเชิญให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายคือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายรัฐบาล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วง และทรงพระราชทานกระแสพระราชดำรัสว่า ..

'.. ขอให้สองท่าน หันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากันเพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วใครจะชนะ ไม่มีทาง มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติ ประชาชน แล้วจะมีประโยชน์อะไร ที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง ..  ฉะนั้น จึงขอให้ทั้งสองท่าน หันหน้าเข้าหากัน ให้ช่วยแก้ปัญหาปัจจุบันคือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยได้กลับคืนมาด้วยดี ..'

"จากนั้นราวกับปาฎิหารย์ เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยุติลงทันที หลังจากนั้น 3 วัน พล.อ.สุจินดา ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แล้วพรรคร่วมรัฐบาลที่สนับสนุนพลเอกสุจินดา ก็เลือก พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ สถานการณ์ก็ทำท่าจะปะทุขึ้นมาอีก ในตอนนั้นดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นผู้นำชื่อขึ้นทูลเกล้า ปรากฏว่าตอนโปรดเกล้าชื่อนายกฯ กลายเป็นนายอานันท์ ปันยารชุน ก็เลยทำให้เข้าใจไปทางที่ว่านายอานันท์ เป็นนายกฯ พระราชทานไปอีกคน .."

อาจารย์ปริญญา ชี้ว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ กลายเป็นโมเดลในการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2549 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ ทักษิณ ชินวัตร ลาออก เมื่อนายกฯ ทักษิณ ไม่ลาออก พันธมิตรฯ ก็ไปถวายฎีกาขอนายกฯ พระราชทาน โดยให้เหตุผลว่า ทรงมีพระราชอำนาจที่จะทำได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติไว้เหมือนกันทั้งในรัฐธรรมนูญ 2540และรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า

'มาตรา 7 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข'

"พันธมิตรฯ เห็นว่า นายกฯ พระราชทานเป็น 'ประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข' เมื่อมีวิกฤต ซึ่งท่านเคยใช้อำนาจนี้มาแล้วตอนตั้งอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วท่านก็ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ว่า ..

'ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ไปอ้างมาตรา 7 เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มีสองบรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณี หรือตามที่เคยทำมา ไม่มี ขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษ - มั่ว ..

'ขอยืนยันว่ามาตรา 7 ไม่ได้หมายถึงมอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย .. ก็อ้างถึงก่อนนี้ เมื่อรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่มีทำเกินอำนาจของพระมหากษัตริย์ นายกพระราชทานหมายความว่าตั้งนายกฯ โดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย ตอนนั้นมีกฎเกณฑ์ อาจารย์สัญญา ได้รับตั้งเป็นนายกฯ มีคนรับสนองพระบรมราชโองการคือนองประธานสภานิติบัญญัติ ดังนั้น ไปทบทวนประวัติศาสตร์มาใหม่ ..'

"ผมเห็นว่า นี่เป็นพระราชดำรัสที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้เราเห็นได้ว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเข้าใจเป็นอย่างดีว่า หลักการของ 'ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข' คืออะไร ซึ่งก็คือพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่อาจทำอะไรตามชอบใจได้ แล้วที่สำคัญคือตอนนั้น จอมพลถนอมลาออกแล้ว แล้วรองประธานสภานิติบัญญัติที่ปฏิบัติราชการแทนประธานสภาก็ได้ทูลเกล้าชื่ออาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้เป็นนายกแทน ท่านก็ทรงโปรดเกล้าลงมา"

อาจารย์ปริญญากล่าวต่อว่า "ท่านมีพระราชดำรัสชัดขนาดนี้ ในปี 2557 ก็ยังมีคนไปขอนายกฯ พระราชทานจากท่านโดยอ้างมาตรา 7 อีก พอมีการยกพระราชดำรัสอันนี้ให้ดู ก็ยังแย้งอีกว่าสถานการณ์ไม่เหมือนกัน ผมว่าท่านทรงเข้าใจเป็นอย่างดีครับ ว่าบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยคืออะไร แต่คนที่ไม่เข้าใจ คือพวกเราเองนี่แหละครับ ..

"เราไปสับสนกับระบอบราชาธิปไตย หรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมีความแตกต่างอย่างสำคัญคือ ถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตยพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จะทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในหลวงทรงเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดียิ่งว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ"

"ตอนนายอานันท์เป็นนายกในปี 2535 ก็เหมือนกัน ชื่อที่ ดร.อาทิตย์ ทูลเกล้าขึ้นไปคือชื่ออานันท์ ปันยารชุน นะครับ ไม่ใช่ทูลเกล้าชื่อพลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ แล้วท่านทรงขีดฆ่าเปลี่ยนเป็นชื่ออานันท์ ปันยารชุน เสียเมื่อไหร่ ดังนั้นคนรับผิดชอบคือคนทูลเกล้า ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนว่าเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็คือ ดร.อาทิตย์ ส่วนในข้อที่ว่าทำไม ดร.อาทิตย์ ถึงเปลี่ยนชื่อเป็นนายอานันท์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เป็นความรับผิดชอบของ ดร.อาทิตย์"

อาจารย์ปริญญา ระบุว่า อันนี้คือ หลักการ 'The King Can Do No Wrong' หรือ 'พระมหากษัตริย์ไม่อาจทรงกระทำผิด' ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข "รัฐธรรมนูญมาตรา 3 บัญญัติว่า 'อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล' ถามว่าเจ้าของอำนาจคือประชาชน แต่ผู้ใช้คือพระมหากษัตริย์หมายความว่าอะไร หมายความอย่างนี้ครับ กฎหมายเราเรียกว่า 'พระราชบัญญัติ' หรือ 'บัญญัติ' ของ 'พระราชา' ก็ต้องให้พระราชาลงพระปรมาภิไธยจึงประกาศใช้ได้ นั่นคือการใช้อำนาจทางรัฐสภาครับ แต่ถามว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเขียนกฎหมายเองหรือไม่ ไม่ใช่ครับ รัฐสภาเป็นผู้ร่าง ถ้ากฎมายไม่ดีก็ต้องไปโทษคนร่างกฎหมายครับ ..

"แล้วการใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรีคืออะไร คือการที่นายกฯ และรัฐมนตรีมาจากการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครับ ถามต่อว่าถ้านายกฯ ใช้อำนาจในทางมิชอบ เราจะโทษพระมหากษัตริย์ ที่เป็นผู้โปรดเกล้าได้ไหมครับ ไม่ได้ครับต้องไปโทษคนเลือก ท่านไม่ใช่คนเลือกนายกฯ ท่านเพียงโปรดเกล้าลงมาตามที่มีผู้ทูลเกล้าขึ้นไป ..

"แล้วการใช้อำนาจทางศาลละครับ ผู้พิพากษาและตุลาการมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ครับ แต่ถามว่าท่านทรงเลือกผู้พิพากษาและตุลาการเองหรือเปล่า เปล่าครับ แล้วถ้าศาลตัดสินคดีไม่ดี ผู้พิพากษาและตุลาการเจ้าของคดีนั่นแหละคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งหมดนี้คือหลักที่ว่า 'พระมหากษัตริย์ไม่อาจทรงกระทำผิด' เพราะคนผิดคือเจ้าของเรื่องและคนทูลเกล้า หลักนี้ทำให้ทรงอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองครับ"

อาจารย์ปริญญาชี้ว่า กรณีนายกฯ ทักษิณ และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ นั้น ไม่เหมือนในปี 2516 และ 2535 "เพราะทั้งคู่ไม่ได้ลาออก ตำแหน่งนายกฯ ไม่ได้ว่างลง แล้วก็ไม่มีการทูลเกล้าชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แล้วท่านจะทรงโปรดเกล้ามาได้อย่างไร พวกเราชอบไปเรียกร้องให้พระองค์ท่านทำในสิ่งที่ท่านทำไม่ได้ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นแบบ Passive ครับ เมื่อมีคนทูลเกล้าฯ จึงจะทรงโปรดเกล้าฯ ลงมา ไม่ใช่ลักษณะActive แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระองค์ท่านจะทรงโปรดเกล้าลงมาเองได้"

นอกจากนี้อาจารย์ปริญญา ยังได้ยกกรณีของการถวายฎีกาขออภัยโทษ ให้ ทักษิณ ชินวัตร "ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ว่า คนที่มีอำนาจหน้าที่ในการทูลเกล้าฯ ให้พระราชทานอภัยโทษคือ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมครับ ดังนั้นคนเสื้อแดงต้องไปเรียกร้องกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไม่ใช่เรียกร้องกับในหลวงครับ"

อาจารย์ปริญญาสรุปว่า “ที่ผ่านมาพอกันทั้ง 2 ข้าง  ไม่ต่างอะไรกับเด็กที่ยังไม่โต ทะเลาะกับพี่น้องแล้วสู้ไม่ได้ ก็ไปเรียกร้องให้พ่อมาเข้าข้างตัวเอง แล้วพ่อของเราก็ยุติการทะเลาะกันของเรามาหลายต่อหลายครั้ง "ตอนนี้ลูกๆ ยังทะเลาะกันอยู่ แต่พ่อของเราไม่อยู่แล้ว ถามว่าคนไทยจะทำอย่างไรกันต่อไปไม่มีในหลวงมาคอยแก้ความขัดแย้งให้แล้ว มีทางเดียวคือ พวกเราต้องโตสักทีครับ รู้จักแก้ปัญหากันเองให้เป็น นี่คือสิ่งที่พ่อของเราอยากเห็น ประชาธิปไตยยุคต่อไปคือประชาธิปไตยยุคใหม่ที่เราจะต้องไม่ใช่เด็กๆ กันต่อไปแล้ว ไม่ใช่ทะเลาะกัน หรือสร้างปัญหากันขึ้นมา แล้วให้พระมหากษัตริย์มาแก้ปัญหาให้อย่างที่ผ่านมาครับ”